วีลแชร์ปรับยืนได้ฝีมือคนไทย | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

วีลแชร์ปรับยืนได้ฝีมือคนไทย | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

ประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงสภาวะการบาดเจ็บที่ทำให้เกิดความบกพร่องในการเคลื่อนไหวไม่ว่าจะถาวรหรือชั่วคราว ทำให้ความต้องการในการใช้วีลแชร์ (wheelchair) แพร่หลายในปัจจุบัน

วีลแชร์ช่วยให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว เดินทางจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนไหวส่วนบุคคล ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นตามหลักสิทธิมนุษยชนและการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เป็นสมาชิกที่มีคุณภาพในสังคม

นวัตกรรมวีลแชร์แบบปรับยืนได้ฝีมือคนไทย ผลงานของ บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด (CMed Medical เป็นสตาร์ตอัปจากนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยง ในการส่งเสริมธุรกิจของโครงการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สกอ.) มีข้อพิเศษคือสามารถปรับจากท่านั่งที่เป็นรถเข็นหรือวีลแชร์แบบธรรมดา มาเป็นท่ายืนได้โดยตัวผู้ใช้เอง และไม่ต้องใช้ไฟฟ้า

นอกจากจะตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ที่มีสภาวะอัมพาตครึ่งท่อนล่าง อัมพาตครึ่งซีก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไขสันหลังอักเสบและเป็นโรคทางระบบประสาทแล้ว วีลแชร์ปรับยืนยังสามารถอำนวยความสะดวกให้กับผู้สูงอายุได้อีกด้วย 

ธีรพงศ์ สมุทรอัษฎงค์ ผู้ก่อตั้ง บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด ชี้แจงว่า จุดเริ่มต้นของการคิดค้นนวัตกรรมนี้มาจากการตั้งโจทย์ที่แตกต่างที่ว่า ทำไมวีลแชร์ถึงยืนไม่ได้

เพราะที่เห็นอยู่ตามท้องตลาดทั่วไปจะเป็นวีลแชร์ที่เป็นแบบนั่งเท่านั้น จึงนำมาสู่การปรับปรุงพัฒนาและศึกษาว่าจะทำอย่างไรให้วีลแชร์ตัวหนึ่งที่เป็นวีลแชร์ปกติสามารถปรับยืนได้ 

วีลแชร์ปรับยืนได้นี้ได้รับการออกแบบทางกลไกสำหรับช่วยผ่อนแรงในการยก ซึ่งใช้กระบอกแก๊สสปริงในการเสริมแรง และช่วยในการยืนสำหรับผู้ป่วยที่แขนมีแรงทั้ง 2 ข้างสามารถใช้แรงแขนยกตัวขึ้นเองได้

หรือสำหรับผู้ป่วยอัมพาตระดับสูงที่ไม่สามารถควบคุมแขนได้ก็สามารถยืนได้โดยมีผู้ช่วย ซึ่งมุมการยืนที่ตั้งขึ้นมาจะอยู่ที่ 80 องศา และสามารถรองรับน้ำหนักผู้ใช้ที่ 50 ถึง 90 กิโลกรัม

วีลแชร์ปรับยืนได้ฝีมือคนไทย | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

แนวคิดการพัฒนาวีลแชร์ปรับยืนนี้เริ่มขึ้น เมื่อธีรพงศ์ศึกษาระดับปริญญาโท ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยมี ผศ.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์

และหัวหน้าศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ (Center of Excellence in Creative Engineering Design and Development หรือ CED-Square) เป็นที่ปรึกษา 

ศูนย์นี้มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาหลักของประเทศผ่านการออกแบบและพัฒนาต้นแบบทางวิศวกรรมอย่างสร้างสรรค์ ในรูปแบบของการบูรณาการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชา

โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมทางด้านสุขภาพเพื่อคนที่ด้อยโอกาสในประเทศไทย และเพื่อพัฒนานวัตกรรมให้สามารถนำไปสู่การใช้งานจริง เพื่อสร้างมูลค่าทั้งในรูปแบบเชิงพาณิชย์และสร้างประโยชน์สุขเชิงสาธารณะ 

ในช่วงแรกจะเน้นการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมทางด้านสุขภาพ สำหรับผู้ป่วย คนพิการและผู้สูงอายุ และเพิ่มช่องทางเพื่อนำผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์เพื่อนำรายได้กลับมาเป็นทุนวิจัยทำให้เกิดวงจรงานวิจัยที่ยั่งยืน

ผศ.สายรัก สอาดไพร อาจารย์ประจำคณะสหเวชศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีการกีฬาและการออกกำลังกายสำหรับผู้สูงอายุและคนพิการ ผู้ร่วมศึกษาวิจัยที่ศูนย์แห่งความเป็นเลิศฯ ระบุว่า 

“การมีอุปกรณ์รูปแบบนี้เข้ามาเสริมในตลาด นอกจากจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคแล้ว ที่สำคัญยังทำให้ผู้ใช้ไม่ว่าจะเป็นคนพิการ ผู้ป่วย หรือผู้สูงอายุนั้นมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะการยืนถือเป็นการทำกายภาพบำบัดอย่างหนึ่ง ช่วยลดและป้องกันการเกิดแผลกดทับจากการนั่งนานๆ ลดปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ 

วีลแชร์ปรับยืนได้ฝีมือคนไทย | ศิริวรรณ สืบนุการณ์

ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงมากขึ้น ป้องกันโรคกระดูกพรุน และช่วยให้ระบบขับถ่ายและระบบย่อยอาหารทำงานดีขึ้น นอกจากจะเป็นตัวช่วยที่ดีต่อสุขภาพของผู้ใช้แล้ว

วีลแชร์ปรับยืนได้ยังช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันอีกด้วย รวมไปถึงช่วยให้ผู้ใช้มีสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” 

บริษัท ซีเมดเมดิคอล จำกัด เป็นแห่งเดียวในประเทศไทยที่ใช้นวัตกรรมนี้ ที่สามารถพัฒนาวีลแชร์ปรับยืนที่มีน้ำหนักเบาเพียง 21 กิโลกรัม ถือว่ามีน้ำหนักน้อยเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากอันดับ 1 ที่หนัก 11 กิโลกรัม

ในขณะที่สินค้าจากต่างประเทศที่นำเข้ามาขายในประเทศไทยนั้นจะมีน้ำหนักค่อนข้างมากประมาณ 90 ถึง 150 กิโลกรัมขึ้นไปเพราะต้องใช้ระบบไฟฟ้าที่เหมาะกับสังคมที่ผู้ใช้อยู่คนเดียว

แต่ที่บริษัทผลิตนั้นยืนได้ง่าย ยืนได้เร็วและยืนได้ด้วยตัวของผู้ใช้เองหรืออาจมีคนในบ้าน ในครอบครัวเป็นผู้ช่วยในการปรับยืน แม้จะมีข้อจำกัดอยู่ที่ผู้ใช้ต้องเป็นผู้ที่มีขาทั้ง 2 ขาแบบสมบูรณ์แต่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้สึก 

ตลาดผู้ใช้วีลแชร์ยังเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีประมาณ 2 ล้านคน และมีความต้องการอุปกรณ์ช่วยให้การดำเนินชีวิตดีขึ้น

นอกจากวีลแชร์แบบปรับยืนได้ในปัจจุบันที่มีความเหมาะสมกับสรีระของผู้ใหญ่แล้วนั้น การออกแบบให้เหมาะกับผู้ใช้ที่เป็นเด็กก็มีความจำเป็นเนื่องจากความแตกต่างทางด้านร่างกายที่ยังเติบโตไม่เต็มที่ ประกอบกับผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่จะมีสภาวะพิการทางสมอง ซึ่งต้องการการออกแบบที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต