วว. ส่ง “นวัตกรรมตรวจวัดน้ำหนักรถไฟ” เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งทางราง

วว. ส่ง “นวัตกรรมตรวจวัดน้ำหนักรถไฟ” เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งทางราง

วว. พัฒนาระบบและอุปกรณ์ใช้ตรวจวัดน้ำหนักรถไฟและติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางราง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยในการการขนส่งสินค้า ช่วยลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติในอนาคต

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) พัฒนาระบบอุปกรณ์วัดน้ำหนักรถไฟแบบพลวัตร ที่สามารถตรวจวัดน้ำหนักรถไฟและน้ำหนักของตู้สินค้าได้ขณะแล่นบนราง และสามารถติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมต่อกับการขนส่งทางถนนได้ โดยได้รับงบสนับสนุนจากกองทุน Perez-Guerrero Trust Fund หรือ PGTF ภายใต้โปรแกรมการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) 

มีการตั้งเป้าติดตั้งอุปกรณ์เพื่อใช้งานใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า เสริมความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางระบบรางและทางถนน ลดการพึ่งพาเทคโนโลยีต่างชาติในอนาคต

วว. ส่ง “นวัตกรรมตรวจวัดน้ำหนักรถไฟ” เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งทางราง

พร้อมต่อยอดการใช้จริงให้กับหน่วยงานรถไฟของประเทศไทย เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งเสริมการผลิต local content ระบบรางให้แก่ผู้ประกอบการไทย ในด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการเดินรถขนส่งทางราง

ทั้งนี้ ได้ริเริ่มพัฒนาเทคโนโลยีตรวจติดตามและเฝ้าระวังทางระบบรางเพื่อเสริมสมรรถนะงานซ่อมบำรุง จนประสบผลสำเร็จในการวิจัยและพัฒนา “ระบบและอุปกรณ์วัดน้ำหนักพลวัตรของล้อรถไฟ” หรือ TWD โดยเป็นงานระบบตรวจวัดน้ำหนักรถไฟแบบพลวัตร ซึ่งสามารถวัดน้ำหนักรถไฟและตู้สินค้าได้อย่างแม่นยำขณะแล่นบนราง และสามารถใช้ติดตามตู้คอนเทนเนอร์ขนส่งสินค้าทางรางเชื่อมต่อกับการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ทางถนนได้อีกด้วย

โดยระบบนี้จะเสริมประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการขนส่งสินค้าทางระบบรางและทางถนน ส่งเสริมการผลิต local content ระบบรางให้แก่ผู้ประกอบการไทยในด้านเทคโนโลยีสนับสนุนการเดินรถขนส่งทางราง 

วว. ส่ง “นวัตกรรมตรวจวัดน้ำหนักรถไฟ” เพิ่มประสิทธิภาพขนส่งทางราง

ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อนำเสนอรายละเอียดคุณลักษณะของอุปกรณ์และขออนุมัติติดตั้งเพื่อสาธิตการใช้งานอุปกรณ์วัดน้ำหนักรถไฟ ติดตามสถานะและระบุคุณลักษณะรถไฟ ให้แก่คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดย ศทร. ได้นำเสนอภาพรวมภารกิจการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่  

  1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการทดสอบระบบราง  
  2. การสนับสนุนผู้ประกอบการไทย  
  3. การยกร่างมาตรฐานระบบรางไทย  
  4. การวิจัยพัฒนาของ ศทร. ซึ่งมุ่งเน้น Industrial research ในด้าน Operation & Maintenance (O&M) 
  5. การถ่ายทอดเทคโนโลยี 

นอกจากนี้ ได้นำเสนอภาพรวมของโครงการติดตั้งระบบตรวจวัดน้ำหนักฯ ในเส้นทางการขนส่งสินค้าทางรางสายตะวันออก สถานีแหลมฉบัง – สถานี ICD ลาดกระบัง โดยจะมีการติดตั้งอุปกรณ์น้ำหนักพลวัตรของล้อรถไฟและ TWD จำนวน 2 สถานี และติดตั้งอุปกรณ์ IDENT ที่ประกอบด้วยกล้องระบุคุณลักษณะ 2 สถานี และอุปกรณ์ระบุตำแหน่งรถจักรจำนวน 3 สถานี ซึ่ง ศทร. ได้เข้าไปสำรวจความพร้อมของสถานีต่างๆ ในเส้นทางดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว