ทักษะด้านเอไอกับทักษะด้านดิจิทัล : ความแตกต่างที่ต้องเข้าใจ

ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เอไอได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา รวมถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ
ทุกวันนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เอไอได้ก้าวเข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมากในชีวิตประจำวันของเรา จนกลายเป็นหัวใจสำคัญในการทำงาน รวมถึงการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ ทักษะด้านเอไอ (AI Literacy) หรือการมีความเข้าใจเกี่ยวกับเอไออย่างรอบด้าน ได้กลายเป็นทักษะสำคัญที่สังคมไม่อาจมองข้าม แต่หลายคนก็ยังเข้าใจว่า ทักษะด้านเอไอเป็นส่วนหนึ่งของ ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Literacy) และการมีทักษะด้านดิจิทัลก็ครอบคลุมถึงด้านเอไออยู่แล้ว แต่แท้จริงแล้วทักษะด้านเอไอมีความแตกต่างกับทักษะด้านดิจิทัลอยู่พอควร และคนในยุคปัจจุบันก็ควรจะมีทักษะทั้งสองด้าน จึงสามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพในโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
ทักษะด้านดิจิทัล หมายถึงการมีทักษะพื้นฐานในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล การค้นหาข้อมูลออนไลน์ การสร้างสรรค์เนื้อหา การปกป้องข้อมูลส่วนตัว และอื่นๆ อีกมากมาย หากเปรียบเทียบให้เห็นง่ายๆ ทักษะด้านดิจิทัลก็คือ ทักษะ “อ่านออก เขียนได้” ในยุคออนไลน์ ที่ช่วยให้เรารู้จักกลั่นกรองข้อมูลในโลกออนไลน์ มีความตระหนักและรู้จักป้องกันตัวเองจากภัยไซเบอร์ และใช้เครื่องมือดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในสังคมสมัยใหม่ เพราะโลกออนไลน์ได้กลายเป็นอีกมิติหนึ่งของการสื่อสาร การทำงาน และการเข้าสังคม
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทคโนโลยีเอไอรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ทักษะพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เรามีก็ยังไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะเอไอได้แทรกซึมเข้าไปในงานและแง่มุมต่างๆ ของชีวิตอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่ระบบแนะนำสินค้าออนไลน์ โฆษณาที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล หรือแม้กระทั่งระบบวิเคราะห์เชิงการแพทย์ที่ใช้ช่วยวินิจฉัยโรค การพูดคุยกับผู้ช่วยอัจฉริยะบนสมาร์ตโฟน และโปรแกรมเอไอในการแปลภาษา ล้วนเป็นผลิตผลจากเอไอทั้งสิ้น
รวมถึงการเข้ามาของ Generative AI อย่างโปรแกรม ChatGPT ที่สามารถสร้างเนื้อหาได้เอง ทำให้การที่เรามีความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลต่างๆ แบบเดิม จึงไม่ได้เป็นการรับประกันว่าเราจะเข้าใจการทำงานของเอไอ หรือสามารถใช้มันได้อย่างถูกต้องและมีความรับผิดชอบ
เมื่อพูดถึงทักษะด้านเอไอ หลายคนอาจจินตนาการไปถึงการเขียนโค้ดหรือการวิจัยเชิงลึกในเรื่องของอัลกอริทึมอย่างการ Machine Learning ที่ดูเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญไอทีเท่านั้น แต่ทักษะด้านเอไอเป็นเรื่องของคนทั่วไป ที่เน้นถึง “ความเข้าใจภาพรวม” ของเอไอในหลายระดับ
ซึ่งมีด้วยกันหลายองค์ประกอบ ตั้งแต่ความรู้พื้นฐานว่าเอไอ มีหลักการทำงานอย่างไร เช่น อัลกอริทึ่มทำงานแบบไหน จนถึงทักษะในการปรับใช้เอไอในชีวิตจริง เช่น การใช้เครื่องมือ Generative AI การใช้โปรแกรมตรวจจับใบหน้า ระบบตอบข้อความอัตโนมัติ หรือโปรแกรมช่วยคัดกรองใบสมัครงานมาใช้
นอกจากนี้ ยังต้องรวมถึงมุมมองด้านจริยธรรมด้วย เพราะเมื่อเอไอสามารถเรียนรู้และคาดการณ์อนาคตได้จากข้อมูลมหาศาล เราในฐานะผู้ใช้งานจึงต้องรู้จักตรวจสอบที่มาของข้อมูล ฝึกคิดเชิงวิพากษ์ และไตร่ตรองว่าการตัดสินใจที่ได้จากเอไอนั้นอาจมี “อคติ” แอบแฝงอยู่หรือไม่
โดยเราอาจไม่จำเป็นต้องรู้ลึกว่าคณิตศาสตร์เบื้องหลังโมเดลเอไอเป็นอย่างไร แต่เราควรเข้าใจระดับหนึ่งว่าการทำงานของโมเดลเอไอซึ่งเปรียบเสมือน “กล่องดำ” (Blackbox) ไม่ได้สมบูรณ์แบบ และอาจตัดสินใจอย่างผิดพลาดได้ หากเราป้อนข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีลักษณะเอนเอียง
ในบริบทของชีวิตประจำวัน การมีทักษะด้านเอไอจะทำให้เราใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างรอบคอบมากขึ้น เช่น เวลาเราเลือกดูหนังหรืออ่านข่าวสารบนแพลตฟอร์มที่มีระบบแนะนำ (Recommendation System) เราจะรู้ว่าเอไอกำลังวิเคราะห์พฤติกรรมการดูหรือการอ่านในอดีตของเรา แล้วจึงเดาว่าเราน่าจะชอบอะไร อาจสังเกตเห็นได้ว่าบางครั้งเอไอก็มักจะวนเวียนแนะนำสิ่งเดิมๆ หรือสิ่งที่สอดคล้องกับมุมมองของเรา จนทำให้เราติดอยู่ใน “ฟองสะท้อนความคิดเห็น” (Filter Bubble) ที่มีโอกาสลดทอนการรับข้อมูลใหม่ๆ
หากเราตระหนักในจุดนี้ ก็อาจขวนขวายลองหาเนื้อหาอื่นๆ ที่ต่างไปจากเดิมเพื่อเปิดโลกทัศน์ หรือหากใช้โปรแกรม Generative AI ก็ต้องรู้จักตรวจทาน ไม่ใช่เชื่อทุกอย่างที่โปรแกรมให้ผลลัพธ์ออกมา
ในด้านการทำงานทักษะด้านเอไอจะเป็นทักษะที่หลายองค์กรให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อเทคโนโลยีเอไอได้เข้ามาช่วยในการทำงานหลายเรื่อง ทั้งด้านการสร้างเนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลและตัดสินใจหลายเรื่องแทนมนุษย์ คนทำงานจึงจำเป็นต้องมีความสามารถในการวิเคราะห์ค่าผลลัพธ์ที่ได้จากเอไอ และกล้าตั้งข้อสงสัยเมื่อพบว่ามีสิ่งผิดปกติ
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณามิติทางจริยธรรมด้วย เช่น หากบริษัทของเรานำเอไอมาใช้คัดกรองผู้สมัครงาน เราต้องตั้งคำถามว่าเอไอมีมาตรฐานการประเมินที่เป็นกลางจริงหรือไม่ ชุดข้อมูลที่ใช้เทรนเอไอครอบคลุมผู้สมัครทุกกลุ่มหรือไม่ การขาดทักษะด้านเอไออาจนำไปสู่การตัดสินใจที่ไม่เป็นธรรมและเลือกปฏิบัติ (Bias) ได้โดยไม่รู้ตัว
สิ่งที่น่ากังวลอีกอย่างคือ การขาดทักษะที่อาจทำให้เราหลงเชื่อเอไอมากเกินไป หรือใช้งานเอไอในทางที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น เช่น การใช้โปรแกรมสร้างภาพเหมือนหรือปรับแต่งใบหน้า (Deepfake) เพื่อบิดเบือนข่าวสาร หรือแม้แต่ใช้สร้างโปรไฟล์ปลอมในโซเชียลมีเดียเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง หากผู้ใช้ไม่ตระหนักถึงมิติทางศีลธรรมและกฎหมาย เมื่อนั้นเทคโนโลยีที่ควรจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามสังคมได้
หากจะเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ทักษะด้านดิจิทัลคือ ทักษะที่สอนให้เรารู้จักโลกออนไลน์ในเชิงของ “การใช้เครื่องมือ” และ “การสื่อสาร” ขณะที่ ทักษะด้านเอไอก้าวไปอีกระดับหนึ่ง คือการเข้าใจว่าเครื่องมือนั้น “คิดและตัดสินใจ” อย่างไร ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากกระบวนการเรียนรู้ของเอไอหรือไม่ ความน่าเชื่อถือของมันอยู่ตรงไหน และถ้าเอไอทำงานผิดพลาด ใครจะต้องรับผิดชอบ
เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นที่อยู่ในขอบเขตของทักษะด้านเอไอซึ่งแน่นอนว่ามีความซับซ้อนมากกว่า
สิ่งที่สำคัญคือ แม้ทั้งทักษะด้านดิจิทัลและทักษะด้านเอไอจะเป็นคนละเรื่อง แต่ในความเป็นจริง ทักษะทั้งสองอย่างก็มีความเกี่ยวพันและเกื้อหนุนกัน การเข้าใจโลกดิจิทัลเป็นพื้นฐานสำหรับไปสู่การเข้าใจเอไอเพราะหากเราไม่รู้จักวิธีตรวจสอบความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ ไม่รู้จักวิธีปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล และไม่เข้าใจการสื่อสารออนไลน์ เราจะไม่สามารถตรวจสอบกระบวนการคิดของเอไอได้
การจะตรวจสอบว่าเอไอมีอคติหรือไม่ ก็ต้องเริ่มจากการรู้ว่าข้อมูลที่เอไอได้รับนั้นมาจากที่ไหน เราอาจต้องสืบค้นข้อมูลหรือเปรียบเทียบข้อมูลหลายแหล่ง ซึ่งตรงนี้เป็นทักษะดิจิทัลโดยตรง ดังนั้น การพัฒนาทักษะด้านเอไอต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการมีทักษะด้านดิจิทัลที่แข็งแกร่ง
การมีทักษะด้านเอไอไม่ใช่เรื่องของผู้ใหญ่หรือคนทำงานเท่านั้น แต่ควรเริ่มตั้งแต่วัยเรียน เพราะโลกอนาคตจะมีเอไอเป็นส่วนประกอบหลักของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นการผลิต การตลาด การแพทย์ การขนส่ง หรือแม้แต่แง่มุมเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน การที่เด็กและเยาวชนจะเติบโตมาเป็นพลเมืองดิจิทัลที่รู้เท่าทันเทคโนโลยี จึงจำเป็นต้องมีการบรรจุหลักสูตรหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเอไอ ลงในแผนการเรียนรู้ ไม่ใช่เพื่อให้ทุกคนต้องกลายเป็นวิศวกรคอมพิวเตอร์ แต่เพื่อให้ทุกคนมี “วิจารณญาณ” ในการใช้และอยู่ร่วมกับเอไออย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบ
ความท้าทายที่ปรากฏในยุคนี้คือ การพัฒนาเอไอเติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ภาคการศึกษาและภาคธุรกิจอาจวิ่งตามไม่ทัน และยังไม่ได้วางแผนการพัฒนาทักษะด้านเอไออย่างเป็นระบบ หลายคนอาจยังไม่แน่ใจว่าควรเรียนรู้เอไอในระดับไหนถึงจะเพียงพอ แม้แต่สถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งก็ยังมองว่าทักษะด้านเอไอเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของทักษะด้านดิจิทัล
ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาคการศึกษาต้องมีความเข้าใจความแตกต่างระหว่างทักษะด้านเอไอกับทักษะด้านดิจิทัล และอาจต้องมีการเรียนการสอนทักษะด้านเอไอตั้งแต่เล็ก เพราะมันไม่ใช่แค่ทักษะเสริมที่มีหรือไม่มีก็ได้อีกต่อไป แต่เป็นทักษะที่จะวางพื้นฐานให้เด็กเติบโตมายืนหยัดได้ในโลกอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาประดิษฐ์อย่างเป็นวงกว้าง