เปิดรายงานอนุฯ กฎหมาย ย้ำ "กสทช." มีอำนาจตัดสินดีลทรู - ดีแทค

เปิดรายงานอนุฯ กฎหมาย ย้ำ "กสทช." มีอำนาจตัดสินดีลทรู - ดีแทค

ดูข้อกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องพิจารณาได้ว่าดีลควบรวมทรู - ดีแทค ถือเป็นการประกอบธุรกิจประเภทเดียวกัน กสทช. มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ แนะนำหลักการในกฎหมายพิจารณากำหนดมาตรการให้เสร็จภายใน 90 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายได้สรุปอำนาจในการพิจารณาการอนุญาตขอรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) โดยมีการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องนอกเหนือจากกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม ในส่วนของการรวมธุรกิจ (การถือครองในบริการประเภทเดียวกัน) และยังมีกฎหมายฉบับอื่น อาทิ ประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ 

พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535

พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ. 2545

    ซึ่งตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 ซึ่งบัญญัติให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช. ) เพื่อปฏิบัติหน้าที่ รับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ โดยจะต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป

    ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น เมื่อพิจารณามาตรา 60 ประกอบกับมาตรา 40 และมาตรา 75 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะเห็นได้ว่า กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมถึงมีหน้าที่กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไปด้วย 
 

ดังนั้น กสทช. จึงมีหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะต้องคุ้มครองเสรีภาพในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ให้เกิดการแข่งขันโดยเสรี และอย่างเป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงได้บัญญัติในมาตรา 27(11) ให้ กสทช.มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม

ในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อีกทั้งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาต และกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม 
    
    แม้เดิมจะบัญญัติให้การประกอบกิจการโทรคมนาคม จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้วก็ตามแต่ก็ยังบัญญัติให้ กสทช .มีอำนาจกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือ จำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคมในเรื่องที่กำหนดในมาตรา 21(1) ถึง (8) ซึ่งรวมถึงเรื่องการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ซึ่งต่อมาภายหลังพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 มาตรา 4(4) จะบัญญัติไม่ให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะกำกับดูแลในเรื่องการแข่งขันทางการค้า
 

โดยมี ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการด้านกฎหมายเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ด้วยคะแนนเสียงข้างมาก เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าทรู และดีแทค มีหนังสือแจ้งความประสงค์ที่จะรวมธุรกิจด้วยรูปแบบของการควบบริษัท (Amalgamation) ตามมาตรา 146 แห่งพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ.2535 และจะมีผลให้เกิดบริษัทมหาชนจำกัดใหม่ (NewCo) ที่ให้ไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบทั้งหมดของทรูและดีแทครวมถึงสัดส่วนผลประโยชน์การลงทุนในนิติบุคคลอื่นของทรู และดีแทคจะยังคงเป็นการลงทุนต่อไปภายใต้ NewCo

    ทั้งนี้ บริษัทย่อยของทรู และดีแทคจะยังคงอยู่เช่นเดิม ทั้งนี้ ดีแทคมีสถานะเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ประเภทบริการอินเทอร์เน็ต แบบ WiFi บริการ Colacation และ Dedicated server โดยมีบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เป็นบริษัทย่อย และเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 และแบบที่ 3 ดีแทคจึงเป็นผู้รับใบอนุญาตตามนัยข้อ 3 ของประกาศรวมธุรกิจ

    ในขณะที่ ทรูไม่ได้เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่มีบริษัทย่อยเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้แก่ บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 แบบที่ 2 และแบบที่ 3 บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์เซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1 และแบบที่ 3 และ บริษัท เค เฮส ซี คอมเมอร์เซียล อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 1 ทรูจึงมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจควบคุมผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 

    ดังนั้น การรวมธุรกิจของทรู และดีแทคดังกล่าวข้างตัน จึงเข้าลักษณะ "การรวมธุรกิจ" ตามนิยามในข้อ 3 ของประกาศปี กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ปี 2561 ซึ่งการรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทคจึงเข้าลักษณะของ "การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน" ด้วยบริการโทรคมนาคม เป็นบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และด้วยข้อจำกัดเกี่ยวกับปริมาณคลื่นความถี่ และการลงทุนในการประกอบกิจการที่ต้องใช้เงินทุนจำนวนมากตลาดหรืออุตสาหกรรมโทรคมนาคมจึงมีจำนวนผู้เล่นน้อยราย และทำให้มีลักษณะเป็นการกึ่งผูกขาดโดยธรรมชาติ การที่ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จะกระทำการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะโดยการควบรวมในลักษณะของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมควบรวมกันเอง(การควบรวมแนวระนาบ Horizental) การควบรวมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกับผู้ประกอบการรายในห่วงโซ่อุปทาน (การควบรวมแนวตั้ง Vertical) หรือแม้รวมกับผู้ประกอบการที่อยู่นอกเหนือ ตลาดโทรคมนาคม ย่อมที่จะส่งผลต่อการแข่งขันโทรคมนาคมในทางใดทางหนึ่งเสมอ 

    อีกทั้งยังอาจส่งผลต่อประชาชนผู้ใช้บริการด้วย ดังนั้น กสทช. จึงมีหน้าที่และความรับผิดตามกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 ประกอบมาตรา 40 และมาตรา 7 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 28 (11) และพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21และมาตรา 22 ที่จะต้องกำกับดูแลการกระทำดังกล่าว เพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรี และอย่างเป็นธรรมในตลาดโทรคมนาคม และประชาชนผู้ใช้บริการ

    โดยประกาศของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 12 ให้เลขาธิการ กสทช. รายงานต่อ กสทช. ภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระ หากการรวมธุรกิจตามข้อ 5 ส่งผลให้ตลาดปี 2549 ซึ่งยังมีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยกฎหมาย ข้อ 8 กำหนดให้การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันจะกระทำไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช, ก่อนและประกาศรวมธุรกิจปี 2561 ซึ่งกำหนดให้การรายงานการรวมธุรกิจ ถือเป็นการขออนุญาตการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศปี 2549 

    ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างทรู และดีแทคจึงอยู่ในอำนาจที่ กสทช. จะพิจารณาอนุญาต หรือไม่อนุญาต หรืออนุญาตอย่างมีเงื่อนไขเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่เป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมได้ ทั้งนี้ การกำหนดมาตรการดังกล่าวจะต้องเป็นไปเท่าที่จำเป็น มีความเหมาะสมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการป้องกันมิให้มีการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม

    กสทช.อาจนำหลักการในกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ามาประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการ โดย กสทช. ควรที่จะต้องพิจารณาการรายงานการรวมธุรกิจดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสมควร แต่ไม่เกิน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับการรายงานการรวมธุรกิจ และความเห็นของที่ปรึกษาอิสระจาก กสทช.


 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์