เปิด'การเมืองเครือญาติ' ฝังรากลึกสังคมฟิลิปปินส์

เปิด'การเมืองเครือญาติ'  ฝังรากลึกสังคมฟิลิปปินส์

ประเทศยากจนอย่างฟิลิปปินส์ถูกปกครองด้วยตระกูลชนชั้นมานานแล้วพวกเขาครองอำนาจหลายชั่วอายุคนด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซื้อเสียง หรือใช้ความรุนแรง

 นักวิเคราะห์กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ระบบนี้แพร่กระจายไปมากขึ้นในช่วงหลายสิบปีนับตั้งแต่ประชาชนลุกฮือโค่นล้มมาร์กอสจนครอบครัวต้องลี้ภัยในต่างประเทศ

ตระกูลใหม่ๆ เริ่มรุกเข้ามาในแวดวงการเมือง ทำลายการแข่งขันในระบบเลือกตั้ง บั่นทอนการพัฒนาเศรษฐกิจ และความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลง

“อำนาจก่อให้เกิดอำนาจ ยิ่งอยู่ในอำนาจก็ยิ่งสั่งสมอำนาจ” จูลิโอ ทีฮันคี อาจารย์มหาวิทยาลัยเดอลาซาลในกรุงมะนิลากล่าวและว่า ประเทศหมู่เกาะแห่งนี้มี 319 สายตระกูลย้อนกลับไปตั้งแต่เมื่อเป็นอาณานิคมสหรัฐช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20

หลายสิบตระกูลซบเซาไป แต่ในปี 2562 สมาชิกของ 234 ตระกูลเป็นอย่างน้อยชนะการเลือกตั้งกลางเทอม

พวกเขาเฟื่องฟูในยุคประชาธิปไตยศักดินาฉ้อฉลที่พรรคการเมืองอ่อนแอ แตกแยกกันไปตามวงศ์วานว่านเครือและถูกแปรพักตร์

อย่างไรก็ตาม อำนาจไม่เสถียร ตระกูลอาจชนะและแพ้ได้แล้วก็กลับมาใหม่ หลังจากเผด็จการผู้ตกอับเสียชีวิตลงในปี 1989 (พ.ศ.2532) ตระกูลมาร์กอสก็กับสู่ถิ่นเก่า จังหวัดอิโลคอสนอร์เต" และเริ่มเจาะฐานเสียงเดิมเพื่อให้ได้รับเลือกตั้งสู่ตำแหน่งสูงขึ้น

เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ วัย 64 ปี ตอนนี้ใกล้เข้าสู่ชัยชนะสูงสุดของตระกูลนั่นคือตำแหน่งประธานาธิบดี อีกทั้งครอบครัวยังต้องการกวาดตำแหน่งสำคัญทางภาคเหนือด้วย

ตระกูลอิทธิพล

ตระกูลมาร์กอสเปิดการหาเสียงที่ลาวัก เมืองเอกของจังหวัด ผู้สมัครยืนรวมกันหน้าป้าย “ทีมมาร์กอส” ท่ามกลางเสียงเชียร์ของผู้สนับสนุนหลายพันคน ลูกชายคนโตของมาร์กอสจูเนียร์เพิ่งลงสมัครครั้งแรก ต้องการคว้าที่นั่ง ส.ส. หนึ่งในสองของจังหวัดที่ปลูกข้าวโพดและยาสูบเป็นหลัก ญาติเขาก็กำลังป้องกันตำแหน่งเช่นเดียวกัน

หลานชายมาร์กอสจูเนียร์ บุตรชายของพี่สาว “อีมี” ก็กำลังลงเลือกตั้งป้องกันตำแหน่งผู้ว่าราชการ ที่ภรรยาหม้ายของลูกพี่ลูกน้องกำลังเป็นรองผู้ว่าฯ อยู่ในขณะนี้

มาร์กอสจูเนียร์บอกกับเอเอฟพีว่า ครอบครัวเขาไม่ใช่ตระกูลอิทธิพล แต่ไมเคิลมาร์กอส คีออน ญาติของเขาที่กำลังลงเลือกตั้งเป็นนายกฯ ลาวักสมัยสอง ไม่เห็นด้วย

“นี่คือตระกูลอิทธิพลล้วนๆ ผมไม่มีวันมาอยู่ ณ จุดนี้ได้ถ้าไม่ใช่คนในตระกูลมาร์กอส” คีออน วัย 67 ปีกล่าว เขาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหลังจากมาร์กอสจูเนียร์ครบวาระสามสมัย นี่เป็นกลวิธีที่มักใช้เพื่อรักษาตำแหน่งไว้ในครอบครัว

ตระกูลการเมืองใหญ่

โรนัลด์ เมนโดซา คณบดีวิทยาลัยแห่งรัฐบาลอาเทนีโอในกรุงมะนิลากล่าวว่าความยืนหยัดในอำนาจของตระกูลมาร์กอสในจังหวัดอิโลคอสนอร์เต เป็นแบบฉบับของจังหวัดทั้งหลายทั่วฟิลิปปินส์ และอิทธิพลของพวกเขาเพิ่มขึ้นทุกขณะ

ผู้ว่าราชการจังหวัด 80% เป็นคนของ “ตระกูลใหญ่” มีสมาชิกอยู่ในอำนาจไม่น้อยกว่าสองคนในเวลาเดียวกัน เทียบกับปี 2547 สัดส่วนอยู่ที่ 57%

ครอบครัวการเมืองครองที่นั่ง ส.ส. 67% จาก 48% ในปี 2547 และ 53% ในตำแหน่งนายกเทศมนตรี เพิ่มขึ้นจาก 40% ในบรรดาผู้สมัครชั้นนำชิงตำแหน่ง ส.ว.12 ที่นั่งในรอบนี้ อย่างน้อยสามคนมีญาติเป็น ส.ว.อยู่แล้วหนึ่งคน

แม้แต่ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่ต้องการให้ประชาชนกลุ่มชายขอบมีที่นั่งในสภา ส่วนใหญ่เป็นคนไม่กี่นามสกุล

ประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เตเองก็ส่งลูกสาวลงชิงตำแหน่งรองประธานาธิบดี เมื่อเร็วๆ นี้เขากล่าวว่าทำงานสำเร็จแล้ว

“ผมมีลูกสาวลงเลือกตั้งรองประธานาธิบดี มีลูกชายเป็น ส.ส. อีกคนเป็นนายกเทศมนตรี ผมสมหวังแล้ว”

การเลือกตั้งรอบนี้ชิงชัยกันกว่า 18,000 ตำแหน่ง อย่างน้อย 800 ตำแหน่งมีผู้สมัครเพียงคนเดียว เมนโดซากล่าวว่า โควิด-19 ทำให้เจ้าของตำแหน่งมีโอกาสชนะเลือกตั้งมากกว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสี่ยงขายเสียงมากขึ้น หลายคนกังวลเรื่องการได้รับการคุ้มครองทางสังคมอย่างต่อเนื่อง

ไม่เพียงเท่านั้น ความยากจนยังมีแนวโน้มเพิ่มการขยายวงศ์ของตระกูลอิทธิพล โดยเฉพาะในจังหวัดที่ไม่ได้อยู่บนเกาะลูซอน ที่ระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจอ่อนแอ

การให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและใช้ความรุนแรงปิดปากหรือขจัดคู่แข่งเป็นปัญหาที่ดำรงอยู่ในการเลือกตั้งฟิลิปปินส์อย่างยาวนาน เมื่อผู้สมัครบางคนอาศัยวิธีการผิดกฎหมายให้ได้ชัยชนะ

ครอบครัวคือที่สุด

แม้ตระกูลการเมืองมีอยู่ในประเทศอื่นด้วย แต่นักวิเคราะห์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์มีมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก มาร์ค ทอมป์สันผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยฮ่องกงกล่าวว่า การเตรียมคนรุ่นใหม่เข้าสู่การเมืองเป็นเรื่องสำคัญมากเพื่อความอยู่รอดของวงศ์ตระกูล เขาเปรียบตระกูลเหมือนสโมสรฟุตบอล

“ถ้าคุณเป็นบาร์เซโลนาหรือปารีส แซ็ง แฌร์แม็งแห่งการเมืองฟิลิปปินส์ ทำไมไม่ฝึกคนรุ่นใหม่ไว้ล่ะ” ทอมป์สัน ให้ความเห็น

ส่วนความพยายามลดอิทธิพลครอบครัวเช่นนี้ไม่ได้ผล แม้รัฐธรรมนูญปี 1987 (พ.ศ.2530) บัญญัติไม่ให้พวกเขาเข้าสภา

“คุณอย่าหวังให้สภาที่เต็มไปด้วยตระกูลการเมืองออกกฎหมายห้ามตระกูลการเมือง เหมือนกับขอให้แดร็กคูลาดูแลธนาคารเลือดนั่นล่ะ” ทีฮันคีกล่าว ขณะที่คีออนยอมรับว่าระบบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย และไม่มีทีท่าจะเปลี่ยนแปลง

“การเมืองของที่นี่เป็นแบบนี้ ครอบครัวคือที่สุด” คีออนกล่าวในสำนักงาน รายล้อมไปด้วยภาพถ่ายของคนในตระกูลมาร์กอส รวมถึงหัวหน้าครอบครัว