สกพอ.กระตุ้นความเชื่อมั่น ดึงลงทุน“อีอีซี”ฟื้นเศรษฐกิจ

สกพอ.กระตุ้นความเชื่อมั่น ดึงลงทุน“อีอีซี”ฟื้นเศรษฐกิจ

โครงสร้างพื้นฐานสำคัญในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เริ่มเข้าสู่ระยะก่อสร้างและเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลกเข้ามาหาโอกาสใหม่รวมทั้งขยายการลงทุนเดิม

เพ็ชร ชินบุตร รองเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ในช่วงต้นปี 2565 สกพอ.ดำเนินการตามแผนการชักจูงการลงทุนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักธุรกิจต่างประเทศ โดยได้หารือกับคณะทูตจากหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ฮังการี รัสเซีย อียิปต์ ญี่ปุ่น ที่ให้ความสนใจลงทุนในไทยโดยเฉพาะพื้นที่อีอีซี 

พร้อมทั้งได้นำเสนอความก้าวหน้าของโครงการอีอีซีที่โครงสร้างพื้นฐานหลักกำลังเข้าสู่ระยะก่อสร้าง โดยเฉพาะเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซีไอ) ที่พร้อมเปิดให้บริการในปลายปี 2565 ซึ่งจะเป็นพื้นที่รองรับการลงทุนเพื่อพัฒนานวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทย

สกพอ.ได้นำเสนอโอกาสในการลงทุนภายใต้อุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ บีซีจี ยานยนต์ไฟฟ้าอุตสาหกรรมยาและดิจิทัล รวมทั้งชี้แจงถึงสิทธิประโยชน์และการส่งเสริมการลงทุนในอีอีซี

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2565 สกพอ.หารือกับ มุน ซึง-ฮย็อน เอกอัครราชทูตเกาหลีใต้ประจำประเทศไทย พร้อมคณะจาก Korea Trade-Investment Promotion (KOTRA) และ Korean Education Center (KEC) ซึ่งได้ดูความคืบหน้าของอีอีซีไอ และติดตามการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์

นอกจากนี้ นักลงทุนจากประเทศเกาหลีใต้ติดเป็น 1 ใน 10 อันดับประเทศที่ลงทุนมากที่สุกในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมี สกพอ. จึงได้เสนอให้ขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมที่เน้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ยานยนต์สมัยใหม่ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในพื้นที่อีอีซีไอเพิ่มเติม สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในเศรษฐกิจบีซีจีของรัฐบาลไทย

นอกจากนี้ ยังได้ดินทางเยือน สถาบันวิทยสิริเมธี หรือ VISTEC เพื่อขยายความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และการพัฒนาบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา ต่อไป

สกพอ.กระตุ้นความเชื่อมั่น ดึงลงทุน“อีอีซี”ฟื้นเศรษฐกิจ “มองภาพการลงทุนต่อจากนี้ว่าหากไม่มีการผันผวนจากปัจจัยภายนอกจะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวการลงทุนที่ดีขึ้น” 

ทั้งนี้ นักลงทุนจะมีความเชื่อมั่นและขานรับนโยบายที่รัฐบาลประกาศให้การส่งเสริม เช่นเดียวกับการตอบรับมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ทำให้เห็นความเคลื่อนไหวของเอกชนหลายแห่งเริ่มลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับแบตเตอรี่และอีวี รวมไปถึงธุรกิจเกี่ยวกับบีซีจีที่เป็นเมกะเทรนด์โลก ซึ่งเอกชนต้องเร่งปรับตัว

สำหรับการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์และอีอีซีไอ จะสร้างความเชื่อมโยงเอื้อให้ภาคอุตสาหกรรมยกระดับการพัฒนา และปรับตัวที่เน้นเศรษฐกิจ บีซีจีเป็นแกนนำ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี คิดเป็น 21% ของจีดีพีของประเทศ โดยการยกระดับดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของภาคการผลิตของประเทศ เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้นได้อย่างมั่นคง

“หากโครงการเมกะโปรเจกต์ของอีอีซีเริ่มคิกออฟ อาทิ ท่าเรือและรถไฟฟ้าพร้อมเปิดบริการ ก็จะยิ่งเห็นภาพอุตสาหกรรมและซัพพลายเชนต่างๆ ที่ตามเข้ามาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยมีบริษัท บีวายดี จำกัด ค่ายรถรายใหญ่จากจีนประกาศลงทุนในอีอีซีแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการ”

นอกจากนี้ เมืองการบินภาคตะวันออกยังเป็นอีกโครงการที่เตรียมคิกออฟกลางปี 2565 โดยสกพอ.เปิดโอกาสอำนวยความสะดวก และช่วยชักชวนนักลงทุนต่างชาติให้เอกชนที่เป็นผู้ชนะประมูลโครงการดังกล่าวสามารถเจรจากับนักลงทุนที่สนใจเข้ามาลงทุนได้โดยตรง