มาตามนัด! สภาผู้บริโภคฯ ยื่นหนังสือค้านประมูลคลื่นมือถือ

มาตามนัด! สภาผู้บริโภคฯ ยื่นหนังสือค้านประมูลคลื่นมือถือ

สภาผู้บริโภคฯ ยื่นหนังสือค้านประมูลคลื่นมือถือ หลังบอร์ด กสทช.จัดประมูลคลื่นมือถือ ชี้ไร้การแข่งขัน เพราะมีผู้ให้บริการเพียงสองราย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 มี.ค.68) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดย น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการ ด้านการสื่อสาร โทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค และ นายอิฐบูรณ์ อันวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค

ได้เข้ายื่น หนังสือถึง นายสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.เพื่อให้ชะลอ การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ หลังจาก บอร์ด กสทช. ได้เห็นชอบกำหนดกรอบระยะเวลา ในการประมูลวันที่  17-18 พ.ค.2568 ตามประกาศหลักเกณฑ์ ประมูลคลื่นความถี่ฯ โดยมี พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำ ประธาน กสทช. เป็นตัวแทนรับมอบ

โดยยกเหตุผลว่า การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่ อาจไม่เป็นธรรมหรือไม่ เมื่อผู้ให้บริการเหลือเพียง 2 ราย แต่มีการเปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ ประมูลคลื่นความถี่ พร้อมกัน 6 คลื่น รวม 450 MHz มูลค่า 1.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ย่าน 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz โอกาสในการแข่งขันจึงแทบไม่เหลือ ส่งผลให้ตลาดโทรคมนาคมอาจขาดแรงจูงใจในการแข่งขัน และพัฒนา และผู้บริโภคอาจได้รับผลกระทบจากค่าบริการและคุณภาพที่ไม่เป็นธรรม 

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า สภาผู้บริโภคมีความกังวลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของ กสทช. ที่มีมติให้จัดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกันถึง 6 ย่านความถี่ และทราบว่าในการประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ (12 มี.ค.68) กสทช. จะมีการอนุมัติร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ ดังนั้น สภาฯ ผู้บริโภคจึงมายื่นหนังสือคัดค้านก่อนการประชุมดังกล่าว เพื่อเรียกร้องให้ชะลอ พร้อมทบทวนหลักเกณฑ์ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

“การมายื่นคัดค้านถึง กสทช. เนื่องจากสภาฯ ผู้บริโภคมองว่าการประมูลครั้งนี้อาจส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคม โดยเฉพาะเมื่อมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงสองรายหลัก อีกทั้งการประมูลดังกล่าวไม่มีหลักประกันที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคจะได้รับประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นด้านคุณภาพบริการ ราคา หรือความคุ้มครองจากภาครัฐ และอาจนำไปสู่การผูกขาดที่กระทบต่อผู้บริโภคในระยะยาว” 

 

 

น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า สำหรับสาเหตุหลักที่สภาผู้บริโภคเสนอให้มีการชะลอการประมูลคลื่นความถี่ 2 ประเด็นหลัก ดังนี้

1. การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้อาจไม่มีการแข่งขันที่แท้จริง เนื่องจากมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียงสองรายเท่านั้น คือ ทรู คอร์ปอเรชั่น และ เอไอเอส ซึ่งเกิดจากการที่ กสทช. อนุญาตให้มีการรวมกิจการในธุรกิจโทรคมนาคมก่อนหน้านี้ ผลการวิจัยจาก 101 Public Policy Think Tank พบว่า ผู้บริโภคที่ใช้บริการจากสองค่ายนี้ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.9% หรือราว 100 บาทต่อคนต่อเดือน 

เมื่อเปรียบเทียบกับค่าบริการก่อน และหลังการรวมกิจการ ซึ่งแพ็กเกจราคาถูกที่สุดในปี 2565 ที่ราคา 299 บาท/เดือน หายไป และกลายเป็น 399 บาท/เดือน แทน ดังนั้น การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ที่มีทั้งหมด 6 ย่านความถี่ จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพ และราคาของบริการที่ผู้บริโภคต้องรับในอนาคต ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

2. การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้ไม่มีการกำหนดเพดานราคาค่าบริการสูงสุดที่เหมาะสมกับปริมาณ และคุณภาพการบริการที่จะเก็บจากผู้บริโภค รวมถึงผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) ที่ต้องแข่งขันในตลาดเดียวกัน ซึ่งหมายความว่า ไม่มีการรับประกันว่า ผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับความคุ้มครองอย่างเป็นธรรมจากการประมูลครั้งนี้ในตลาดที่มีผู้ประกอบการรายใหญ่เหลือแค่สองรายเท่านั้น

เธอ เสริมว่า ทางสภาฯ ผู้บริโภค ต้องการให้ กสทช.ทบทวน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีหลักประกันว่า การประมูลครั้งนี้ จะมีมาตรการที่คุ้มครองผู้บริโภค หรือไม่ หลังจากมีตัวอย่างจากการควบรวมทรู และ ดีแทค 2 ปี แต่ กสทช.ยังกำกับดูแลได้ไม่เท่าที่เคยประกาศ หรือ มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนด ไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ การประมูลคลื่นครั้งใหม่นี้ ทางสภาฯ ผู้บริโภค จึงอยากให้มีการนำเรื่องมาคุยกันทุกฝ่าย หาทางออกโดยเฉพาะได้ข่าวว่าจะมีการลดราคาขั้นต่ำลงอีก จึงยิ่งเป็นการเอื้อให้เอกชนหรือไม่ 

“การมายื่นหนังสือครั้งนี้ เป็นการทำตามกระบวนการ หาก กสทช. ไม่มีการพิจารณาทบทวน ถึงที่สุดแล้วทางสภาผู้บริโภค ก็คงต้องพึ่งศาลปกครองเป็นทางเลือกสุดท้าย แต่ เราก็ไม่อยากให้ต้องดำเนินการถึงขั้นนั้น”  น.ส.สุภิญญา กล่าว

ด้าน พล.อ.สิทธิชัย มากกุญชร  กล่าวว่า หลังรับหนังสือ ทางสำนักงาน กสทช. จะนำเรื่องส่งไปยังสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม เพื่อนำเรื่องเสนอต่อบอร์ดกสทช.ทุกท่าน หลังจากนั้นก็ต้องมีการนำเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. เพื่อให้พิจารณาหนังสือดังกล่าว  ว่าจะสั่งการว่าอย่างไร เพราะโดยปกติแล้ว เมื่อมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคแล้ว ต้องมีการนำเรื่องเข้าที่ประชุม กสทช. 

ด้าน นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์  กรรมการ กสทช. ด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า การยื่นเรื่องคัดค้านการประมูลคลื่นความถี่ พร้อมกัน 6 คลื่น ของ สภาผู้บริโภคนั้น คงต้องเป็นเรื่องที่ต้องนำเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช. ก่อนว่า ทางบอร์ด กสทช. แต่ละท่านจะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์