ทำไม ‘แบรนด์หรู-ฟาสต์แฟชั่น’ ต่างนิยมใช้โลโก้ ‘นาซา’ 

ทำไม ‘แบรนด์หรู-ฟาสต์แฟชั่น’ ต่างนิยมใช้โลโก้ ‘นาซา’ 

ส่องเหตุผลที่บรรดาแบรนด์หรูไฮเอนด์ หรือ ฟาสต์แฟชั่น ต่างออกคอลเล็กชันเสื้อผ้า ลายโลโก้ “NASA” (นาซา) ทั้งสิ้น ซึ่งล้วนได้รับความนิยมอยู่เสมอจากผู้บริโภค แถมไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์ในการนำโลโก้มาใช้อีกด้วย

หากลองเดินไปในสถานที่คนพลุกพล่าน อย่างห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ท่องเที่ยว คุณจะต้องพบเห็นผู้คนสวมใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ “นาซา” (NASA) ติดอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืด แจ็คเก็ต กระเป๋าสะพาย ถุงผ้า หมวก รองเท้า หรือแม้กระทั่งเคสโทรศัพท์และหูฟัง

แล้วทำไมจู่ ๆ โลโก้ของหน่วยงานด้านอวกาศอย่าง นาซา ถึงมาเป็นไอเทมฮอตฮิตของวงการแฟชั่นได้ ?

ย้อนกลับไปปี 2560 COACH แบรนด์เสื้อผ้าลักชัวรีของสหรัฐเปิดสินค้าคอลเล็กชันชื่อว่า “COACH Space" ซึ่งทั้งเสื้อสเวตเตอร์ เสื้อยืด แจ็คเก็ต พวงกุญแจ ตลอดจนกระเป๋าถือ และได้ความนิยมอย่างมาก จนต้องออกคอลเล็กชันใหม่ในปีถัดมา

โลโก้ที่ COACH ติดต่อมาทางนาซาเพื่อขอใช้ในคอลเล็กชันดังกล่าว คือ “Worm” ซึ่งเป็นโลโก้แบบเก่าของนาซา ใช้ในช่วงปี 2518 - 2535 มีลักษณะเป็นตัวอักษร NASA สีแดง เส้นโค้งมนคล้ายกับหนอน โดยทางนาซาได้อนุมัติให้ใช้โลโก้นี้ในโอกาสพิเศษ และวัตถุประสงค์เพื่อการขายสินค้าเชิงพาณิชย์เท่านั้น

 

ทำไม ‘แบรนด์หรู-ฟาสต์แฟชั่น’ ต่างนิยมใช้โลโก้ ‘นาซา’  ​​​​โลโก้นาซาแบบ Worm


หลังจากนั้น นาซาก็นำ Worm กลับมาใช้อีกครั้งควบคู่กันไปกับโลโก้ “Meatball” ที่เป็นคำว่านาซาสีแดงอยู่ท่ามกลางดวงดาวบนพื้นที่น้ำเงิน 

ทำไม ‘แบรนด์หรู-ฟาสต์แฟชั่น’ ต่างนิยมใช้โลโก้ ‘นาซา’ 
โลโก้นาซาแบบ Meatball


ขณะเดียวกัน แบรนด์อื่น ๆ แห่ขออนุญาตใช้โลโก้นี้กันเป็นแถว ซึ่งการขออนุญาตก็ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอะไร เพียงแค่ส่งคำร้อง วัตถุประสงค์การใช้งาน รายละเอียด ไปทางอีเมลของแผนกนำสินค้าออกสู่ตลาดของนาซา

 

“ก่อนปี 2560 เราอนุมัติการยื่นขออนุญาตใช้โลโก้แค่ 5-10 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้เราต้องอนุมัติเฉลี่ยราว 225 ครั้งต่อสัปดาห์” เบิร์ต อุลริช ผู้ประสานงานด้านมัลติมีเดีย และดูแลการใช้โลโก้ของนาซา ในภาพยนตร์ โทรทัศน์ และบนเสื้อผ้า กล่าวกับสำนักข่าว BBC

ในปีที่ผ่านมา มีคำร้องขออนุญาตใช้โลโก้นาซากว่า 11,000 ครั้ง สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่เสื้อผ้าไปจนถึงแก้วกาแฟ แต่ไม่ใช่ทุกคำร้องที่ได้รับอนุมัติ

อุลริชทำหน้าที่ตรวจสอบคำร้องเหล่านั้นว่ามีการนำโลโก้ของนาซาไปใช้ในวัตถุประสงค์ที่สอดคล้องกับแนวทางการปฏิบัติด้านสุนทรียศาสตร์ของนาซาหรือไม่ เช่น ห้ามใช้สีที่ไม่ได้รับการรับรอง รวมถึงไม่ใช้โลโก้ไปทิศทางส่อให้เห็นว่านาซาเป็นผู้รับรองสินค้าหรือแบรนด์ดังกล่าว หากบริษัทใช้โลโก้ในทางที่ผิด สำนักงานกฎหมายของนาซา จะส่งจดหมายเพื่อให้ยุติการใช้งานโลโก้ทันที

เนื่องจากนาซาเป็นหน่วยงานของรัฐ ทรัพย์สินส่วนใหญ่ รวมถึงภาพถ่าย โลโก้ และแม้แต่การออกแบบเทคโนโลยี จึงกลายเป็น “สาธารณสมบัติ” ทำให้ผู้ยื่นคำร้องไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ นั่นหมายความว่านาซาก็ไม่สามารถทำรายได้จากส่วนนี้ได้

หลังจากที่ COACH ออกไลน์ผลิตภัณฑ์เครื่องแต่งกายของนาซา แบรนด์แฟชั่นอื่น ๆ ก็ออกคอลเล็กชันนาซาตามออกมานับไม่ถ้วนไม่ว่าจะเป็น Adidas, Swatch, Vans, H&M รวมถึงแบรนด์ระดับลักชัวรีอย่าง Heron Preston และล่าสุด Balenciaga ได้เปิดตัวไลน์ของตนเองเช่นกัน

แม้กระทั่ง “อารีอานา กรานเด” นักร้องชื่อดังที่มีเพลง NASA ก็ออกสินค้าที่มีสัญลักษณ์ของนาซามาจำหน่าย อาทิ หน้ากากผ้า เสื้อสเวตเตอร์ เสื้อฮู้ด

ไอเทมเท่ ๆ ของคนคูล ๆ

ก่อนหน้าที่ COACH จะได้ลิขสิทธิ์โลโก้ Worm ของนาซามาทำเป็นสินค้า นั้นก็มีบางแบรนด์ที่นำมาใช้ก่อนแล้ว โดยเด็ก ๆ ในนิวยอร์กมักจะหาซื้อเสื้อผ้าที่มีโลโก้ของนาซามาใส่ จากร้านเสื้อผ้ามือสองแนววินเทจ 

แจน ฮอลล์ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ของ Consortium เอเยนซีออกแบบในย่านบรูคลิน นครนิวยอร์ก ซึ่งทำงานเกี่ยวกับการออกแบบฉากและสไตล์สำหรับแบรนด์ต่าง ๆ กล่าวว่า เด็ก ๆ พวกนี้กำลังโหยหาความเป็นอเมริกันและเติมเต็มด้วยเสื้อผ้าที่มีสัญลักษณ์ของความเป็นอเมริกัน ซึ่งโลโก้นาซาก็เป็นหนึ่งในนั้น

“วัยรุ่นในเมืองอย่างนิวยอร์กที่สะสมของเล่นของ “ดิสนีย์” รุ่นเก่า ๆ หรือเสื้อยืดนาซารุ่นแรก ๆ บางร้านอย่าง Urban Outfitter ร้านเสื้อผ้ารวมแบรนด์(ที่ตอนนี้ปิดตัวไปแล้ว) ก็ถือโอกาสนี้รวมเสื้อผ้าแบบนี้ไว้ด้วยกัน พอเห็นว่ามีคนชอบ แบรนด์ต่าง ๆ เลยพากันทำเสื้อนาซาออกมาขายบ้าง มันเป็นเทรนด์แบบวิศวกรรมผันกลับ” 

ปรกติแล้วดีไซเนอร์ ผู้ออกแบบเสื้อผ้าแต่ละคอลเล็กชันของเสื้อผ้าแต่ละแบรนด์จะเป็นผู้กำหนดทิศทางเทรนด์แฟชั่นแต่ในฤดูกาล แต่กรณีของนาซานั้นแตกต่างออกไป เพราะเทรนด์นี้เริ่มจากความต้องการของผู้บริโภค จนแบรนด์ต่าง ๆ ต้องดีไซน์เสื้อผ้าที่มีโลโก้นาซาออกมา ฮอลล์จึงเรียกเทรนด์นี้ว่า “เทรนด์แบบผันกลับ

ฮอลล์กล่าวอีกว่า การใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้นาซา ไม่ได้เพียงแต่จะทำให้ผู้สวมใส่ดูเป็นคนเท่ ดูคูล หรือดูเป็นคนสนใจในเรื่องนอกโลกเท่านั้น แต่ยังแสดงถึงการมองโลกในแง่ดีอันเป็นแก่นแท้ของชาวอเมริกันที่เชื่อว่า สามารถทำได้ทุกอย่าง

“ผู้คนที่ทำงานให้กับแบรนด์ลักชัวรีอย่าง Heron Preston และ Balenciaga ต่างหลงใหลและมีจินตนาการเกี่ยวกับการเดินทางในอวกาศเหมือนกับคนอื่น ๆ ไม่มีใครไม่มีความฝันเหล่านี้ ดังนั้นมันจึงสมเหตุสมผลที่แบรนด์เหล่านี้จะต้องการสร้างสรรค์ออกมาในคอลเล็กชันสินค้าของตน”

สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะโลโก้ของนาซา แต่ยังรวมไปถึงโลโก้ของแบรนด์อเมริกันต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Balenciaga ที่คอลแลบกับ “The Simpsons” การ์ตูนขวัญใจชาวอเมริกัน หรือ COACH ที่ออกคอลเล็กชันร่วมกับ “Mickey Mouse” ตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์ของดิสนีย์

ทุกคนสามารถเข้าถึงโลโก้เหล่านี้ได้หมด โดยไม่คำนึงถึงสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวคิดทางการเมือง สามารถขายให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยม จนถึงกลุ่มอนุรักษนิยมในชนบทได้เหมือนกัน” ฮอลล์กล่าวทิ้งท้าย

ดังนั้น โลโก้เหล่านี้จึงเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์สากลที่เชื่อมทุกคนเข้าไว้ด้วยกัน แม้ว่าแต่ละคนอาจจะไม่ได้รับรู้เกี่ยวกับแบรนด์เสื้อผ้าเหล่านั้นเลยก็ตาม

และถึงแม้ว่านาซาจะพาเธอกลับมาไม่ได้ แต่เราซื้อเสื้อ “นาซา” มาใส่ได้นะ


ที่มาCNNHoustonia MagLos Angeles Times, NASA, SpaceThe Hustle