5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

แคริว่า พาท่องโลกความล้ำการแพทย์กับ 5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์
ผู้ช่วยคนใหม่ของคุณหมอศิริราช พร้อมตั้งเป้าเป็น “ฮับ” เมดิคัลสตาร์ทอัพของไทย

ความซับซ้อนทางการแพทย์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เช่น ข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีแต่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่วินิจฉัยได้ การวิเคราะห์โรคที่ต้องใช้เวลาในการวิเคราะห์หลายครั้ง หลายขั้นตอน ฯลฯ

ปัจจุบันเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้ถูกคลี่คลาย ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยคุณหมอ

จากกระแสการใช้ AI เพื่อเสริมประสิทธิภาพการแพทย์ที่เพิ่มอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ บริษัท แคริว่า (CARIVA) ประเทศไทย จำกัด หรือแคริว่า ที่มีวิสัยทัศน์ ‘EMPOWER PEOPLE AND HEALTHCARE INDUSTRY’ ได้ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

นำความสามารถทางด้านเทคโนโลยี มาผสานกับข้อมูลและความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ เพื่อร่วมกันสร้างปัญญาประดิษฐ์ยกระดับการดูแลสุขภาพ การรักษาเฉพาะบุคคล และเพื่อให้ทุกคนได้เข้าใจความล้ำทางการรักษาในศิริราชที่มากขึ้น

วันนี้จะพาไปอินไซด์ไอเดีย “ทีมสตาร์ทอัพ” ที่อยู่เบื้องหลังการพัฒนาความชาญฉลาดเหล่านี้ ซึ่งต้องบอกว่าแต่ละเทคโนโลยีที่คิดค้นขึ้นนั้นล้วนมีความน่าสนใจ และทำให้ความมั่นใจที่จะมีต่อ AI ทางการแพทย์ นั้น เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

บริษัท แคริว่า (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้พัฒนา 5 โครงการ ดังนี้

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

1. SiCAR Ai Lab (ซิการ์ เอไอ แล็บ) ตัวช่วยสังเคราะห์ข้อมูลให้ AI จำแนกข้อมูลคนไทยได้แม่นยำ และเพียงพอ

ทศพร แสงจ้า และธนภัทร พิชญรัตน์ ทีมพัฒนา เล่าว่า เดิมทีการเก็บข้อมูลของผู้ป่วยจะมีหลายรูปแบบ เช่น เก็บเป็นข้อมูลรูปภาพ อย่างเช่นฟิล์มเอ็กซเรย์ ข้อมูลทางพันธุกรรมที่มีแต่ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้นที่อ่านค่าได้

ข้อมูลประเภทสัญญาณ หรือ Time Series อย่างเช่นการจับชีพจรหรืออ่านค่าน้ำตาลที่อยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ ข้อมูลการใช้ยาที่เป็นข้อมูลเฉพาะบุคคล ข้อมูลเหล่านี้ถ้าอยู่ในรูปแบบดั้งเดิมจะยากต่อการเข้าถึงและนำไปใช้ประโยชน์

ดังนั้นโครงการ SiCAR Ai Lab จึงคิดค้นหาแนวทางแก้ไขปัญหา โดยการนำความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมข้อมูลหรือ Data Engineering เข้ามาช่วยรวบรวมข้อมูลให้พร้อมต่อการใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวกต่อการนำไปใช้ประโยชน์

นอกจากนี้ยังมีการนำ Generative AI มาใช้ในการสร้างชุดข้อมูลเสมือนทางการแพทย์ (Synthetic Data) ซึ่งสร้างผ่านการจำลองจากข้อมูลจริง ไม่ใช้ข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ ช่วยลดปัญหาการละเมิดข้อมูลความเป็นส่วนตัวของแต่ละบุคคล ยกตัวอย่างเช่นการใช้ AI ทำภาพเอ็กซเรย์ขึ้นมาโดยไม่ใช่ภาพของผู้ป่วยจริง

สรุปง่ายๆ SiCAR Ai Lab จะเป็นเสมือนห้องทดลองสำหรับพัฒนาแพลตฟอร์มทดสอบและพัฒนาเเบบจำลองปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ (Medical Artificial Intelligence)

โดยนำฐานข้อมูลสุขภาพแบบนิรนาม ที่ศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช หรือ SiData+ มีอยู่แล้วมาช่วยในการปรับปรุงโมเดล AI ซึ่งจะช่วยให้สตาร์ทอัพไทยมีโอกาสพัฒนา AI ทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับการใช้งานในประเทศไทยมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมระบบนิเวศของ Medical AI ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

2. โครงการร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (Ai) ในการอ่านและวิเคราะห์ภาพทางการแพทย์ประเภทต่างๆ อาทิ ภาพ CT Scan เพื่อวัดปริมาตรอวัยวะ เเละเนื้องอก รวมถึง X-ray test recommendation by Ai

กฤตเมธ เธียรกานนท์ เปิดเผยว่า ทางแคริว่าได้ร่วมมือกับภาควิชารังสีวิทยา นำ AI มาร่วมกันพัฒนา 2 โมเดล โดยโมเดลแรก X-Ray/ CT test recommendation by Ai ซึ่งมีที่มาจากในแต่ละวัน แผนกรังสีวิทยามีคนไข้เข้ารับการตรวจกับรังสีแพทย์จำนวนมาก

โดยรังสีแพทย์จะต้องซักประวัติคนไข้ นำข้อมูลมากรอก และเลือกรูปแบบการเอกซเรย์ หรือ CT (Computerized Tomography) สำหรับคนไข้แต่ละราย เพื่อประกอบการวินิจฉัยและส่งตรวจ

ดังนั้น แคริว่า จึงร่วมมือกับภาควิชารังสีพัฒนา Ai และ Machine learning ที่จะช่วยเติมข้อความอัตโนมัติ โดยการใช้ข้อมูล อาทิ ประวัติการรักษาของคนไข้และช่วยแนะนำการเอกซเรย์หรือ CT Scan ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล

ปัจจุบันระบบต้นแบบสามารถแนะนำคนไข้ว่า ควรทำแสกนแบบไหนได้แม่นยำถึง 96% ซึ่งระบบนี้นอกจากจะช่วยให้แพทย์มีความสะดวกสบายในการกรอกข้อมูล ลดภาระงานทางด้านเอกสารแล้ว ยังเปรียบเสมือนผู้ช่วยของรังสีแพทย์ในการเลือกการตรวจที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำได้อีกด้วย

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

ส่วนอีกโมเดล คือ RAD Scan เป็น AI ที่ช่วยในการระบายสีภาพ X-ray/CT แบบแยกชิ้นส่วนให้เห็นอวัยวะที่แตกต่างกัน และแสดงผลออกมาในรูปแบบสามมิติ อีกทั้งยังช่วยคำนวณปริมาตรอวัยวะต่างๆ ได้โดยอัตโนมัติซึ่งจะช่วยวินิจฉัยโรคได้หลายอย่าง

เช่น ภาวะสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ (Sarcopenia) การตรวจภาวะกระดูกพรุน ซึ่งจะช่วยลดเวลาที่รังสีแพทย์ใช้ในการเตรียมภาพ (Label) และการคำนวณไปได้กว่าครึ่ง

แต่เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศ เมื่อนำมาใช้กับคนไข้ไทย การระบายสีจึงยังไม่ได้ผลที่แม่นยำมากนัก

เพื่อต่อยอดโมเดลต้นแบบที่ทางแคริว่าพัฒนาขึ้น จึงได้ร่วมมือกับภาควิชารังสี ในการปรับปรุงโมเดลโมเดลดังกล่าวให้เหมาะสมกับการใช้การคนไข้ไทย โดยคาดหวังว่าจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยให้รังสีแพทย์ทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำขึ้น ลดภาระงานของแพทย์ และนำไปสู่ผลลัพท์ของการประเมิน หรือการวินิจฉัยอาการของคนไข้ได้ดียิ่งขึ้น

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

3. Preceptor ผู้ช่วยคนสำคัญเพื่อเพิ่มคุณภาพการรักษา และช่วยลดปัญหาความเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์

ณัฐวัชร สัตย์อุดม กล่าวว่า โครงการ PreceptorAI เกิดมาจากคำว่า Preceptor ที่แปลว่า อาจารย์รวมกับคำว่า AI หรือปัญญาประดิษฐ์ โดยจะเป็นเหมือนสมองกลางที่นำเอาทุกข้อมูลมารวมกัน

ทำหน้าที่เปรียบเสมือนที่ปรึกษาและผู้ช่วยตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรักษา และช่วยลดปัญหาการเหนื่อยล้าของบุคลากรทางการแพทย์ ที่สามารถใช้งานได้ตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านแอปพลิเคชันไลน์ มีฟีเจอร์หลักในการใช้งาน 6 ฟีเจอร์

ประกอบด้วย ฟีเจอร์ฟรีสไตล์ที่สามารถถามคำถามทางการแพทย์ทั่วไปได้ การวินิจฉัยแยกโรค (Differential Diagnosis) โดยการป้อนอาการของผู้ป่วยเข้าไป เพื่อให้ AI ช่วยวินิจฉัยโรค ให้แนวทางการติดตามอาการ

พร้อมช่วยแนะนำแนวทางการรักษา สามารถถามตอบได้ทั้งภาษาอังกฤษและไทย โดยไม่สูญเสียความหมายทางการแพทย์ เทคโนโลยีวิเคราะห์ถาม – ตอบข้อสอบแพทย์

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

การนำฐานข้อมูลข้อสอบแพทย์มาผนวกเข้ากับ AI เพื่อช่วยหาคำตอบและคำอธิบายข้อที่ถูกต้อง ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากสำหรับนักศึกษาที่ต้องการเตรียมสอบหรือต้องการทบทวนความรู้

ซึ่ง PreceptorAI ที่พัฒนาขึ้นนี้มีความพิเศษตรงที่สามารถป้อนข้อมูลเข้าระบบได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบรูปภาพ ข้อความ และแบบเสียง เช่น ถ้าเป็นรูปภาพก็สามารถนำมาทำเป็น Medical Imaging ได้ โดยเชื่อมโยงเข้ากับ AI แล้ววิเคราะห์ออกมาเป็นคำอธิบายแบบข้อความ

นอกจากนี้ PreceptorAI ยังมีแผนที่จะปล่อยฟีเจอร์ใหม่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ คือ ฟังก์ชั่นไกด์ไลน์ โดยเป็นโหมดสำหรับการค้นหาแนวทางปฏิบัติทางเวชระเบียน (Medical guideline) ซึ่งจะอัพเดทข้อมูลให้ตรงกับแนวปฏิบัติของประเทศไทยให้ทันสมัยอยู่เสมอ

จุดเด่นคือการใช้งานที่ง่าย ได้ข้อมูลที่เป็นข้อสรุปออกมาแล้ว นอกจากนี้ กลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องก็สามารถนำ PreceptorAI มาช่วยได้ เช่น โรคเบาหวาน เพื่อช่วยเช็คประวัติคนไข้ ตรวจสอบผลแล็ป ให้คำแนะนำในการปรับยา และการดูแลสุขภาพได้

ยิ่งไปกว่านั้น ทาง PreceptorAI มีแผนที่จะเชื่อมต่อกับระบบของทางโรงพยาบาล โดยคาดหวังว่า PreceptorAI จะเป็นเสมือนผู้ช่วยตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจรักษา นำไปสู่ผลลัพธ์การรักษาที่ดียิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า AI แต่ละตัวที่สร้างขึ้นมา และ AI ที่กำลังจะสร้างขึ้นใหม่ หากนำมารวมกันจะสามารถช่วยให้แพทย์เห็นข้อมูลคนไข้แบบองค์รวมเฉพาะบุคคล (Multimodal personalize care) ได้ดียิ่งขึ้น เห็นแนวโน้มในการเกิดโรคในอนาคต นำไปสู่การประเมิน หรือวินิจฉัยที่ดียิ่งขึ้น

และในอนาคต แคริว่ามีแผนจะร่วมกับมหาวิทยาลัย และโรงเรียนแพทย์ชั้นนำทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัย รักษา ตลอดจนการคัดกรองเบื้องต้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ Medical AI ของไทย มีศักยภาพ และสามารถแข่งขันในระดับโลก

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

4. โครงการธุรกิจด้านจีโนมิกส์ (Genomic Business) ล้ำสมัยด้วยการถอดรหัสพันธุกรรม ส่งต่อสู่การวางแผนสุขภาพแบบเฉพาะบุคคลในอนาคต

ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เปิดเผยว่า ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราชให้บริการเรื่องการตรวจความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งโดยการถอดรหัสพันธุกรรม (Comprehensive Hereditary Cancer Panel Risk Screening) ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีความแม่นยำสูง

ทั้งการตรวจจากเลือดเพื่อดูความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง และตรวจจากชิ้นเนื้อที่เป็นมะเร็ง เพื่อเลือกยาต้านมะเร็งแบบมุ่งเป้า ปัจจุบันสามารถตรวจได้เองไม่ต้องส่งไปต่างประเทศ สามารถทราบความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้จากพันธุกรรม

ซึ่งการมีข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้สามารถดูแลสุขภาพได้ตั้งแต่เบื้องต้นแบบ Preventive Care หรือ การตรวจก่อนป่วย เพื่อให้รู้ทันการเกิดโรคและป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ไปจนถึงการรักษาแบบเฉพาะบุคคล

ตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบันได้ตรวจคนไข้ไปแล้วกว่า 7 พันคน และมีโรงพยาบาลเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชนที่ส่งเลือดและตัวอย่างชิ้นเนื้อมาให้ตรวจทั้งหมด 23 แห่งจากทั่วประเทศไทย

แต่เนื่องจากการตรวจดังกล่าวเป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและต้องทำในห้องแล็ปที่มีความซับซ้อนมาก ซึ่งศิริราชเองก็เป็นโรงพยาบาลของรัฐที่มีศักยภาพจำกัด การที่จะขยายการบริการดังกล่าวให้ครอบคลุมและทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

ฃจึงจำเป็นต้องร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างแคริว่า ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าถึงการบริการนี้ได้มากขึ้น โดยไม่ต้องไปตรวจตามโรงพยาบาลที่ต้องส่งไปตรวจที่ต่างประเทศ ซึ่งรอนานและเสียค่าใช้จ่ายสูง

ทางด้าน ธิดาทิพย์ วงศ์สุรวัฒน์ หัวหน้าหน่วยชีวสารสนเทศทางการแพทย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ห้องปฏิบัติการ Siriraj Long-read lab: Si-LoL ภายใต้หน่วยชีวสารสนเทศ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มีผลิตภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการวิจัยและพัฒนาร่วมกับแคริว่า 2 ผลิตภัณฑ์

คือ NanoPGX หรือ nanopore-based pharmacogenomics และ Preemptive-101 สำหรับ NanoPGX นั้นเป็นการตรวจยีนแพ้ยาแบบความละเอียดสูง โดยนำ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นตรงที่ราคาไม่สูง ได้ผลเร็ว และที่สำคัญสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ทุกเชื้อชาติ ด้วยจุดนี้เราเชื่อว่าจะสามารถให้บริการไปยังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกเหนือจากในประเทศไทย

ส่วนผลิตภัณฑ์ที่สองคือ Preemptive-101 เป็นการคัดเลือกยีน 101 ยีน ที่น่าจะตรวจไว้ก่อนซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตหรือภาวะแทรกซ้อนให้กับลูกค้าได้

เช่น ตรวจยีนที่เกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจากการแพ้ยาสลบ ซึ่งมีอาการรุนแรงและเป็นอันตรายถึงชีวิต และส่งต่อกันผ่านพันธุกรรมได้ ดังนั้น การตรวจก่อน หรือ Preemptive test จะช่วยประเมินความเสี่ยงดังกล่าวได้

ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ต้องดมยาสลบก่อนผ่าตัด หรือทำศัลยกรรม นอกจากนี้ยังมียีนที่เกี่ยวข้องกับโรคอื่นๆ โดยจะร่วมกับแคริว่าพัฒนาระบบการประมวลผลให้ใช้งานง่าย เพื่อให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าโรงพยาบาล หรือคลินิก

5. โครงการความร่วมมือกับศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ (VDC): แหล่งบ่มเพาะพัฒนา Health Tech Startup ของไทย เพื่อต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์สู่ธุรกิจจริง

5 โมเดลปัญญาประดิษฐ์ ผู้ช่วยคนใหม่ของหมอศิริราช

รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองคณบดีฝ่ายนวัตกรรมบริการและคุณค่าองค์กร กล่าวว่า วงการแพทย์ของไทยในปัจจุบัน มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายกับสตาร์ทอัพ ด้าน Medical Hub เพื่อช่วยกันพัฒนา และต่อยอดนวัตกรรมทางการแพทย์จากห้องวิจัยสู่ตลาดธุรกิจ

ซึ่งพันธกิจที่สำคัญของศูนย์ขับเคลื่อนคุณค่าการบริการ หรือ Center for Value Driven Care: VDC คือ ต้องการปลูกฝังแนวคิด พัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านนวัตกรรม และเป็นช่องทางเชื่อมระหว่างองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของศิริราช กับความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ

ผ่านการร่วมมือกับหน่วยงานภายใน ภายนอก และภาคเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการบริการของโรงพยาบาลศิริราชสู่การเป็น “Smart Hospital”

ดังนั้น ทางศูนย์ฯ จึงได้มีการจัดกิจกรรม Interactive Workshop อย่างต่อเนื่อง อาทิ LEAN Design Thinking Workshop และเรียนรู้ผ่านกระบวนการของ LEGO® SERIOUS PLAY® เพื่อสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมทางการแพทย์ให้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

“ปัจจุบันเราปฏิเสธไม่ได้ว่า AI ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกของเทคโนโลยี ดังนั้น เราควรใช้ AI มาช่วยเสริมการทำงานให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์

การร่วมมือกับเเคริว่า จะช่วยส่งเสริมให้บุคลากรมีความคิดเชิงนวัตกรรม และช่วยผลักดันนวัตกรรมจากบุคลากรภายในศิริราชไปสู่การนำไปใช้จริง และต่อยอดสู่ธุรกิจนวัตกรรมทางการแพทย์ รวมทั้งเชื่อมโยง ประสาน และสนับสนุนสตาร์ทอัพ ที่มีความสนใจในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ด้วยกระบวนการต่างๆ

อาทิ การจัดกิจกรรม Design Thinking เพื่อช่วยให้เข้าใจถึงปัญหาและสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ ตลอดจนการให้คำแนะนำทั้งด้านธุรกิจและเทคโนโลยี หรือการปรับปรุงโมเดลผ่านแพลตฟอร์ม SiCAR Ai Lab เพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับแต่ละทีม ในการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้า รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถเพื่อต่อยอดธุรกิจในระยะยาว”

แม้รูปแบบการดำเนินงานของแคริว่า จะมุ่งเน้นไปในด้านการพัฒนา AI เพื่อภาคธุรกิจ แต่แคริว่า พร้อมเปิดกว้างร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการนำข้อมูลและเทคโนโลยี AI ไปช่วยแก้ปัญหา พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน และพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้น

อย่างเช่น ความร่วมมือกับศิริราชเพื่อร่วมกันพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในครั้งนี้ ซึ่งไม่เพียงช่วยยกระดับวงการแพทย์ไทยให้ก้าวไกลไปอีกขั้น แต่ยังช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยได้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และช่วยรักษาชีวิตคน ซึ่งเป็นความภาคภูมิใจและมีคุณค่าอย่างไม่อาจประเมินได้

สอบถามรายละเอียดหรือติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของบริษัท AI and Robotics Ventures และ บริษัท CARIVA