เหตุกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงเข้ามาในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย ยูเครน

เหตุกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงเข้ามาในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย ยูเครน

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) รายงานเหตุการณ์กรณีกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงเข้ามาในพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซาโปริเซีย (Zaporizhzhya) ประเทศยูเครน ไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย 

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ได้รับแจ้งจากหน่วยงานกำกับดูแลทางนิวเคลียร์ของประเทศยูเครน ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการแจ้งเหตุทางนิวเคลียร์โดยเร็ว ของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency, IAEA)   และจากการแถลงข่าวของ  IAEA  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2565 กระสุนปืนใหญ่จำนวนหนึ่งได้ถูกยิงเข้ามาในพื้นที่โรงไฟฟ้าซาโปริเซีย (Zaporizhzhya) ทำให้ระบบจ่ายไฟฟ้าภายนอกได้รับความเสียหาย แต่เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ปลอดภัย

เนื่องจากระบบป้องกันฉุกเฉินของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ได้ทำงานอัตโนมัติทันที รวมถึงได้ตัดการเชื่อมต่อระบบการจ่ายไฟฟ้าสู่ภายนอก นอกจากนี้ สถานีจ่ายไนโตรเจนและออกซิเจนซึ่งสนับสนุนการผลิตกระแสไฟฟ้า และอาคารสนับสนุนแห่งหนึ่งภายในโรงไฟฟ้าได้เกิดเพลิงไหม้และเกิดความเสียหาย

ซึ่งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงได้ควบคุมเพลิงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังต้องดำเนินการซ่อมแซมอย่างเร่งด่วนต่อไป นอกจากนี้กระสุนปืนใหญ่ยังถูกยิงเข้าไปใกล้พื้นที่จัดเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่พบความเสียหายต่อเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ไม่พบการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีในอากาศ และไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2565 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์จำนวน 2 หน่วยได้เดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าตามปกติ และระดับรังสีอยู่ในระดับปกติ

ซึ่งจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น IAEA ได้ประเมินผลกระทบเบื้องต้นสรุปว่า ระบบความปลอดภัย (Safety) และระบบความมั่นคงปลอดภัย (Security) ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซียยังมีเสถียรภาพ ไม่มีภัยคุกคามต่อความปลอดภัยทางนิวเคลียร์

เหตุกระสุนปืนใหญ่ถูกยิงเข้ามาในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ซาโปริเซีย ยูเครน

เหตุการณ์ดังกล่าวยังไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย  โดยปัจจุบัน ปส. ได้เฝ้าระวังภัยทางรังสีจากการเฝ้าตรวจระดับรังสีและกัมมันตภาพรังสีในอากาศของประเทศไทยและทวีปยุโรปอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปส. จะติดตามสถานการณ์ดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และจะแจ้งให้ทราบ หากมีสถานการณ์สำคัญเกิดขึ้นกับสถานประกอบการทางนิวเคลียร์ในประเทศยูเครน ทั้งนี้ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก IAEA ที่ www.iaea.org