EECi เปิดบ้านโชว์เทคฯ ดันผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

EECi เปิดบ้านโชว์เทคฯ ดันผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) ในพื้นที่ EECi จ.ระยอง เปิดบ้านต้อนรับผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0

ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center (SMC)) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) จัดกิจกรรมเปิดบ้าน SMC OPEN HOUSE เพื่ออัปเดตความก้าวหน้าการดำเนินงานและบริการของ SMC 

กิจกรรมนี้เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมโรงงานจำลองเพื่อการเรียนรู้และเครื่องมือทดสอบเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ Industry 4.0 และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า

ซึ่งภายในงานมีการบรรยายพิเศษจากสภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการภาคเอกชน ถึงทางเลือก ทางรอด ประสบการณ์การปรับตัวสู่ Industry 4.0 และมีนิทรรศการผลงานจากนักวิจัยมาร่วมจัดแสดง พร้อมทั้งพื้นที่เจรจาจับคู่ธุรกิจ เพื่อให้เกิดการนำเทคโนโลยีไปประยุกต์ใช้ในภาคการผลิตได้อย่างยั่งยืน 

EECi เปิดบ้านโชว์เทคฯ ดันผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

ความพร้อมของ EECi ในการสนับสนุนผู้ประกอบการ

พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน เล่าถึงเป้าหมายหลักของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน ที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงาน รวมทั้งแนะนำบริการต่างๆ ของศูนย์ฯ ที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต 

อาทิ 1) บริการตรวจประเมินระดับความพร้อมของโรงงาน 2) บริการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร 3) บริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคและคำปรึกษาเกี่ยวกับแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์ 4) บริการพัฒนาระบบตามความต้องการของอุตสาหกรรม และ 5) บริการเครื่องมือสำหรับทดสอบและเรียนรู้ 

“EECi มีอุปกรณ์เครื่องแบบ เครื่องจักร มีโรงงานจำลองเพื่อการเรียนรู้ ผู้ประกอบสามารถเข้ามาใช้เครื่องมือเหล่านี้ในการทดสอบและทดลองระบบต่างๆ ก่อนการใช้งานในโรงงานจริง” ผอ.พนิตา กล่าว 

EECi มีกลยุทธ์คือ การนำเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไปให้ทางผู้ประกอบการทดลองใช้ และการให้เงินสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อทำให้การดำเนินการของผู้ประกอบการค่อยๆ ดำเนินไปได้ เมื่อทดลองใช้กับโรงงานได้ผลดี ผู้ประกอบการจะได้ตัดสินใจที่จะลงทุนต่อไปได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนและช่วยลดความเสี่ยงให้กับโรงงาน 

สำหรับค่าใช้จ่ายจะมีหลายรูปแบบ บางบริการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น บริการตรวจประเมินความพร้อมของอุตสาหกรรม เป็นต้น สำหรับการอบรม และการใช้เครื่องมือต่างๆ ก็จะมีค่าใช้จ่าย ซึ่งจะทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในรูปแบบเมมเบอร์ชิป

EECi เปิดบ้านโชว์เทคฯ ดันผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

‘อุตสาหกรรม’ กับ ‘4.0’

จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่สภาอุตสากรรมตั้งเป้าคือ อยากให้โรงงานทยอยปรับตัวในด้านต่างๆ เพื่อให้สามารถ 1.ลดต้นทุนการผลิต 2.ลดการสูญเสีย และ 3.สามารถดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม

“คำว่า 4.0 เป็นตัวเลือกหนึ่ง หลายๆ โรงงานไม่จำเป็นต้องไปถึง 4.0 อาจจะย้ายจาก 2.0 ไป 3.0 ก็เพียงพอแล้ว ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความจำเป็นของโรงงานนั้นๆ” จำรัส กล่าว และเพิ่มเติมว่า 

อุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันกับอุตสาหกรรมต่างประเทศสูงสุดในตอนนี้คือ อุตสาหกรรมส่งออก รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขนาดกลาง-เล็ก ที่มีวัตถุดิบคอยป้อนให้กับโรงงานใหญ่ๆ 

มุมมองผู้ประกอบการ

อดุลย์ เปรมประเสริฐ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการพยายามที่จะยืนด้วยตนเอง พยายามจะศึกษาเรื่องของ 4.0 แล้วก็พบคำตอบใกล้เคียงเหมือนกับทางสภาอุตสาหกรรมว่า เราไม่จำเป็นต้องไปถึง 4.0 สิ่งที่สำคัญคือ การเลือกสิ่งที่เข้ามาให้การทำงานของเรานั้นมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้มากขึ้น 

“การที่มี EECi ทำให้ช่วยลดระยะเวลาในการทำงานได้มากขึ้น EECi มาประเมินโรงงานและบอกว่าควรจะเติมในจุดไหน เราก็เติมในจุดนั้น ทำให้โรงงานสามารถพัฒนาต่อไปได้ เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน” 

ผู้ประกอบการอย่านิ่งนอนใจรอรับการช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว กล่าวคือ อย่ารอให้สถาบันต่างๆ วิ่งเข้ามาสนับสนุน แต่เราต้องเป็นคนวิ่งเข้าหาสถาบันเหล่านั้นเองเพื่อบอกปัญหากับเขาว่าเรายังมีจุดบกพร่องหรือต้องการอะไร เพราะหากรอคนมาช่วยเหลืออย่างเดียว ผู้ที่จะเข้ามาช่วยก็จับต้นชนปลายไม่ถูก ไม่รู้ว่าเราต้องการอะไร ดังนั้น เราต้องเป็นฝ่ายพูดออกมาเสียก่อน 

EECi เปิดบ้านโชว์เทคฯ ดันผู้ประกอบการไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

ผลงาน EECi ใช้ได้จริง 

1. Smart Maintenance ระบบจำลองโรงงานอุตสาหกรรมการผลิต สามารถปรับเปลี่ยนระบบประมวลผลและสั่งการ (SCADA) สามารถทดสอบและศึกษาเรียนรู้กระบวนการการเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบต่าง ๆ ในโรงงาน ด้วยเทคโนโลยี IoT และนำข้อมูลไปใช้เพื่อการประมวลผลด้านต่าง ๆ 

เช่น การบริหารจัดการและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การวิเคราะห์ประสิทธิผลการผลิต และงานบำรุงรักษา และมีชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลัง (Motor and Transmission Testbed) ที่สามารถสร้างจุดบกพร่องเพื่อการตรวจวัดค่าที่เปลี่ยนแปลงทั้งด้านการสั่นสะเทือน และตัวแปรทางไฟฟ้า

2. Industrial Automation Testbed ชุดสาธิตการผลิตทำงานแบบอัตโนมัติร่วมกับ Robot มีเซ็นเซอร์ควบคุมการทำงานประสานระบบผ่านเครือข่าย Ethernet เพื่อทำงานร่วมกับหุ่นยนต์และระบบแมคคาทรอนิกส์ ควบคุมการทำงานแสดงผลแบบเรียลทาม วัดประสิทธิผลเครื่องจักรด้วย OEE เพื่อพัฒนาต่อยอด Smart Factory 4.0 

3. Demoline (Flexible manufacturing) ไลน์การผลิตจำลองแสดงเทคโนโลยี Industry 4.0 มีตัวอย่างการทำงานสองประเภท ได้แก่ ไลน์การประกอบอุปกรณ์ (Assembly) และไลน์การบรรจุของเหลวลงขวด มี Station สำหรับการจัดทำหีบห่อ และติดสติ๊กเกอร์ มีชั้นสำหรับเก็บวัตถุดิบ และซอฟต์แวร์  Siemens Tecnomatix ที่สามารถจำลองการทำงานภายในไลน์การผลิต ออกแบบผลิตภัณฑ์ และวางแผนการทำงาน

4. 3D Scanner Robot แพลตฟอร์มหุ่นยนต์สแกนและตรวจสอบชิ้นงานสามมิติขึ้นโดยมีส่วนประกอบสำคัญของระบบอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ (1) สแกนเนอร์สามมิติ (2) แขนกล (3) โต๊ะหมุน (Turn table) และ (4) ซอฟต์แวร์

มีจุดเด่นคือ ซอฟต์แวร์สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท ระบบมีความยืดหยุ่นที่สามารถปรับเปลี่ยนองค์ประกอบหลักทั้ง 3 ตัว คือ สแกนเนอร์สามมิติ แขนกล และโต๊ะหมุน ให้เป็นรุ่นหรือยี่ห้อต่างๆ ที่เหมาะสมกับประเภทของงานที่ต้องการและตามงบประมาณที่มี 

5. UNAI-UWB Indoor Positioning Platform ต้นแบบแพลตฟอร์มระบบติดตามตำแหน่งและตรวจนับ Pallet สินค้า สามารถทำงานร่วมกับระบบบริหารจัดการคลังสินค้า WMS ใช้ในการติดตามตำแหน่งของรถ Forklift หรือ AGV ในคลังสินค้า และเฝ้าติดตามผ่านเครือข่าย 5G สามารถนับจำนวนสินค้าคงคลังได้อัตโนมัติ มีความแม่นยำในการระบุตำแหน่ง มีความผิดพลาดต่ำกว่า 1 เมตร

6. UNAI-BLE Indoor Positioning Platform ต้นแบบแพลตฟอร์มระบบติดตามตำแหน่ง สำหรับติดตามคนและสิ่งของขนาดใหญ่ ใช้ในการติดตามตำแหน่งของรถ เจ้าหน้าที่ หรือ ครุภัณฑ์ ในคลังสินค้า หรือโรงงาน และเฝ้าติดตามผ่านเครือข่าย 5G 

โดยมีความแม่นยำในการระบุตำแหน่ง มีความผิดเฉลี่ย 4.5 เมตร เหมาะสำหรับการติดตามแบบ Zoning ชุดทดสอบมอเตอร์และระบบส่งกำลังที่ให้บริการแท่นทดสอบวัดประสิทธิภาพมอเตอร์ไฟฟ้า และบริการแท่นทดสอบวัดคุณลักษณะมอเตอร์ไฟฟ้า

7. EV HIL Testing Service  dSPACE SCALEXIO HIL System อุปกรณ์สำหรับใช้ในการสร้างแบบจำลองยานยนต์ไฟฟ้า แบบเสมือนจริง และมีการประมวลผลแบบเรียลไทม์ เพื่อใช้ทดสอบฟังค์ชั่นการทำงานต่างๆ ของระบบควบคุมสำหรับ ยานยนต์ไฟฟ้า

โครงการทั้งหมดของ EECi จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสร้างบุคลาการด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมรุ่นใหม่ให้กับประเทศไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง และเป็นประเทศที่มีฐานการผลิตจากนวัตกรรม และพึ่งพาเทคโนโลยีของตัวเองได้ในอนาคต