'ราคาน้ำมันขาขึ้น'หนุนศก.ซาอุฯขยายตัวสูงสุดรอบ10ปี

'ราคาน้ำมันขาขึ้น'หนุนศก.ซาอุฯขยายตัวสูงสุดรอบ10ปี

ซาอุฯรายงานเศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุดในรอบ10ปี เมื่อวันอาทิตย์(1พ.ค.) อานิสงส์จากรายได้ของอุตสาหกรรมน้ำมันที่ช่วยกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวถึง 9.6% ในไตรมาสแรก เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564

   ซาอุดีอาระเบีย เผยตัวเลขประมาณการเบื้องต้นหลังจากปฏิเสธเสียงเรียกร้องจากสหรัฐที่ขอให้เพิ่มกำลังผลิตหวังควบคุมราคาน้ำมันที่พุ่งสูงนับตั้งแต่สงครามยูเครนเริ่มเปิดฉาก

 “ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) ที่แท้จริง ของซาอุดีอาระเบียขยายตัวมากที่สุดในรอบ 10 ปี” สำนักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีอาระเบียระบุในรายงานประมาณการเศรษฐกิจเบื้องต้นที่เผยแพร่ทางออนไลน์

 การเติบโตในอุตสาหกรรมน้ำมันของซาอุดีอาระเบีย แตะระดับ 20.4% ในไตรมาสแรกเมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ภาคอื่นๆที่ไม่ใช่น้ำมัน ขยายตัวเพียง 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี

แต่สำนักงานสถิติแห่งชาติซาอุดีอาระเบียเน้นย้ำว่าข้อมูลสำหรับไตรมาสแรกยังไม่สมบูรณ์และจะมีการทบทวนอีกครั้ง
 

ทั้งนี้ สงครามยูเครนและผลกระทบจากการทำสงครามของรัสเซียหนุนราคาน้ำมันดิบทะยานขึ้น กลายเป็นตัวสร้างประโยชน์แก่บรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลาย อย่างเช่นซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทางกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ประมาณการว่าจีดีพีจะขยายตัวประมาณ 7.6% ในปี 2565

ขณะที่สงครามในยูเครนยังคงลากยาวและไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงเมื่อใด ซาอุดีอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ก็เน้นย้ำพันธสัญญาของพวกเขาที่มีต่อพันธมิตรโอเปกพลัส ซึ่งนำโดยริยาดและมอสโก ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า ริยาดและอาบูดาบี กำลังปลีกตัวออกห่างจากพันธมิตรเก่าแก่อย่างสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเดือนที่แล้ว ฟิทช์ เรตติง สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก ประมาณการว่าซาอุดีอาระเบียจะเกินดุลงบประมาณในปี 2565 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2556

แต่ฟิทช์ ก็ระบุว่าแม้มีความพยายามสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ แต่เศรษฐกิจซาอุดีอาระเบียยังคงต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมน้ำมันในระดับสูง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของงบประมาณรายได้
 

ซาอุดีอาระเบียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาคตะวันออกกลางรองจากตุรกี มีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)อยู่ที่ประมาณ 700,000 ล้านดอลลาร์ ประชากรมีรายได้ต่อหัวที่ 46,700 ดอลลาร์ เป็นประเทศร่ำรวยเนื่องจากเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับ 1 ของโลก

แต่ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบียมุ่งมั่นดำเนินการตามแผนการปฏิรูป Vision 2030 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ภาคเอกชนมีส่วนในการเพิ่มจีดีพีประเทศจาก 40%0 เป็น 65% และ Vision 2030 ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจีดีพีการส่งออกของซาอุดีอาระเบียในภาคที่ไม่ใช่น้ำมันจาก 16% เพิ่มเป็น 50% และลดอัตราการว่างงานจาก 12% ให้เหลือ 7% ซึ่งบทบาทของการลงทุนในภาคเอกชนไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงแนวโน้มการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจในซาอุดีอาระเบียด้วย

เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.ปีที่แล้ว คณะรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบียภายใต้การปกครองของกษัตริย์ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อนุมัติงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2565 โดยมียอดรายจ่ายรวม 9.55 แสนล้านริยัล ยอดรวมรายรับราว 1.045 ล้านล้านริยัล และส่วนเกินดุลราว 9 หมื่นล้านริยัล

ด้าน“โมฮัมหมัด อัล-จาดาน” รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของซาอุดีอาระเบีย  กล่าวว่า นโยบายและกระบวนการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่รัฐบาลดำเนินการอย่างมีความรับผิดชอบ ทำให้สามารถควบคุมผลกระทบของโรคในด้านมนุษยธรรม การเงิน และเศรษฐกิจได้ ด้วยการสนับสนุนภาคบริการสุขภาพและภาคเอกชนอย่างแข็งแกร่ง

โดยที่ยังคงรักษาความยั่งยืนทางการคลังสำหรับระยะกลางและระยะยาวได้และสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อการทยอยฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นซึ่งแสดงการเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่

อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกล่าสุดคือเมื่อวันศุกร์ (29 เม.ย.)ปรับตัวร่วงลง โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดตลาด หลังการซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวนและหลังจากสัญญาปรับตัวขึ้น 3 วันติดต่อกันก่อนหน้านี้ โดยตลาดน้ำมันถูกกดดัน เนื่องจากนักลงทุนวิตกเกี่ยวกับแนวโน้มอุปสงค์น้ำมันที่อาจลดลง ท่ามกลางการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และการล็อกดาวน์ในประเทศจีน

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนมิ.ย. ลดลง 67 เซนต์ หรือ 0.6% ปิดที่ 104.69 ดอลลาร์/บาร์เรล และปรับตัวขึ้น 2.6% ในรอบสัปดาห์นี้

ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 1.75 ดอลลาร์ หรือ 1.6% ปิดที่ 109.34 ดอลลาร์/บาร์เรล และในรอบสัปดาห์นี้ปรับตัวขึ้น 2.5%