MedTech เปิดพื้นที่โชว์เคส ดันไทยสู่เมดิคัลฮับระดับโลก

MedTech เปิดพื้นที่โชว์เคส ดันไทยสู่เมดิคัลฮับระดับโลก

เมสเซ่ ดุสเซลดอร์ฟ ชี้เทรนด์การแพทย์ดึงสตาร์ตอัปทั้งไทยและอาเซียนเติบโต โชว์เคสงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2023 ด้วยสตาร์ตอัปพาร์ค พร้อมให้นักลงทุนและผู้ประกอบการจับมือขยายธุรกิจในระดับสากล

“เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี” หนึ่งในดีพเทคสตาร์ตอัปทางการแพทย์สัญชาติไทย ที่จะนำระบบตรวจวัดสัญญาสมองและระบบตรวจการนอนหลับ ร่วมอวดศักยภาพนวัตกรรมไทยในโซน “สตาร์ตอัปพาร์ค” ในงานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ 2566

เพื่อผลักดันสตาร์ตอัปไทย-อาเซียนสู่การลงทุนธุรกิจด้านการแพทย์และสุขภาพ สอดรับกับเทรนด์การออกกำลังกายและสังคมสูงวัย

MedTech เปิดพื้นที่โชว์เคส ดันไทยสู่เมดิคัลฮับระดับโลก

เครื่องวัดคลื่นสมอง

ระบบตรวจวัดสัญญาณสมอง หรือ “เครื่องวัดคลื่นสมอง” ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง กลุ่มผู้ที่มีปัญหาเรื่องการสื่อสาร กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเตียง ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการขยับตัวตั้งแต่คอลงมา ตลอดจนนำไปใช้ฝึกสมาธิในเด็กที่สมาธิสั้น

การทำงานของเครื่องวัดคลื่นสมอง แรกเริ่มแพทย์นำไปติดไว้บริเวณศีรษะของผู้ป่วย จากนั้นเครื่องจะส่งข้อมูลความต้องการของผู้ป่วยผ่านการแสดงผลบนหน้าจอควบคุม ทำให้สามารถสื่อสารกับนักบำบัดและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ได้

“ก่อนจะมาเป็นเบรนไดนามิกส์ฯ เริ่มต้นจากการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล คิดค้นอุปกรณ์ช่วยเหลือแพทย์ ซึ่งโจทย์ตอนนั้นคือ การมองหาธุรกิจที่สามารถต่อยอดได้ โดยคิดว่าเรื่องของการนอนหลับเป็นเรื่องที่สำคัญและยังสามารถทำอะไรได้อีกหลายอย่าง จึงเกิดเป็นเครื่องวัดคลื่นสมองในปัจจุบัน” ณพสิทธิ์ พิพิธพัฒนาปราปต์ ผู้ก่อตั้งบริษัท เบรน ไดนามิกส์ เทคโนโลยี จำกัด กล่าว

เบรนไดนามิกส์ฯ สนใจพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับสมอง โดยนำเครื่องวัดคลื่นสมองไปทดสอบกับผู้ป่วยหลังรับการผ่าตัดสมอง เพื่อดูว่าการฟื้นฟูของระบบสมอง เนื่องจากที่ผ่านมาการติดตามการพักฟื้นของผู้ป่วยจะดูอาการแค่ภายนอกเท่านั้น ทางทีมจึงสนใจนำระบบมาช่วยเสริมสร้างการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วย

MedTech เปิดพื้นที่โชว์เคส ดันไทยสู่เมดิคัลฮับระดับโลก

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเครื่องมือและเทคโนโลยีจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง ที่ผ่านมาเบรนไดนามิกส์ฯ ได้รับการส่งเสริมจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทั้งยังได้รับการส่งเสริมจากนักลงทุนจากสิงคโปร์ และได้เข้าร่วมโปรแกรม Accelerator ที่สิงคโปร์อีกด้วย

“งานเมดิคอลแฟร์เป็นประโยชน์แก่สตาร์ตอัปรายเล็กอย่างพวกเรา เพราะจะเป็นพื้นที่ที่เหมือนโอกาสทำให้ธุรกิจของเราได้ประจักษ์แก่ผู้คนทั่วไป ผู้ใช้งาน โรงพยาบาลหรือกลุ่มนักลงทุน นอกจากโอกาสจากทางผู้ใช้งานแล้ว เรายังต้องการโอกาสการลงทุน โดยหวังเสมอว่าจะได้พิชชิ่งสินค้าแก่ทีมแพทย์ เพื่อเป็นแนวทางพัฒนานวัตกรรมต่อไป”

ย่านนวัตกรรมการแพทย์

กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการ NIA กล่าวว่า การแพทย์และสุขภาพถือเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ที่เป็นโอกาสสำคัญอย่างมากสำหรับขยายตัวของสตาร์ตอัป เพราะสินค้าหรือบริการทางการแพทย์ต้องใช้เทคโนโลยีและโซลูชันที่ทันสมัย และมีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ 

ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง (DeepTech) เช่น ระบบอัตโนมัติ (AI) เทคโนโลยีเสมือนจริง การเชื่อมอินเทอร์เน็ตกับหลากสรรพสิ่ง (IoT) ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ก็พบว่า กลุ่มสตาร์ตอัปด้านการแพทย์และสุขภาพยังขาดพื้นที่ ที่เป็นฮับเชื่อมโยงกับนักลงทุน เพื่อขยายโอกาสไปสู่ระดับสากลมากขึ้น

NIA จึงเล็งเห็นความสำคัญของการร่วมนำหน่วยงานในย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธีมาแสดงนวัตกรรมภายในงานเมดิคอลแฟร์ เอเชีย ที่สิงคโปร์เมื่อปีที่ผ่านมา ได้รับความสนใจจากนานาชาติเป็นอย่างดี

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์และสุขภาพ สร้างโอกาสให้กับสตาร์ตอัปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น การดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย การฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ การบริการทางการแพทย์ สังคมผู้สูงวัย ฯลฯ NIA พร้อมที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีพื้นที่และมีโอกาสเติบโต

เห็นได้จากผลการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ตอัปโลก ประจำปี 2566 หรือ Global Startup Ecosystem Index 2023 โดย StartupBlink ระบุว่าประเทศไทยได้ลำดับที่ 52 ของประเทศที่มีระบบนิเวศทางสตาร์ตอัปที่ดีที่สุดในโลก ถือเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมได้เป็นอย่างดี หากมีการสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ การเชื่อมโยงเครือข่าย และการสนับสนุนเงินลงทุน

MedTech เปิดพื้นที่โชว์เคส ดันไทยสู่เมดิคัลฮับระดับโลก

สตาร์ตอัปกับโรงพยาบาล

ด้าน พราว ปธานวนิช ผู้อำนวยการสายงานนวัตกรรม โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า กลุ่มโรงพยาบาลทั้งในภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีทางการแพทย์และสตาร์ตอัปทางการแพทย์ ต้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาที่นับวันยิ่งมีความท้าทายมากขึ้นเรื่อยๆ 

โดยเฉพาะประเทศไทยที่บุคลากรทางการแพทย์มีจำกัด ยิ่งต้องใช้ความร่วมมือกันระหว่างสหสาขาวิชาชีพเพื่อช่วยให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและสามารถบริหารจัดการสุขภาพของตนได้มากยิ่งขึ้น

“เราต้องสร้างความไว้วางใจระหว่างแพทย์และกลุ่มสตาร์ตอัป โรงพยาบาลในไทยควรหันมาสนับสนุนเครื่องมือแพทย์ที่มาจากในประเทศมากขึ้น เพราะฝีมือพัฒนาเทคโนโลยีของคนไทยนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าชาติอื่นๆ เพียงแค่ขาดโอกาสในการนำไปใช้ แพทย์เป็นผู้ใช้แรกที่จะสร้างความเชื่อมั่นว่าเครื่องมือเหล่านี้สามารถนำไปใช้งานกับผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล”

งานเมดิคอลแฟร์ ไทยแลนด์ ถือเป็นอีกหนึ่งแพลตฟอร์มที่จะช่วยระดมความคิดและนวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการดูแลสุขภาพได้ ในปีนี้กำหนดจัดขึ้นวันที่ 13-15 ก.ย.นี้ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา และวันที่ 16-22 ก.ย. ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงงานให้กว้างขึ้น