ชาวปวดหลังถูกใจสิ่งนี้! เทคโนฯ ‘อินทราเซปต์’ ใช้ความร้อนระงับการปวด

ชาวปวดหลังถูกใจสิ่งนี้! เทคโนฯ ‘อินทราเซปต์’ ใช้ความร้อนระงับการปวด

บริษัทการแพทย์ Relievant Medsystems พัฒนาวิธีรักษาผู้ป่วยปวดหลังเรื้อรัง โดยใช้เทคโนฯ “อินทราเซปต์” ส่งคลื่นวิทยุความร้อนผ่านกระดูกไปจนถึงสมอง ยับยั้งอาการปวดหลัง

โตไปไม่ปวดหลังนะ” ประโยคฮิตใช้อวยพรบุคคลที่อายุเพิ่มมากขึ้น และมาพร้อมกับอาการปวดหลัง แต่แท้จริงแล้ว “ปวดหลัง” สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย 

ไลฟ์สไตล์ที่เกิดอาการปวดหลังเยอะที่สุดคงไม่พ้น มนุษย์ออฟฟิศ มนุษย์วัยทำงาน นักเรียน-นักศึกษา ตลอดจนผู้สูงอายุที่นั่งเป็นเวลานาน ๆ ส่งผลให้เกิดเป็นการปวดหลังแบบรื้อรังและเกิดโรคอย่าง “ออฟฟิศซินโดรม” ที่ตามมา

ขณะเดียวกันได้มีเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “อินทราเซปต์ (Intracept)” พัฒนาขึ้นโดยบริษัท รีลีฟแวนต์ เมดซิสเต็ม (Relievant Medsystems) ที่เชี่ยวชาญด้านด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ ทำงานโดยการส่งคลื่นวิทยุ และความร้อนไปยังบริเวณหลังส่วนล่าง ผ่านเส้นประสาทไปยังกระดูกสันหลัง และกระดูกส่วนอื่น ๆ จนไปถึงสมอง เพื่อช่วยยับยั้งอาการปวดหลัง 

ชาวปวดหลังถูกใจสิ่งนี้! เทคโนฯ ‘อินทราเซปต์’ ใช้ความร้อนระงับการปวด

วิธีการรักษาแบบอินทราเซปต์ จะถูกนำมาใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังแบบเรื้อรัง หรือคนที่รักษาด้วยวิธีการอื่นแล้วไม่หาย โดยใช้คลื่นวิทยุมาทำให้เส้นประสาทร้อนขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้ส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปที่ไขสันหลังก่อนที่จะส่งต่อไปยังสมอง ซึ่งกระบวนการรักษาทั้งหมดจะใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง

ทางทีมวิจัยได้ทดลองรักษาอาการปวดหลังให้กับผู้ป่วยจำนวน 140 คน พบว่า 31 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขา ไม่มีอาการปวดใน 24 เดือนหลังการรักษา ขณะที่อีกการทดลองกับผู้ป่วย จำนวน 48 คน พบว่า 69 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดลดลงครึ่งหนึ่ง และ 38 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยมีรายงานว่า ไม่มีอาการเจ็บปวดโดยสิ้นเชิงหลังผ่านไป 12 เดือน

นอกจากนี้ยังพบว่า 34 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วย ปราศจากความเจ็บปวด 5 ปีหลังการรักษา ซึ่งส่วนหนึ่งก็มาจากลักษณะเฉพาะของเส้นประสาท ซึ่งมีความแตกต่างจากเส้นประสาทอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถกลับมาถ่ายทอดความเจ็บปวดได้อีก

ชาวปวดหลังถูกใจสิ่งนี้! เทคโนฯ ‘อินทราเซปต์’ ใช้ความร้อนระงับการปวด

ซึ่งจากประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดด้วยอินทราเซปต์ ทำให้แพทย์ และผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลังนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ในศูนย์การแพทย์ต่างๆ ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงมหาวิทยาลัย Texas Southwestern Medical Center ก็เริ่มใช้เทคโนโลยีดังกล่าวรักษาผู้ป่วยเมื่อต้นปี 2022

“ทีมวิจัยจะดำเนินการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้ เพื่อปรับปรุงความสามารถในการบรรเทาอาการปวดหลังในผู้ป่วยเรื้อรังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น” Ankit Patel รองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์กายภาพและการฟื้นฟูสมรรถภาพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาอาการปวดนี้ คาดว่าจะช่วยทำให้ผู้ป่วยที่ต้องทนกับอาการปวดเรื้อรังสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ลดการใช้ยาแก้ปวด และหลีกเลี่ยงการผ่าตัดแก้ไขกระดูกสันหลัง

ที่มา: newatlas