ความสำเร็จของ Netflix และกลยุทธ์ต่อไป | พสุ เดชะรินทร์

ความสำเร็จของ Netflix และกลยุทธ์ต่อไป | พสุ เดชะรินทร์

Netflix เป็นตัวอย่างที่ใช้เป็นกรณีศึกษาสำหรับสอนนิสิตเป็นประจำ นอกเหนือจะเป็นที่รู้จักคุ้นเคยดีแล้ว ยังเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีสีสันทางกลยุทธ์มากที่สุดแห่งหนึ่ง

จากจุดเริ่มต้นสู่การเผชิญกับความท้าทายต่างๆ และการเอาชนะอุปสรรคที่เผชิญ จนกระทั่งล่าสุดที่เพิ่งประกาศผลการดำเนินงานได้ออกมาอย่างสวยงาม และเกินความคาดหมายนักลงทุน

จุดเริ่มต้นของ Netflix ก็เหมือนสตาร์ตอัปที่เริ่มจาก Pain ที่พบเจอ นั้นคือเมื่อเช่าดีวีดีมักจะคืนช้าหรือลืมคืน ก็จะเสียค่าปรับ ทำให้ Reed Hasting เริ่มต้นด้วยการเช่าหนังที่ไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งก็เป็นที่มาของบิซิเนสโมเดลใหม่ที่เป็นระบบสมาชิก (Subscription) ที่เช่าและส่งดีวีดีทางไปรษณีย์

จากนั้น Netflix เติบโตมาเรื่อย สามารถ Disrupt ธุรกิจร้านเช่าดีวีดี จนทำให้บริษัทเช่าดีวีดีอันดับหนึ่งในโลกอย่าง Blockbuster ล้มหายไป

Netflix เองก็ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทำให้ต้องเปลี่ยนจากการเช่าแผ่นเป็นสตรีมมิง การขยายสู่ตลาดโลก การต่อรองของบรรดาสตูดิโอผลิตหนังที่สูงขึ้น หรือการเข้ามาของคู่แข่งขันยักษ์ใหญ่ในโลกธุรกิจ

ล่าสุด Netflix ก็พิสูจน์ถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ที่ผ่านมาและความเป็นอันดับ 1 เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 4 ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้อย่างมากมาย โดยเฉพาะการที่มีสมาชิกใหม่ได้เพิ่มขึ้นถึง 13.1 ล้านสมาชิก

ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกทั่วโลก 260.28 ล้านสมาชิก เพิ่มขึ้น 13% จากปีก่อน และส่งผลให้ราคาหุ้นของพุ่งจากระดับต่ำกว่า 500 ดอลลาร์เป็น 570 ดอลลาร์ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และทำให้มูลค่าบริษัทของ Netflix สูงกว่ามูลค่าของคู่แข่งที่อยู่ในวงการบันเทิง อย่าง Disney, Warner และ Paramount รวมกันเสียอีก

จำนวนสมาชิกใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาก สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของกลยุทธ์ 2 ประการที่ Netflix เลือกใช้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

กลยุทธ์แรก ก็คือการปรับโครงสร้างราคาใหม่และเพิ่มแพ็กเกจใหม่ เป็นแพ็กเกจราคาไม่แพงแต่มีโฆษณา ซึ่งยังมีอยู่เฉพาะในบางประเทศ ในไทยเองยังไม่มี โดยเมื่อเริ่มต้นมีแพ็กเกจโฆษณาในช่วงปลายปี 2565 นั้น ในช่วงแรกยังมีการเติบโตที่ช้า แต่ปัจจุบันกลับเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัท

ปัจจุบัน 40% ของสมาชิกใหม่จะสมัครด้วยแพ็กเกจที่มีโฆษณา และในสหรัฐ สมาชิกที่รับแพ็กเกจโฆษณานั้นก็คิดเป็น 9.42% ของสมาชิกทั้งหมดในสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าในไม่ช้า Netflix ก็จะขยายแพ็กเกจมีโฆษณาของตนเองให้กระจายไปยังประเทศอื่น

อีกกลยุทธ์ของ Netflix คือการตัดสินใจไม่ให้สมาชิกแชร์รหัสให้คนนอกบ้าน ซึ่งเริ่มใช้ในปีที่ผ่านมา และในช่วงแรกก็มีการโวยวายและต่อต้านกันในระดับหนึ่ง แต่ที่สุดก็พิสูจน์ออกมาแล้วว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง

ล่าสุด Netflix ก็ได้ประกาศกลยุทธ์ในการเติบโตต่อไป คือการจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในการสร้างความบันเทิงให้กับลูกค้า ทั้งการถ่ายทอดสด การมีเนื้อหาเกี่ยวกับกีฬามากขึ้น (Netflix เพิ่งลงนามกับค่ายมวยปล้ำระดับโลก WWE) และการมีเกมเพิ่มขึ้น และจะเร่งเพิ่มรายได้จากโฆษณาให้มากขึ้น

ขณะที่ Netflix ประสบความสำเร็จ บรรดาคู่แข่งอยู่ในวงการบันเทิงและเปิดแพลตฟอร์มสตรีมมิงตามกระแสนิยม อย่างเช่น Warner (คือ HBO หรือ Max ในบางประเทศ) หรือ Paramount (ภายใต้ชื่อ Paramount+) กลับไม่รุ่งเรืองเท่าไร ทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรงและผู้บริโภคที่เริ่มยกเลิกการบอกรับสมาชิกที่มากขึ้น

เริ่มเห็นปรากฏการณ์หวนกลับคืนสู่จอ Netflix อีกครั้งของหนังจากค่ายคู่แข่ง ที่ในอดีตถูกถอนออกไปเพื่อลงช่องสตรีมมิงของตนเอง ปัจจุบันค่ายหนังก็เริ่มไลเซนซ์หนังของตนเองผ่านทาง Netflix อีกครั้ง อย่างซีรีส์ชื่อดัง Six Feet Under ของ HBO ก็กลับเข้า Netflix หรือจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่อย่าง DC ของทางค่าย Warner ก็เข้า Netflix มากขึ้น

ต้องติดตามต่อไปว่ากลยุทธ์ใหม่ในการเติบโตจะประสบความสำเร็จแค่ไหน และในอนาคต Netflix จะเผชิญกับความท้าทายอะไรใหม่ๆ