Zara สลัดคราบแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เปิดตัว “แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสอง”

Zara สลัดคราบแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เปิดตัว “แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสอง”

Zara เปิดตัว “Pre-owned” แพลตฟอร์ม “ซื้อ-ขาย-ซ่อม-บริจาค” เสื้อผ้ามือสองของแบรนด์ ทิ้งภาพจำเสื้อผ้า Fast Fashion เปิดให้บริการในอังกฤษที่แรก 3 พ.ย. 65 นี้

เวลานี้ภาคอุตสาหกรรมนำเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) มาปรับใช้ในกระบวนการผลิต เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคที่ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกอาหาร เลือกที่อยู่อาศัย ข้าวของเครื่องใช้ ตลอดจน “เสื้อผ้า

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า “ฟาสต์แฟชั่น (Fast Fashion)” เป็นการผลิตเสื้อผ้าออกแบบตามเทรนด์ วัสดุที่นำมาผลิตไม่คงทน ซึ่งส่งผลกระทบไปสู่สิ่งแวดล้อมและการกดขี่แรงงาน เพราะยิ่งมีการผลิตที่รวดเร็วและกดต้นทุนมากเท่าไร ก็ยิ่งนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบวัสดุและแรงงานมนุษย์มากขึ้นเท่านั้น

ธุรกิจแฟชั่นจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยทำให้ “วงการเสื้อผ้า” นั้นมีกระบวนการผลิตที่ “ไม่รังแกโลก” มากยิ่งขึ้น หลังจากแบรนด์เสื้อผ้าชั้นนำอย่าง Zara ถูกจับตามองและถูกแปะโป้งในภาพจำว่าเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนฟาสต์แฟชั่น ขณะนี้กำลังล้างภาพจำนั้นสู่แบรนด์รักษ์โลก  

Zara สลัดคราบแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เปิดตัว “แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสอง”

ล่าสุด ได้เปิดตัวบริการ “Pre-owned” แพลตฟอร์ม “ซื้อ-ขาย-ซ่อม-บริจาค” เสื้อผ้ามือสองของ Zara ในแนวคิด “ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม” โดยจะเริ่มให้บริการที่ประเทศอังกฤษ 3 พ.ย. 65 นี้

ลูกค้าของ Zara สามารถนำเสื้อผ้าที่อาจจะซิปเสีย กระดุมหลุด ฯลฯ ไปซ่อมที่ร้านได้ โดยมีค่าใช้จ่ายตามสมควร และยังสามารถนำเสื้อผ้าที่ไม่ต้องการแล้วไปบริจาคที่เคาน์เตอร์ หรือถ้าอยากขายส่งต่อให้คนอื่น ก็สามารถทำได้เช่นกันด้วยการถ่ายรูปสินค้าพร้อมข้อมูลสินค้าอย่างละเอียด ลงประกาศขายในแอพพลิเคชั่นที่ Zara จะปล่อยออกมาพร้อมกัน

Paula Ampuero หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของ Zara กล่าวว่า แพลตฟอร์มนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยยืดอายุเสื้อผ้าของลูกค้า หนุนใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน (Circular Economy) นำเสื้อผ้าที่ไม่ใช้แล้วกลับมาส่งต่อให้คนอื่น ๆ แทนการซื้อใหม่

Zara สลัดคราบแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น เปิดตัว “แพลตฟอร์มเสื้อผ้ามือสอง”

แม้วิธีนี้จะไม่ได้ช่วยลดพฤติกรรมบริโภคมากเกินไปได้ แต่เธอก็หวังว่าสิ่งเล็ก ๆ แบบนี้จะช่วยเปลี่ยนวิธีคิดและพฤติกรรมของลูกค้าให้เห็นว่าการซ่อม บริจาค หรือซื้อขายเสื้อผ้ามือสองเป็นสิ่งที่ทำได้สะดวก และทำได้จริงในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้เสื้อผ้าที่สามารถใส่ได้อยู่มีจุดจบเป็นขยะที่ย่อยสลายได้ยากและสร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ Zara ไม่ได้เป็นแบรนด์เดียวที่ออกมาเคลื่อนไหว เพราะก่อนหน้านี้ แบรนด์ดังอย่าง กุชชี่ (Gucci) และเบอร์เบอรี่ (Burberry) ไนกี้ (Nike) หรือแบรนด์คู่แข่งอย่าง H&M ที่ออก “Sellpy” ร้านขายเสื้อผ้ามือสอง ก็ได้ทยอยออกแพลตฟอร์มแบบนี้ออกมาบริการลูกค้ากันบ้างแล้ว 

สิ่งสำคัญคือ หากภาคธุรกิจยังคงนิ่งเฉย ไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ และผลิตสินค้าของตนให้มีปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้นก็อาจจะอยู่ไม่รอดในระยะยาว 

ที่มา:  yahoo , theguardian , amarin , marketthink