Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

Famme Works และ CTnavi คว้ารางวัลชนะเลิศสุดยอดปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ มูลค่า 350,000 บาท ในงาน TCELS x RISE Accelerator

ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) ร่วมกับ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ เปิดตัวโครงการ TCELS x RISE Accelerator เฟ้นหาสตาร์ทอัพหรือทีมกลุ่มนักพัฒนาที่มีแนวคิดในด้านการนำ AI เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและการขยายตัวของบริการทางการแพทย์ชั้นนำในไทยและภูมิภาคอาเซียน 

อาทิเช่น การบันทึกภาพเพื่อวินิจฉัยโรค, การจัดการสถานพยาบาล และการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น โดยมุ่งเน้นในการสนับสนุนอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพของไทยที่กำลังเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วภายใต้ “โครงการบ่มเพาะทางธุรกิจต่อยอดเทคโนโลยี AI เพื่อใช้สร้างนวัตกรรมทางการแพทย์” มี 3 โจทย์หลักดังนี้ 1) AI สำหรับการวินิจฉัยโรคต่าง ๆ 2) AI สำหรับการบริการจัดการสถานพยาบาล และ 3) AI สำหรับการบริการจัดการพยาบาล 

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

กิจกรรมที่ผ่านมา แต่ละทีมได้เข้าร่วม Workshop เพื่อต่อยอดแนวคิดทางธุรกิจ รับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าระดับประเทศด้าน Medical AI ร่วมงานกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญจาก TCELS เพื่อรับคำแนะนำและพัฒนาแนวคิดธุรกิจมีโอกาสได้พบนักลงทุน เพื่อขยายธุรกิจในไทยและอาเซียน ตลอดจนนำเสนอแนวคิดกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่แนวหน้าของประเทศ เพื่อโอกาสในการรับเงินทุน

โดย 5 ทีมสุดท้ายที่เข้ารอบแบ่งเป็น 2 ประเภทได้แก่ TRACK A: Early Stage Startups (กลุ่มสตาร์ทอัพ) แบ่งเป็น ทีม Joey Doctor และ ทีม Famme Works ส่วน TRACK B: Idea Stage Team (กลุ่มนักพัฒนา) แบ่งเป็น ทีม SpeakNow! ทีม MedLAB และทีม CTnavi 

ตัวแทนทีมที่ชนะฝั่งกลุ่มสตาร์ทอัพได้แก่ ทีม Famme Works ส่วนตัวแทนทีมที่ชนะฝั่งนักพัฒนา ได้แก่ทีม CTnavi ซึ่งได้รับเงินรางวัลจำนวน 350,000 บาท นอกจากนี้อีก 3 ทีมที่เหลือก็ยังได้รับเงินรางวัลทีมละ 100,000 บาท 

 

  • ทางกรุงเทพธุรกิจจึงได้สรุปรายละเอียดการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การแพทย์ของแต่ละทีมไว้ดังนี้ 

 

AI Automated Pressure Injury Prevention System (นวัตกรรมป้องกันปัญหาการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยสูงอายุ)
ดร.ปราการเกียรติ ยังคง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Robotic, Automation & IoT หัวหน้าทีม Famme Works พัฒนาระบบการป้องกันปัญหาการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยสูงอายุแบบอ่านผลอัตโนมัติ ลดการพลิกตัวช่วยให้ผู้ป่วยพักผ่อนได้นานขึ้น และลดภาระงานของพยาบาลและผู้ดูแลที่ต้องมาพลิกตัวทุก ๆ 2 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถเก็บข้อมูล นำไปประมวลผล และแสดงผลที่แม่นยำ 

โดย AI จะคำนวนผลตามแรงกดที่เกิดขึ้นของผู้ป่วยแต่ละคน ทำให้เตียงขยับ แรงดันที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยจะถูกปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ทาง Famme Works มีแนวทางขยายตลาดทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งประเทศที่กำลังหารือได้แก่ ญี่ปุ่นและอังกฤษ นอกจากนี้ก็ยังมองหาผู้ร่วมลงทุนเพิ่มเติมในจำนวนเงิน 7 ล้านบาท 

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

 

 

AI Health Analytics for Future (นวัตกรรมจัดกับการข้อมูลสุขภาพที่ซับซ้อน)
พญ.ชุติมา ดุลย์มณี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มดีเอ็นเอ จำกัด หัวหน้าทีม Joey Doctor พัฒนาการจัดการข้อมูลสุขภาพที่ซับซ้อนในปริมาณมาก คัดกรอง และส่งต่อข้อมูลที่สำคัญ (Clinical insights) สู่มือคนไข้ด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุด ทั้งนี้ มีฟังก์ชั่นการทำงานได้แก่ 

  • แอปพลิเคชั่นบันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล (Personal Health Record) แปลผล และให้คำแนะนำสุขภาพ ครอบคลุมรายการตรวจมากถึง 350+ รายการ วิเคราะห์ข้อมูลโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรัง (NCDs) และรวมถึงข้อมูลทางอาชีวเวชกรรม
  • ระบบประมวลผลข้อมูลสุขภาพที่ไวที่สุด ณ ปัจจุบัน ในการจัดการข้อมูลการตรวจสุขภาพปริมาณมาก ลดการทำงานซ้ำซ้อน ลดเวลาการทำงานจาก 30 วัน เหลือเพียง 1 วัน
  • การวิเคราะห์ผลโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรัง โดยจะค้นหาผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรัง หรือ NCD และยังติดตามรูปแบบของโรคเพื่อการรักษาที่ดีที่สุด

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

    


AI Therapeutic Tool for Stroke with Speech Problem (นวัตกรรมสำหรับการฝึกพูดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีปัญหาด้านการพูด)
นพ.ชุติเทพ ทีฆพุฒิ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง หัวหน้าทีม SpeakNow! ได้พัฒนา AI SpeakNow! โดยใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชั่นไลน์ (LINE) เป็นตัวดำเนินการหลัก แต่เบื้องต้น ทางทีม SpeakNow! ก็คาดว่าตนเองจะพัฒนาไปสู่แพลตฟอร์มอื่น ๆ ในอนาคตอีกด้วย 

สำหรับการทำงานแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนได้แก่ การลงทะเบียนผู้ป่วย (Registration) การให้ผู้ป่วยส่งเสียงพูดผ่านการอัดเสียงเพื่อประมวลผล (Speech Input) การประมวลผลโดยระบบ AI และการฝึกการพูดให้กับผู้ป่วย (Speech Trerapist) ทั้งนี้ ก็ยังมีฟังก์ชั่นการทำงานที่ผู้ป่วยสามารถปรึกษานักแก้ไขการพูดได้โดยตรง

เป้าหมายการพัฒนาระบบของ SpeakNow! คือการทดลองกับผู้ป่วยที่มีปัญหาด้านการพูดจำนวน 100 คนภายใน 1 เดือน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ AI ให้แม่นยำ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนใช้งาน

ขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวน 20 คน นอกจากนี้ก็ยังตั้งเป้าไปถึง 1000 คน ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2565 และขยายผลในปี 2566 จำนวน 10,000 คนครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ส่วนในปีถัด ๆ ไปก็จะขยายผลไปสู่ตลาดต่างประเทศเริ่มต้นจากประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลัก

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

 

 

AI for Predicting Hearing Levels in Children (นวัตกรรมที่ใช้ทำนายผลตรวจการได้ยินในเด็ก)
นพ.พิทยาพล ปีตธวัชชัย อาจารย์ ภาควิชาโสต ศอ นาสิก วิทยา หัวหน้าทีม MedLAB พัฒนาระบบที่ทำนายผลตรวจการได้ยินในเด็ก โดยจะตรวจการได้ยินของเด็กว่ามีปัญหาหูตึงหรือปัญหาการได้ยินอื่น ๆ หรือไม่ ซึ่งจะประมวลผลผ่านระบบ AI ที่ช่วยลดระยะเวลาการตรวจ และเพิ่มความแม่นยำให้กับผลตรวจ ทำให้การตรวจการได้ยินมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 

วิธีนี้จะช่วยทำให้รักษาผู้ป่วยเด็กแรกเกิดทันเวลา และทำให้แพทย์ตรวจเด็กในวัยที่ยังไม่ค่อยให้ความร่วมมือได้ง่ายขึ้น เพราะหากทารกมีปัญหาการได้ยินจะต้องทำการรักษาก่อน 3 - 6 เดือน เพื่อทำให้เขาสามารถใช้ชีวิตอย่างปกติในอนาคตได้ 

การทำตลาดของ MedLAB นั้นจะเริ่มตั้งแต่การทำความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชน คลินิกตรวจการได้ยิน บริษัทขายเครื่องตรวจการได้ยิน บริษัทขายเครื่องช่วยฟัง บริษัทประกัน ตลอดจนเอกชนที่สนใจการดูแลเด็กหูตึง

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

 

 

AI for Brain Reading System (นวัตกรรมช่วยอ่านภาพถ่ายสมอง)
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เกาทัณฑ์ทอง อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน Information Sciences หัวหน้าทีม CTnavi พัฒนาระบบช่วยอ่านภาพถ่ายสมอง ซึ่งเป็นระบบที่ประยุกต์ความรู้จากแพทย์ การประมวลผลภาพ และปัญญาประดิษฐ์มาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดสมอง เช่น ลิ่มเลือดในสมองอุดตัน ภายในระยะเวลาที่รวดเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ 

เดิมทีนั้นแพทย์จะใช้การวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับสมองโดยการอ่านภาพจากผล CT scan หรือผล ncCT scan ในระยะเวลา 60 นาที แต่สำหรับปัญญาประดิษฐ์ช่วยอ่านภาพถ่ายสมองของ CTnavi ตัวนี้จะทำให้วินิจฉัยภายใน 20 นาที โดยใช้แค่ภาพถ่าย CT scan ก็สามารถบอกชนิดและระบุตำแหน่งที่มีเลือดออกในสมองได้ ความสามารถทั้งหมดนี้สามารถทำได้ด้วยการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ และภาพถ่ายจากสมองเท่านั้น (Computer Aided using only ncCT)

ปัจจุบัน CTnavi ได้พัฒนาระบบประสานข้อมูล (Interface) ทั้งหมด 3 รูปแบบ ได้แก่ 

  1. ระบบรับภาพถ่ายสมองทางชุดภาพ ผลที่ได้จากการประมวลผลจะสามารถระบุตำแหน่งเลือดออกในสมองได้ชัดเจน ในแต่สไลด์ภาพที่ตรวจพบ ผู้ใช้สามารถตรวจสอบความเสียหายของสมองเพื่อเปรียบเทียบกับผล CT scan พร้อมรายละเอียด เช่น ชนิดของเลือดออก และความน่าจะเป็นที่แต่ตำแหน่งจะเป็นลักษณะเลือดออกในสมองประเภทต่างๆ 
  2. ระบบระบุตำแหน่งลิ่มเลือด แสดงให้เห็นพื้นที่ที่น่าจะเป็นลิ่มเลือดทั้งหมด ช่วยรังสีแพทย์วินิจฉัยตำแหน่งที่น่าจะเป็นลิ่มเลือดได้แม่นยำยิ่งขึ้น 
  3. ระบบแสดงความเสียหายของสมองที่ขาดเลือด โดยแสดงด้วยระดับความเข้มที่แตกต่างกัน เพื่อให้แพทย์สามารถระบุตำแหน่งและประเมินความเสียหายของเนื้อสมอง และวางแผนการรักษาต่อไปได้ 

ทั้งนี้ ทีม CTnavi นำระบบเอไอช่วยอ่านภาพถ่ายสมองมาปรับใช้กับโรงพยาบาลศิริราช เป็นที่แรก และคาดว่าจะหาผู้ร่วมลงทุน โรงพยาบาล สถานพยาบาล เพื่อพัฒนาและต่อยอดระบบในอนาคตต่อไป 

Famme Works และ CTnavi คว้าแชมป์ สุดยอด ‘AI การแพทย์’

 

ที่มา: Joey Doctor, NIP, TCELS Thailand