“จุรินทร์”ใช้เวทีรมต.การค้าเอเปคดึงสมาชิกเคาะข้อสรุปทำ FTAAP

“จุรินทร์”ใช้เวทีรมต.การค้าเอเปคดึงสมาชิกเคาะข้อสรุปทำ FTAAP

“จุรินทร์”เปิดการสัมมนา จัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก ของ 21 เขตเศรษฐกิจ ตั้งเป้าสำเร็จปี 2040 เผยจะเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มูลค่าการค้าเพิ่ม 200-400% เผยพร้อมเจรจาให้ได้ข้อตกลงร่วมกันให้มากสุด

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการเปิดการสัมมนาการขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ในช่วงโควิด-19 และอนาคต (Symposium on FTAAP in the post-COVID-19) ที่โรงแรม เซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า หัวข้อการเสวนาวันนี้ คือ การขับเคลื่อนการจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) เป็น FTA ของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) เป้าหมายสำคัญเพื่อให้ทุกภาคส่วน ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการหรือนักธุรกิจ ประชาชนทั่วไป เกิดความเข้าใจ และรวมพลังขับเคลื่อนจากความร่วมมือทางเศรษฐกิจของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก 21 เขตเศรษฐกิจ ไปเป็น FTAAP ในอนาคต ซึ่งตั้งเป้าหมายไว้ในปี 2040

“หากสำเร็จจะกลายเป็น FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก เพราะมีประชากรรวมกันถึง 2,900 ล้านคน คิดเป็น 38% ของประชากรโลก และจะมี GDP คิดเป็น 62% ของ GDP โลก มีมูลค่าประมาณ 52 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 1,768 ล้านล้านบาท มูลค่าการค้าจาก 21 เขตเศรษฐกิจ มีมูลค่า 608 ล้านล้านบาท หรือ 18 ล้านล้านดอลลาร์”

โดยเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตนี้ จะได้รับประโยชน์โดยตรง อย่างน้อยภาษีจะเป็นศูนย์ระหว่างกัน เมื่อเป็น FTA กฎระเบียบการค้าจะเป็นกฎระเบียบเดียวกัน และจะมีการเปิดตลาดระหว่างกัน ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน หากเป็น FTAAP ในปี 2040 จริง คาดการณ์ว่ามูลค่าการค้าในกลุ่ม 21 เขตเศรษฐกิจ จะเพิ่มขึ้นประมาณ 200-400% สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเรามีมูลค่าการค้ากับ 21 เขตเศรษฐกิจ 12.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 385,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถ้าเป็น FTAAP ในปี 2040 จริง จะขยายตัว 200-400% เช่นเดียวกัน

สำหรับการสัมมนาในวันนี้ จะเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความรู้ ความเข้าใจ ระหว่างคนไทยและสมาชิกประชากรของกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกให้เกิดขึ้น ซึ่งจะมีการคุยกันหลายประเด็น เช่น การกำหนดสาระสำคัญที่ควรบรรจุไว้ใน FTAAP อีคอมเมิร์ซ การแข่งขันทางการค้า สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ ควรมีขอบเขตแค่ไหน อย่างไร ที่เป็นรูปธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันกับทุกฝ่ายทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก

นายจุรินทร์กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงว่า 20 ปีที่ผ่านมา FTAAP ยังขับเคลื่อนไปได้ไม่เร็วนัก ยังมีความล่าช้าอยู่ แม้ในปี 2020 ตอนที่มาเลเซียเป็นเจ้าภาพ จะมีการบรรจุเป้าหมาย FTAAP ไว้ในวิสัยทัศน์ปุตราจายา ของเอเปกว่าจะทำให้สำเร็จในปี 2040 ก็ตาม ปีนี้ 2022 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพต่อจากนิวซีแลนด์ ได้กำหนดธีมสำคัญในการประชุมเอเปกครั้งนี้ ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ 19-22 พ.ค.2565 และต่อด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำในช่วงเดือนพ.ย.2565 โดยประมาณ ประเทศไทยได้กำหนดธีมสำคัญของการประชุมไว้ 3 เป้าหมาย ประกอบด้วย “Open. Connect. Balance.” คือ การที่เราจะเปิดกว้างให้มีการเคลื่อนไหวทางการค้าการลงทุนระหว่างกันของกลุ่มเศรษฐกิจเอเปก การเชื่อมโยงทางการค้าการลงทุนทั้งภาคการผลิต ห่วงโซ่การผลิต การตลาดร่วมกันในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปก และสร้างสมดุลทั้งในสิ่งแวดล้อมและการค้าการลงทุนให้ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจได้ประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนั้นไทย มีนโยบายที่จะผลักดัน FTA ให้เกิดขึ้นอย่างเต็มกำลังความสามารถ คือเป้าหมายนอกจากเป็นทิศทางของเอเปกแล้ว ประเทศไทยประกาศให้ความสำคัญและประสงค์จะร่วมขับเคลื่อนกับกลุ่มเศรษฐกิจที่เหลืออย่างเต็มที่ให้เกิด FTA ให้ได้ในอนาคตอันรวดเร็ว ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างน้อยปี 2040

ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับประเทศต่าง ๆ รวม 18 ประเทศ 14 ฉบับ FTA ที่ใหญ่ที่สุดที่เพิ่งทำสำเร็จ คือ RCEP หรือความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ตนเป็นประธานที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้า RCEP จนประสบความสำเร็จ และออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าจะจัดตั้ง บัดนี้ RCEP เกิดขึ้นแล้ว คือ FTA ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน แต่ถ้ามี FTAAP เมื่อไร จะใหญ่กว่า RCEP ทุกเขตเศรษฐกิจจะได้ประโยชน์มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
         
ประเทศไทยมีเป้าหมายทำ FTA เพิ่มเติมนอกจากกับ 18 ประเทศ 14 ฉบับที่มีอยู่แล้ว เช่น FTA กับกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) ไทย-สหราชอาณาจักร ซึ่งตนจะเดินทางไปประชุม JTC (การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า หรือ Joint Trade Committee) กับประเทศอังกฤษในช่วงประมาณกลางเดือนมิ.ย.2565 และมีเป้าหมายที่จะทำ FTA กับกลุ่มประเทศเอฟตา (สมาคมการค้าเสรียุโรป) ประกอบด้วยไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ตนจะนำคณะเดินทางไปที่ไอซ์แลนด์ประมาณช่วงวันที่ 20 มิ.ย.2565 เพื่อพบกับรัฐมนตรีจาก 4 ประเทศ ประกาศนับหนึ่งในการเริ่มเจรจา FTA ระหว่างกัน และยังมีเป้าหมายทำ FTA กับอีกหลายประเทศรวมทั้ง FTAAP