“สหรัฐ”ร่วมเวทีเอเปคถกความมั่งคั่งเศรษฐกิจภูมิภาค

“สหรัฐ”ร่วมเวทีเอเปคถกความมั่งคั่งเศรษฐกิจภูมิภาค

สหรัฐตอบรับเข้าร่วมประชุมรมต.การค้าเอเปค ร่วมมือสมาชิกถกแนวทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ด้านสรท.ชี้เป็นโอกาสต่อเนื่องขยายการลงทุน การค้า หลังปิดดีลอาร์เซ็ป

ปีนี้ไทยมีอีเว้นท์ใหญ่คือการเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ที่มีสมาชิกถึง 21 เศรษฐกิจ เวทีเอเปคปีนี้เป็นห่วงเวลาแห่งความท้าทายทั้งจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังเผชิญปัญหาโรคโควิด-19ระบาดทั่วโลก และปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้เอเปคเป็นกิจกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อทางเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐในฐานะผู้ริเริ่มความร่วมมือนี้และสมาชิกอื่นๆต้องให้ความสำคัญ

เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ หรือ USTR ได้เผยแพร่กำหนดการแคธรีน ไท่ ผู้แทนการค้าสหรัฐ จะเดินทางเยือนไทยระหว่าง 19-22พ.ค. 2565เพื่อร่วมประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือ เอเปค ระดับรัฐมนตรีการค้า

โดยแคธรีน ไท่ จะประชุมทั้งรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคีกับบรรดารัฐมนตรีการค้าของเอเปคและหารือแลกเปลี่ยนความเห็นในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่บรรดาแรงงานในสหรัฐและในประเทศต่างๆทั่วภูมิภาค

“สหรัฐ”ร่วมเวทีเอเปคถกความมั่งคั่งเศรษฐกิจภูมิภาค

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า วาระการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค (APEC Ministers Responsible for Trade Meeting 2022: MRT) ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่างวันที่ 19 – 22 พ.ค.นี้ มีจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานการประชุมซึ่งรัฐมนตรีการค้าจากเขตเศรษฐกิจเอเปค จะเดินทางมาเข้าร่วมประชุมเป็นครั้งแรกนับจากมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาทิ สหรัฐ รัสเซีย แคนาดา เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน และเวียดนาม ยกเว้นจีนที่เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์

สำหรับการประชุม MRT จะร่วมกันผลักดันและกำหนดทิศทางความร่วมมือในการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจการค้าของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก อาทิ การสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีที่ยึดถือกฎเกณฑ์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) การหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับผู้แทนสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค (APEC Business Advisory Council: ABAC) เรื่องการขับเคลื่อนแผนงานการจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTA-AP) ในช่วงโควิด-19 และอนาคต

“การใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งเอเปคเป็นเวทีที่เน้นการเปิดเสรีทางการค้าและการลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งผลลัพธ์ของการประชุมเอเปคจะช่วยวางแนวทางฟื้นฟูและกระตุ้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยภายหลังยุคโควิดอย่างยั่งยืน และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

จุรินทร์ กล่าวว่า การประชุมMRT ประกอบด้วย 3 วาระสำคัญ ได้แก่ การหารือระหว่างผู้แทนABAC และรัฐมนตรีการค้าเอเปค ในเรื่องแผนงานการขับเคลื่อนเอเปคสู่ FTAAP ที่จะเกิดขึ้นหลังจากโควิด-19ต่อด้วยช่วงบ่ายจะเป็นการรับทราบความคาดหวังต่อการประชุมรัฐมนตรีWTOสมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-15 มิ.ย. 2565 ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

ส่วนการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคจะหารือเรื่องการรับมือและดำเนินชีวิตเพื่ออยู่ร่วมกับโควิด-19 การมองไปข้างหน้า โดยใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งทั้ง 3 วาระการประชุมจะสะท้อนหัวข้อหลักในการเป็นเจ้าภาพของไทย “Open. Connect. Balance.”

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.) กล่าวว่า การประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพถือเป็นโอกาสที่ดีของไทยในการที่จะเปิดตลาดการค้าใหม่ ขยายการลงทุน มากขึ้นหลังจากที่ปิดดีลความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป) ไปแล้ว

ครั้งนี้ก็เป็นการประชุมของเอเปค 21 เขตเศรษฐกิจภายใต้หัวข้อ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในเรื่องของการนำเข้าและส่งออก ทั้งของกลุ่มประเทศอาเซียนและสมาชิกเอเปค 

นอกจากนี้ ในเรื่องของกฎระเบียบทางการค้าที่เป็นอุปสรรคจะต้องมีการแก้ไขเพื่อลดอุปสรรคทางการค้า ซึ่งขณะนี้เอเปคเองก็ต้องการขยายตลาดไปยังประเทศไม่ใช่สมาชิก ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย ลาตินอเมริกา อเมริกาเหนือ สิ่งที่สำคัญคือการขนส่งที่ต้องมีประสิทธิภาพ และค่าขนส่งต้องเหมาะสม รวมทั้งจะต้องมีการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งไม่ว่าจะเป็นเรือ อากาศ บกต้องมีการเชื่อมต่อกัน

ปัจจุบันระเบียบกฏเกณฑ์ทางการค้าโลกมีมากขึ้นทั้งเป็นเรื่องของมาตรการภาษีและไม่ใช่ภาษี อยากเห็นถึงความเชื่อมโยงของสมาชิกเอเปคในการลดอุปสรรคเหล่านี้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายหรือหัวข้อที่วางไว้ในการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค รวมทั้งการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันทั้งการนำเข้าและส่งออกของกลุ่มประเทศสมาชิกเอเปค และกระบวนการระบบศุลกากรที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ต้องเชื่อมต่อกันแบบไร้พรมแดนก็จะทำการค้าระหว่างกลุ่มเอเปคลื่นไหลมากขึ้น นอกจากนี้จะต้องมีแนวทางเพิ่มศักยภาพผู้ส่งออก นำเข้า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชน

เอเปคถือเป็นโอกาสในการขยายตลาดการค้าใหม่ เป็นลู่ทางการแหล่งวัตถุดิบใหม่ๆเช่นกัน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพซัพพลายเชนในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ภายหลังที่สามารถปิดดีลอาร์เซ็ปไปแล้วต่อมาก็เอเปคถือเป็นเส้นทางต่อเนื่องในเรื่องของนโยบายการค้าที่จะเป็นเครื่องมือในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและยั่งยืน”

แม้การประชุมครั้งนี้จะว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจที่เป็นจุดเริ่มต้นการก่อเกิดเอเปคขึ้น ผ่านการเลี่ยงใช้ลักษณะนามสมาชิกว่า“ประเทศ”แต่ใช้เป็นคำว่า“เศรษฐกิจ”แทน แต่ท่ามกลางความท้าทายของการเมืองและเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้ชื่อชั้น “กรุงเทพ”จะเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกที่อย่างน้อยที่สุดก็เป็นอีเว้นท์ที่ทุกฝ่ายที่มีเบื้องลึกเบื้องหลังความขัดแย้งกันจะมีนั่งลงพูดคุยกันเพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนร่วมกัน