‘อีคอมเมิร์ซอาเซียน’ ทุบสถิติใหม่ รับแรงหนุน ‘ชำระเงินดิจิทัล’

‘อีคอมเมิร์ซอาเซียน’ ทุบสถิติใหม่ รับแรงหนุน ‘ชำระเงินดิจิทัล’

ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 11.21 ล้านล้านบาท หรือราว 325,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2571

รายงานล่าสุดจาก “ไอดีซี” หัวข้อ “พฤติกรรมการซื้อของและชำระเงินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2568 (How Southeast Asia Buys and Pays 2025)”  ที่จัดร่วมกับ ทูซีทูพี (2C2P) และแอนทอม แพลตฟอร์มการชำระเงินอันดับโลกพบว่า

ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตจนมีมูลค่าสูงถึง 11.21 ล้านล้านบาท หรือราว 325,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2571

สำหรับปัจจัยสนับสนุน มาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการชำระเงินดิจิทัลและการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการปลดล็อคเพิ่มโอกาสของธุรกิจการค้าข้ามพรมแดนให้มากขึ้นกว่าเดิม

กล่าวได้ว่า แนวโน้มการเติบโตที่โดดเด่นของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้รับแรงขับเคลื่อนโดยภาคอีคอมเมิร์ซที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันมีปัจจัยหนุนจากการใช้ระบบชำระเงินดิจิทัลที่เพิ่มขึ้น

ไอดีซีคาดการณ์ว่า ภายในปี 2571 การชำระเงินดิจิทัลจะมีสัดส่วนถึง 94% ของการชำระเงินทั้งหมดในตลาดอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จุดเปลี่ยน ‘ชำระเงินดิจิทัล’

ส่วนของ ประเทศไทย คาดว่าวิธีการชำระเงินสำหรับธุรกรรมอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนแปลงของส่วนแบ่งตลาดระหว่างปี 2566 ถึง 2571 โดยบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง (+3%), กระเป๋าเงินมือถือ (0%), ระบบชำระเงินในประเทศ (+4%),บัตร (+1%), อื่นๆ (-7%)

ด้านการยอมรับวิธีการชำระเงินต่างๆ ของร้านค้าในปี 2567 พบว่า 79% รับบัตรเครดิต/เดบิต, 75% รับการชำระเงินออฟไลน์ (เก็บเงินปลายทาง/ชำระที่เคาน์เตอร์), 58% รับกระเป๋าเงินมือถือ/e-wallets, 37% รับการโอนเงินผ่านธนาคาร, 29%รับการชำระเงินแบบเรียลไทม์/QR, 10% รับการชำระเงินผ่านบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง

สำหรับร้านค้าสังเกตแนวโน้มการใช้วิธีการชำระเงินใหม่ๆ เช่น บริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง ที่เพิ่มขึ้น ในช่วง12 เดือนที่ผ่านมา 35% ของร้านค้าพบว่าความนิยมของบริการซื้อก่อน จ่ายทีหลัง เพิ่มขึ้น, 34% ของร้านค้าสังเกตเห็นความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับการชำระเงินแบบไร้สัมผัส, 33% ของร้านค้าสังเกตเห็นความสนใจที่เพิ่มขึ้นในการใช้สกุลเงินดิจิทัลสำหรับธุรกรรม

ไอดีซีวิเคราะห์ว่า การชำระเงินแบบไร้สัมผัส การชำระเงินด้วยเสียง และโซลูชันการชำระเงินข้ามพรมแดน เป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตในอนาคต

โดย 32% ของร้านค้าระบุว่าการชำระเงินแบบไร้สัมผัสเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจในอนาคต, 30% ของร้านค้าระบุว่าการชำระเงินด้วยเสียงเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจในอนาคต, 27% ของร้านค้าระบุว่าโซลูชันการชำระเงินข้ามพรมแดนเป็นกลยุทธ์สำคัญต่อธุรกิจในอนาคต

พบด้วยว่า ตลาดการชำระเงินแบบไร้สัมผัสในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ในปี 2566 ไอดีซีประเมินไว้ว่ามีเพียง 55% ของระบบ POS ในประเทศไทยรองรับ NFC เมื่อเทียบกับมาเลเซียที่ 93% และสิงคโปร์ที่ 95%

‘อาเซียน’ ศูนย์กลางดิจิทัลโลก

แอกเนส ฉัว กรรมการผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของ ทูซีทูพี กล่าวว่า ภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ผู้ค้าต่างตระหนักถึงโอกาสมหาศาลจากการเติบโตนี้ ซึ่งช่วยขับเคลื่อนรายได้จากอีคอมเมิร์ซ

ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญกับความซับซ้อนที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินธุรกิจ เช่น การให้บริการแก่ผู้บริโภค การแก้ไขปัญหา การผสานระบบช่องทางชำระเงิน และปัญหาทางเทคโนโลยี

แกรี่ หลิว ผู้จัดการทั่วไป แอนทอม - แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านดิจิทัลคอมเมิร์ซและนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว

ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องอาศัยระบบธุรกรรมที่ราบรื่นและมีประสิทธิภาพในการขยายการเติบโตข้ามพรมแดน และเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยแอนทอมมองว่าระบบการชำระเงินไม่ได้เป็นเพียงโครงสร้างพื้นฐาน แต่เป็นตัวเร่งการเติบโตของธุรกิจ