เอเปค SOM2 ปูระบบฟื้นเดินทาง แก้วิกฤติพลังงานผลรัสเซีย-ยูเครน

เอเปค SOM2 ปูระบบฟื้นเดินทาง แก้วิกฤติพลังงานผลรัสเซีย-ยูเครน

ไทยจัดประชุมเอเปคซอม ครั้งที่ 2 ผลักดันแชร์ระบบฐานข้อมูลเดินทาง และใบรับรองวัคซีนโควิด-19 ใน 21 เขตเศรษฐกิจ ฟื้นเดินทางประชาชน ยกระดับเอเปคการ์ดครอบคลุมนักธุรกิจทุกระดับ ทั้งถกแนวทางช่วยเหลือวิกฤตการณ์อาหาร พลังงาน และห่วงโซ่การผลิตเป็นผลจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 เมื่อเวลา 13.00 น. นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศและประธานเจ้าหน้าที่อาวุโสเอเปค ทำหน้าที่ประธานการประชุมได้แถลงผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค ปี2565 ครั้งที่ 2 ที่โรงแรมแชงกรีล่า ว่า การนำทาง 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหลังการระบาดใหญ่ครั้งนี้ ถือเป็นความท้าทายที่เผชิญร่วมกัน ซึ่งรวมถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น ราคาพลังงานที่สูง อัตราเงินเฟ้อ และห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ซึ่งทำอย่างไรให้เอเปคตอบโจทย์ และช่วยเหลือทุกเขตเศรษฐกิจได้รับมือกับสิ่งเหล่านี้

*ปูระบบแชร์ข้อมูลฟื้นเดินทาง หลังโควิด-19

การประชุมครั้งนี้ได้ทบทวนการทำงานใน 3 เสาหลัก ที่ไทยผลักดันภายใต้หัวข้อหลัก “Open. Connect. Balance.” เพื่อมุ่งมั่นเชื่อมโยงการเดินทาง ทั้งการจัดทำพอร์ทัล (APEC Information Portal for Safe Passage Across the Region) และเร่งพิจารณาฐานข้อมูล และมอบกุญแจดิจิทัล (Public key infrastructure) ให้แต่ละเขตเศรษฐกิจเชื่อมโยงกัน

ในการเปิดเขตเศรษฐกิจ หลังจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้มีมาตรการข้อจำกัดการเดินทางมากมาย ตอนนี้เริ่มคลี่คลาย และเปิดโอกาสให้เดินทางมากขึ้น ดังนั้นเอเปคจะอำนวยความสะดวกให้การเดินทางของประชาชน และการขนส่งสินค้าทำได้มากขึ้น เช่น ทำอย่างไรให้ใบรับรองการฉีดวัคซีนเป็นที่ยอมรับในทุกเขตเศรษฐกิจ 

ที่ประชุมได้คุยกันว่าจะแลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคเกี่ยวกับใบรับรองการฉีดวัคซีน ไม่เฉพาะปัจจุบันแต่ต้องเตรียมการในอนาคตด้วย แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายบ้างแล้ว แต่ในอนาคตคาดว่าจะยังมีโรคอื่น  ทำให้เอเปคต้องมีระบบเพื่อรองรับไว้ 

"ขณะนี้เขตเศรษฐกิจก็ต่างมีมาตรการมากมาย อาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสน ถ้าเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ดังนั้นระบบแบ่งปันข้อมูลนี้จะช่วยแนะนำแนวทางการปฏิบัติ ทั้งข้อมูลการฉีดวัคซีน การกักตัว และข้อมูลการตรวจโควิด" นายธานี กล่าว สิ่งนี้เอเปคมีความพยายามจัดตั้งเป็นแพลตฟอร์มเพื่อรวบรวมข้อมูลในทุกเขตเศรษฐกิจที่อัปเดตใหม่ทุกวัน ให้ทุกคนใช้และอ้างอิงได้สำหรับการเดินทาง

*ไทย ดัน APEC Card ครอบคลุมทุกธุรกิจ

นอกจากนี้ เรายังผลักดันให้ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายธุรกิจในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงข้อเสนอของประเทศไทยเกี่ยวกับ APEC Business Traveller Card เพื่อให้อำนวยความสะดวกมากขึ้น และครอบคลุมธุรกิจในวงกว้าง เช่น SMEs และ Start-Ups

ส่วนการเอื้ออำนวยความสะดวกการค้า การประชุมเอเปคซอม ครั้งที่ 2 มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในการปูทางไปสู่การประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องที่ไทยพยายามผลักดันให้นำประเด็นจัดตั้งเป็นเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก(Free Trade Area of the Asia-Pacific: FTAAP) ที่เคยพูดถึงก่อนหน้านี้ได้หารือให้เกิดคืบหน้า ขณะที่ทางภาคเอกชนอยากให้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม และรายงานต่อการประชุมระดับผู้นำเอเปคในเดือนพ.ย.  เพราะสถานการณ์โลกในปัจจุบันก็มีประเด็นใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปและส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม 

"ที่สำคัญในการประชุมเอเปค ซอม ครั้งที่ 2 ทุกเขตเศรษฐกิจเห็นพ้องกันว่า เอเปคต้องมีการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปยังที่ประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (the Twelfth Ministerial Conference: MC12) ในเดือนหน้า เพราะอยากเห็นระบบการค้าพหุภาคีเดินหน้าต่อไป เพื่อช่วยให้ทุกเขตเศรษฐกิจได้ฟื้นตัวเร็วขึ้นจากวิกฤติที่ประสบอยู่ ซึ่งรัฐมนตรีการค้าเอเปคจะหารือระหว่างกันในวันที่ 21 - 22 พ.ค.นี้ เพื่อกำหนดท่าทีต่อที่ประชุม MC12 ต่อไป" นายธานี ระบุ

*ร่างเอกสาร Bangkok Goal แก้โลกร้อน-พลังงาน

เอเปคปีนี้ ประเทศไทยได้ชูแนวคิด BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ทุกเขตเศรษฐกิจขานรับดีมาก เพราะเห็นว่า สอดรับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศและเป็นโจทย์ต้องร่วมกันแก้ไข ซึ่งการประชุมเอเปคซัมมิทในปลายปีนี้ ทางผู้นำ 21 เขตเศรษฐกิจจะรับรองเอกสาร Bangkok Goal ว่าด้วยเรื่อง BCG ในการนำกิจกรรมต่างๆ ที่เอเปคทำอยู่แล้วมาพิจารณากำหนดนโยบายแต่ละเขตเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และทุกคนมีส่วนร่วม 

"สิ่งสำคัญ เขตเศรษฐกิจแต่ละแห่งอยู่ในระดับการพัฒนาต่างกัน ซึ่งเขตเศรษฐกิจที่มีระดับการพัฒนาสูงกว่าจะช่วยเขตเศรษฐกิจอื่นๆ ทั้งการแบ่งปันข้อมูลเทคโนโลยี ความสามารถในการบริหารจัดการเพื่อใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พลังงานทดแทนหลากหลาย และส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและทุกคนมีส่วนร่วม ทั้งหมดนี้สอดคล้องกับแนวทาง BCG ของไทย" นายธานี กล่าว และเสริมว่า เอกสาร Bangkok Goal อยู่ระหว่างการยกร่างให้ทันผู้นำรับรองในปลายปีนี้

การประชุมเอเปค ซอม ครั้ง 2 เห็นชอบข้อริเริ่ม 2 เรื่องได้แก่ แนวทางการขนส่งสินค้าที่ใช้ควบคุมโควิด-19 และคำนิยามในเรื่องการบริการด้านโลจิสติกส์ที่อำนวยความสะดวกในการปรับปรุงวัคซีนและเวชภัณฑ์ข้ามพรมแดน

*ถกวิกฤติพลังงาน ผลพวงสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เมื่อถามว่าได้มีการหารือเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ราคาพลังงานและอาหารโลก ที่เป็นกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือไม่ นายธานี กล่าวว่า เรื่องนี้ได้หยิบภาพรวมขึ้นหารือในที่ประชุมเอเปค ซอม ครั้งที่ 2 ซึ่งปัญหาราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นเป็นประเด็นที่ 21 เขตเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ และเป็นสิ่งที่ต้องช่วยกันให้ความสำคัญกับพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น โดยประเทศที่มี ทักษะและเทคโนโลยีก็แสดงความพร้อมเข้ามาช่วยเขตเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนารวมถึงไทย เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยรายละเอียดเรื่องนี้จะหารือในคณะทำงานด้านพลังงาน (Energy working group) 

“ในระยะที่ผ่านมา ทุกเขตเศรษฐกิจต่างประสบปัญหาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ และราคาอาหาร ซึ่งที่ประชุมได้หารือว่า เราจะทำอย่างไร จะส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ล้วนสอดคล้องกับบริบท BCG ที่เป็นเครื่องมือสำคัญให้ใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น” นายธานี กล่าว

ส่วนการเชิญผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเพื่อเข้าร่วมเอเปคซัมมิต ในปลายปีนี้ ทางกระทรวงการต่างประเทศจะเริ่มส่งหนังสือเชิญในช่วงเดือนมิ.ย. - ก.ค. เพื่อยืนยันหัวข้อการประชุมและสถานที่ โดยระหว่างนี้จะพอได้ทราบผู้นำที่จะมาเข้าร่วม

อย่างไรก็ตาม การประชุมอาวุโสเอเปค ครั้งที่ 3 จะจัดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2565 ที่จ.เชียงใหม่ ก็เพื่อเตรียมการประชุมในระดับผู้นำในช่วงกลางเดือนพ.ย.นี้