ฟีเจอร์ใหม่ “Traffy Fondue 2023” ร้องทุกข์ผ่านไลน์ มีอะไรน่าใช้?

ฟีเจอร์ใหม่ “Traffy Fondue 2023” ร้องทุกข์ผ่านไลน์ มีอะไรน่าใช้?

เนคเทค อัปเดตฟีเจอร์ “Traffy Fondue 2023” รับเรื่องร้องทุกข์ผ่านแชทบอทไลน์ เพิ่มเมนูให้ง่ายขึ้น สามารถยกเลิกเรื่องร้องเรียนได้ทุกเมื่อ พร้อมส่ง “Fondue Manager” สำหรับเจ้าหน้าที่ ใช้งานผ่านระบบไลน์ ไม่ต้องโหลดแอปเพิ่ม

หลังจากการเปิดตัวแพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ฟองดูว์) หรือที่ผวนคำมาจาก “ท่านพี่ฟ้องดู” นวัตกรรมที่เป็นเสมือน “กระดิ่งร้องทุกข์” ที่ให้ “ท่านพี่ ๆ” ในที่นี้หมายถึง “พี่ประชาชนทุกคน” เข้ามามีส่วนร่วมในการร้องเรียนและนำเสนอปัญหาภายในพื้นที่ต่าง ๆ โดยการเล่าปัญหาที่พบ ผ่าน LINE chatbot แบบอัตโนมัติ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความสะอาด ขยะ ไฟฟ้า ประปา ไฟถนนเสีย ทางเท้า อาคารสถานที่ชำรุด อุปกรณ์ครุภัณฑ์ชำรุด น้ำท่วม ไฟไหม้ เผาไหม้ สัตว์จรจัด ฯลฯ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครถือเป็นพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จจากการนำแพลตฟอร์มนี้ไปใช้งาน อ้างอิงจากการมีเรื่องรองเรียนจากประชาชนมากกว่า 1.4 แสนเรื่อง ซึ่งได้รับการแก้ปัญหาไปแล้วถึง 5 หมื่นเรื่อง

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่กรุงเทพมหานครที่นำนวัตกรรม Fondue ไปใช้ ก่อนหน้านี้ได้มีจังหวัดในประเทศไทยได้แก่ ภูเก็ต นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยนาท เทศบาลกว่า 375 แห่ง อบต.กว่า 350 แห่ง ตลอดจนนิคมอุตสาหกรรม 12 หน่วยงาน นำนวัตกรรมไปใช้จนเกิดเป็น Smart City ยกระดับการมีส่วนร่วมของพลเมือง ช่วยลดภาระการทำงานของเจ้าหน้าที่ และทำให้ลดช่องว่างระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับภาคประชาชน

โดยล่าสุดศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ได้อัปเดตฟีเจอร์ใหม่ สำหรับ “Traffy Fondue 2023” ผ่านการดีไซน์ตัวเมนูในแชทบอทให้ทันสมัยมากขึ้น ไทม์ไลน์เป็นระเบียบมากขึ้น มีเมนูสำหรับการยกเลิกการร้องเรียน ตลอดจนการเพิ่มฟังก์ชัน “Fondue Manager” สำหรับการรับเรื่องของเจ้าหน้าที่ผ่านระบบไลน์ โดยไม่ต้องโหลดแอปพลิเคชั่น ซึ่งเปิดใช้งานได้ตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

ฟีเจอร์ใหม่ “Traffy Fondue 2023” ร้องทุกข์ผ่านไลน์ มีอะไรน่าใช้?

  • ก้าวใหม่ของนวัตกรรม Traffy Fondue

วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ กลุ่มวิจัยการสื่อสารและเครือข่าย เนคเทค กล่าวว่า Traffy Fondue เกิดจากโครงการ Smart City ที่จ.ภูเก็ต โดยให้ประชาชนมาช่วยกันพูดถึงปัญหาขยะที่เขาพบเจอ เช่น ปัญหาขยะหน้าบ้าน ให้ประชาชนบอกจุด และเจ้าหน้าที่ลงไปแก้ไข ซึ่งเมื่อทำไปก็พบว่าประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างมาก เพราะเป็นปัญหาที่เขาเจอทุกวัน เขาเลยอยากให้เจ้าหน้าที่มาแก้ไข จึงคิดว่าเมื่อขยะทำได้ ปัญหาเมืองต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ จึงเกิดเป็น Traffy Fondue

Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มที่รับเรื่องแจ้งและบริหารจัดการปัญหา ช่วยลดขั้นตอน และลดค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหา โดยประชาชนสามารถแจ้งปัญหาและติดตามความก้าวหน้าการแก้ปัญหาผ่าน Line Application ด้วยเทคโนโลยีแชทบอท อีกทั้งใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยจำแนกปัญหาเพื่อส่งต่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และโปร่งใส ซึ่งผู้บริหารหน่วยงานหรือท้องถิ่นสามารถเห็นภาพรวมของปัญหา โดยแสดงข้อมูลทางสถิติเพื่อใช้วางแผนและพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Smart Government) 

“จุดประสงค์ของ Traffy Fondue คือการลดช่องว่างระหว่างการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชน เมื่อประชาชนเจอปัญหาไม่รู้จะไปแก้ที่ไหน ต้องเดินทางไปยังกรมหน่วยงานต่าง ๆ ใช้เอกสารมากมาย Traffy Fondue จึงเข้ามาช่วยให้พวกเขาสามารถแจ้งผ่านแอปในขณะนั้นได้ภายในเวลาไม่เกิน 1 นาที และทำให้เจ้าหน้าที่เห็นข้อมูลหน้างานที่ชัด ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น หน้าตาเป็นอย่างไร เกิดขึ้นที่ไหน และก็พร้อมที่จะเข้าไปแก้ไข นอกจากนี้ก็ช่วยให้ผู้บริหารสามารถมองภาพรวมของเมืองเพื่อที่จะสามารถนำมาบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ” วสันต์ กล่าว 

ฟีเจอร์ใหม่ “Traffy Fondue 2023” ร้องทุกข์ผ่านไลน์ มีอะไรน่าใช้?

ซึ่ง Traffy Fondue 2023 ที่เปิดใช้บริการวันที่ 9 กันยายน ได้อัปเดตฟังก์ชันใหม่ ๆ ดังนี้

  1. แชทบอทจะมีการดีไซน์ที่สวยงามมากยิ่งขึ้น เป็นอัลกอรึทึ่มที่อ่านง่าย ใช้สีเข้าใจง่าย ไทม์ไลน์เป็นระเบียบ มีรายการเมนูให้สามารถกดเข้าไปตามหมวดหมู่ต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงข้อมูลได้สะดวกรวดเร็ว  
  2. การแจ้งปัญหาจะง่ายขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากได้พัฒนาขั้นตอนการแจ้งในระบบที่มีความเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 
  3. เพิ่มฟังก์ชันประวัติการและสถิติของเรื่องนั้น ๆ เพื่อสามารถติดตามข่าวจากเจ้าหน้าที่ได้ และฟังก์ชันที่สามารถยกเลิกการแจ้งได้ทุกขั้นตอน 
  4. เปิดตัว Fondue Manager เป็นการทำให้การใช้งานของเจ้าหน้าที่ง่ายขึ้น เพราะเนื่องจากบางครั้งไม่สามารถโหลดแอปพลิเคชั่นได้จึงใช้งานผ่านระบบไลน์ ซึ่งจะเปิดตัวใช้งานวันที่ 10 ตุลาคม 2565 เวลา 10.10 น.
  • เสนอจัดทำแพลตฟอร์มกลางเพื่อเป็นฐานข้อมูล 

ไกลก้อง ไวทยการ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายท้องถิ่น มูลนิธิคณะก้าวหน้า กล่าวว่า ขณะนี้คณะก้าวหน้านำระบบ Traffy Fondue มาใช้แล้วใน 3 เทศบาล ได้แก่ เทศบาลตำบลอาจสามารถ อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด, เทศบาลตำบลเหมืองจี้ อ.เมือง จ.ลำพูน และเทศบาลทากาดเหนือ อ.แม่ทา จ.ลำพูน และภายในสัปดาห์หน้า จะมีการเริ่มทดสอบระบบและเตรียมใช้อีก 3 เทศบาล ใน จ.หนองบัวลำภู ได้แก่ เทศบาลตำบลบ้านโคก อ.สุวรรณคูหา เทศบาลตำบลเก่ากลอย อ.นากลาง และ เทศบาลตำบลนาคำไฮ อ.เมือง และเตรียมนำไปใช้ให้ครอบคลุมทุกเทศบาลในสังกัดคณะก้าวหน้า

“ในแต่ละเคสที่เข้ามาเราพยายามที่จะมอนิเตอร์ โดยจะบอกว่าทำไมปัญหานี้ถึงยังไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหานี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนอะไร เพื่อสื่อสารกับประชาชนให้เกิดความชัดเจน” 

นอกจากนี้ ยังเสนอแนวทางที่จะทำให้การใช้ Traffy Fondue มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยการ “จัดทำแพลตฟอร์มกลาง เพื่อทำให้เกิดฐานข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดการทรัพยากรได้ง่ายขึ้น เพราะในอนาคตข้างหน้าเมื่อมีปัญหาที่รอแก้มากขึ้นจะทำให้ง่ายต่อการจัดสรรงบประมาณการแก้ไข เช่น ปัญหาน้ำท่วม อาจจะต้องรื้อเพื่อทำท่อระบายใหม่น้ำ หรือการเลือกวางเครื่องสูบน้ำ เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวเพื่อความยั่งยืน เป็นต้น 

  • กระจายเทคโนโลยีสู่ต่างจังหวัด

ชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า หากไม่นับกรุงเทพมหานคร นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีประชากรอยู่ทั้งหมด 2.7 ล้าน และนครราชสีมาเป็นจังหวัดที่ยากลำบากในการบริหารพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ได้นำ Traffy Fondue มาใช้กับ 140 หน่วยงาน และจะขยายไปให้ถึง 414 หน่วยงานทั่วจังหวัด มีการร้องเรียนปัญหาราว 1,900 เรื่อง และดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว 500 กว่าเรื่อง ส่วนเรื่องที่เหลืออยู่ในส่วนของการรับเรื่องและการส่งต่อ 

ก่อนหน้านี้นครราชสีมามีการแก้ไขปัญหาแบบแมนนวล ประชาชนชนสามารถเสนอหรือร้องเรียนผ่านการประชุมหมู่บ้าน เสนอผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่การเสนอแบบเรียลไทม์ ดังนั้น จึงได้ทำความร่วมมือกับเนคเทคเพื่อนำแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาใช้ ซึ่งขอไปเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน และได้รับการยืนยันให้ใช้งานวันที่ 23 มิถุนายน 

การใช้ Traffy Fondue ให้เกิดประสิทธิภาพจะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน จึงได้มีการประชุมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ ส่วนราชการภูมิภาค 35 หน่วยงาน, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ. เทศบาล และอบต.) 334 แห่ง และหน่วยงานที่เกียวข้องส่วนอื่น ๆ รวมประมาณ 400 กว่าหน่วยงานที่ได้เข้ามาเป็นแอดมิน โคราชเป็นจังหวัดใหญ่ หากจะใช้คนเพียงไม่กี่คนคงไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง

“เราจึงจำเป็นจะต้องให้หลายหน่วยงานสามารถเข้าถึง Traffy Fondue เพื่อมาตอบสนองเรื่องร้องเรียนของประชาชนในจังหวัด สิ่งที่สำคัญคือ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องเป็นหัวหน้าหน่วยงานราชการคอยกำกับและดูแล ยกตัวอย่างเช่น หากมีปัญหาเรื่องไฟฟ้า มันก็มีหน่วยงานไฟฟ้าที่คอยดูแล แต่ผู้ว่าฯ ก็ต้องช่วยเข้ามาแก้ปัญหาด้วย ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดจะมีหน้าที่คอยดูแลทุกเรื่อง” 

ขณะนี้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการใช้งานส่วนราชการ เช่น การซับซ้อนในเรื่องของพื้นที่ เมื่อได้รับเรื่อง การไม่ทราบว่าเรื่องตรงนี้ใครจะเป็นผู้แก้ไข โดยในแอปจะขึ้นชื่อจังหวัด อำเภอ ตำบล เทศบาล ดังนั้น จะเกิดความสับสนว่าแท้จริงแล้วปัญหาตรงนี้เป็นส่วนความดูแลของใคร ทางแก้คือ ให้แต่ละหน่วยงานมาร่วมมือกัน ไม่ใช่การมาทะเลาะกันว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นของใคร ต้องสื่อสารและประสานงานกันอย่างชัดเจน 

  • กระจกสะท้อนการทำงานของภาครัฐ 

ศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า วิธีการรับมือกับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากคือ การกระจายอำนาจไปผู้ที่ดูแลเพื่อมาร่วมมือปัญหาต่าง ๆ ที่ประชาชนร้องเรียนเข้ามา และก็ยังประสานงานไปยังหน่วยงานภายนอกอื่น ๆ ให้เข้ามาช่วยกัน เช่น หน่วยงานตำรวจ สำนักงานโยธา ฯลฯ และในอนาคตจะมีการกระจายงบประมาณให้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเขตที่อยู่ใกล้ประชาชนได้เข้าถึงการแจ้งปัญหาได้ง่ายขึ้น 

“สิ่งที่สำคัญคือ เราต้องมีการให้รางวัลกับคนที่ปฏิบัติได้ดี เช่น คำชมเชย ทางกทม.เช็คเคสที่เสร็จสิ้นทุกเคส เช็คไปจนถึงว่ารูปภาพที่ปิดงานเป็นของจริงหรือเปล่า คำบรรยายพอหรือไม่ เป็นสถานที่ที่ประชาชนร้องเรียนมาจริง ๆ ใช่ไหม ซึ่ง Traffy Fondue จะนำมาเป็นการประเมินงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ว่า มีการวิ่งเข้าหาประชาชนมากน้อยแค่ไหน” 

ทางด้าน พ.ต.อ.สุกิจ อรุณฤกษ์ถวิล รองผู้บังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการตำรวจจราจร กองบัญชาการตำรวจนครบาล เล็งเห็นความสำคัญของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเช่นเดียวกัน โดยกล่าวว่า Traffy Fondue เป็นการสื่อสารแบบ Two Way Communication ประชาชนสามารถโต้ตอบเจ้าหน้าที่ เป็นเสมือนกระจกที่คอยสะท้อนการทำงานของภาครัฐ

“เคยมีเคสที่ประชาชนร้องเรียนเรื่องการตรวจแอลกอฮอล์บนถนน ประชาชนก็ถามเข้ามาว่าเครื่องเป่าที่นำมาใช้สะอาดหรือไม่ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถตรวจเช็คกับตนเองได้ ซึ่งเป็นกระจกส่องการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ประเด็นถัดไปที่เราต้องโฟกัสคือ ต้องทำให้ผู้ปฏิบัติงานรับรู้ปัญหาให้รวดเร็วที่สุด เพื่อส่งเรื่องไปดำเนินงานแก้ไขต่อไป” พ.ต.อ.สุกิจ กล่าว