กสทช.แจง ส่งกฤษฎีกาตีความ เหตุดีลทรูควบดีแทค 'ใหญ่เกินตัว’

กสทช.แจง ส่งกฤษฎีกาตีความ เหตุดีลทรูควบดีแทค 'ใหญ่เกินตัว’

กสทช.แจงประเด็นขอนายกฯ ช่วยสั่งกฤษฎีกาตีความอำนาจพิจารณาดีลทรูควบดีแทค เพราะถือเป็นองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือทางกฎหมาย ต้องอาศัยคำชี้แนะเพื่อประกอบการพิจารณา ชี้ดีลควบรวมธุรกิจใหญ่มาก มีผลกระทบหลายมิติต่อโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจ สังคม

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า หลังจากที่คณะกรรมการ (บอร์ด) สั่งให้สำนักงาน กสทช.ทำหนังสือด่วนที่สุดที่ สทช 2402/23454 ลงวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นข้อกฎหมาย เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กสทช. และสำนักงาน กสทช.ในกรณีเกี่ยวกับการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเช็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เพื่อให้การพิจารณาและดำเนินการเกี่ยวกับการรวมธุรกิจ เป็นไปโดยรอบคอบ และถูกต้องตามกฎหมายต่อนายกรัฐมนตรี

จึงขอความอนุเคราะห์ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาให้ความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายต่อกรณีนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา กสทช. ซึ่งจากการทำเรื่องส่งไปในครั้งที่แล้ว ทางกฤษฎีกามีหลักเกณฑ์กลับมาว่า เรื่องอยู่ในศาล

"ครั้งนี้ กสทช.จึงทำเรื่องเข้าไปให้พิจารณาอีกครั้ง ผ่านทางนายกรัฐมนตรี ส่วนท่านจะสั่งการหรือยังไม่แน่ใจ ซึ่งคาดหวังอำนาจจากนายกรัฐมนตรี สั่งการให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความให้ ถ้าท่านอนุเคราะห์ให้เราในการตีความ ก็จะขอบคุณมาก เราเป็นองค์กรอิสระก็จริง แต่ก็อยากฟังความเห็นของหลายๆ ฝ่าย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ หากท่านฯ ตีตกกลับมา ก็ไม่ได้กระทบกับเงื่อนเวลาในการพิจารณาของบอร์ดแน่นอน”

ดีลใหญ่อาจส่งผลกระทบวงกว้าง

ทั้งนี้ ในหนังสือฉบับดังกล่าว ที่ขอให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตีความอำนาจนั้น กสทช.อ้างว่า มีความจำเป็นที่จะต้องหารือต่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมาย ที่มีความสำคัญและส่งผลโดยตรงต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. และสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมเพื่อก่อให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขัน และการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืน เนื่องจากความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ

ประกอบกับการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคเป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านการโทรคมนาคมของประเทศ และการรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้บริโภค รวมไปถึงธุรกิจอื่น ๆ อีกหลายภาคส่วน ประกอบกับเป็นกรณีที่สังคมให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

เมื่อกรณีเกิดปัญหาในการแปลความและการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องนำผลการพิจารณาและความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายจากคณะกรรมการกฤษฎีกามาประกอบการพิจารณาโดยเร็ว เพื่อให้การดำเนินการทุกขั้นตอนเกี่ยวกับการรวมธุรกิจให้เป็นไปโดยรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมาย

และสอดรับกับระยะเวลาเร่งรัดที่ กสทช. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

จวกกสทช.องค์กรอิสระปลอม

อย่างไรก็ตาม ประเด็นดังกล่าว ส่งผลให้วานนี้ (29 ส.ค.) กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร เดินทางไปที่สำนักงาน กสทช.เพื่อยืนหนังสือร้องเรียนถึง ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช.และบอร์ดทั้งหมด จากกรณีที่ กสทช. ก็ได้ทำหนังสือนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช.ในการพิจารณาควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นรอบที่ 2 แสดงถึงเจตนา และความพยายามที่จะไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองในฐานะองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ โดยยินยอมให้ฝ่ายบริหารเข้ามามีบทบาทแทรกแซง ครอบงำการใช้อำนาจของ กสทช. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนนูญอย่างชัดเจน

ตัวแทนกลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสาร ระบุว่า กสทช. ในฐานะองค์กรอิสระ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 60 ต้องดูแลผลประโยชน์ของประชาชน ประเทศชาติ ผู้ประกอบการ มิใช่ดูแลผลประโยชน์ของผู้ประกอบการแต่เพียงอย่างเดียว และต้องไม่ถูกครอบงำจากอำนาจฝ่ายบริหาร จากการที่ กสทช. ได้มีการทำหนังสือไปหากฤษฎีกาเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 และ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบกลับ กสทช. มาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2565 ว่า ไม่สามารถรับข้อหารือไว้พิจารณาได้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล

ดังนั้น จึงไม่ควรที่จะส่งหนังสือถึง นายกรัฐมนตรี เพื่อให้กฤษฎีกาพิจารณาถึงอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในการพิจารณาการควบรวมธุรกิจเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 60 และส่งผลให้ นายกรัฐมนตรีเสื่อมเสีย และมีความเสี่ยงในการปฏิบัติขัดต่อกฎหมาย

จี้ กขค.อย่าหนีปัญหาต้องควบคุม

นอกจากนี้ กลุ่มพลเมืองเพื่อเสรีภาพในการสื่อสารได้เดินหน้าต่อไปยัง สำนักงานการแข่งขันทางการค้า หรือ กขค. เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานดังกล่าว พิจารณาการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค ซึ่งจะเป็นการควบรวมของบริษัทเอกชนทั้ง 2 บริษัท ประเทศแรกในโลก ที่มีการอนุญาตให้ควบรวมผู้ประกอบการรายใหญ่จาก 3 ราย เหลือ 2 ราย และการควบรวมธุรกิจดังกล่าวเป็นการผูกขาดตลาด ลดทางเลือกในการใช้บริการของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกด้านราคา ทางเลือกด้านบริการหลังการขาย และ ทางเลือกด้านคุณภาพการใช้บริการ

เนื่องจากก่อนหน้านี้ กขค. มีความเห็นว่า กสทช. มีกฎหมายเฉพาะ สามารถพิจารณาการควบรวมดังกล่าวเองได้ เห็นว่าถ้าเป็นเรื่องใบอนุญาตบริการ คลื่นความถี่ และเรื่องทางเทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องกำกับดูแล แต่ผลกระทบกับตลาดการแข่งขัน กขค. ย่อมไม่อาจปฏิเสธอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะต้องเข้ามาพิจารณาควบคู่กับไปกับการพิจารณา ของ กสทช.

ด้านนายมนยศ วรรธนะภูติ รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า กล่าวว่า เรื่องนี้คณะกรรมการก็ทราบดี และก็ดำเนินการตามขั้นตอนหลังจากที่ได้รับจดหมายร้องเรียน ซึ่งบอร์ดกำลังพิจารณาถึงการเข้าร่วมพิจารณาตัดสินการควบรวมธุรกิจของทรู ดีแทค เราไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบในหน้าที่ในการเข้ามาจัดการเรื่องนี้ เพราะนอกเหนือจากการควบรวมของธุรกิจโทรคมนาคมยังมีธุรกิจอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่อยู่ในสายการผลิตของกลุ่มนี้ด้วย โดยมีความกังวลเช่นเดียวกับที่กลุ่มพลเมืองได้มายื่นแจ้ง