'ดีอี' ปักธงปี 68 ภาครัฐใช้ “ระบบอี-ออฟฟิศ” ครบ 1 ล้านยูสเซอร์

กระทรวงดีอี ชวนหน่วยงานรัฐ ก้าวสู่ สังคมไทยไร้กระดาษ เผยหลังเปิดขณะนี้มีให้หน่วยงานรัฐนำร่องอี-ออฟฟิศ แล้วประมาณ 100,000 ยูสเซอร์ ตั้งเป้าปีนี้ขยายได้ถึง 1,000,000 ยูสเซอร์ มั่นใจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการองค์กรและการให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี ได้ดำเนินนโยบายการปรับเปลี่ยนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยดำเนินการยกระดับหน่วยงานภาครัฐใช้ระบบ งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document) ในระบบอี-ออฟฟิศภายใต้ คลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ซึ่งจัดทำและให้บริการ โดยกระทรวงดีอี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการด้านเอกสาร และระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในองค์กร สนับสนุนการปรับเปลี่ยนสู่รัฐบาลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ลดการใช้กระดาษ ลดการตัดต้นไม้ และลดขยะที่ต้องเผาทำลาย ซึ่งเป็น 1 ในสาเหตุการเกิดมลพิษทางอากาศ และ PM 2.5
นอกจากนี้ จุดเด่นของระบบอี-ออฟฟิศยังสามารถช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถทำงานได้ทุกที่ (Work From Anywhere) สะดวก รวดเร็ว ลดการเดินทาง ลดการใช้พลังงานในสำนักงาน ลดการลงทุนภาครัฐที่ซ้ำซ้อน และมีความปลอดภัยสูง
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานใช้งานระบบแล้วราว 100,000 ยูสเซอร์ และขยายการใช้งานในหน่วยงานภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยมีกรอบแนวทางการขับเคลื่อนภาครัฐผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลแบบไร้กระดาษ ( Paperless Government) สู่รัฐบาลดิจิทัลทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ดังนี้
1.กลไกส่วนภูมิภาค : โดยกระทรวงดีอี ได้ขับเคลื่อน ระบบอี-ออฟฟิศ ในส่วนภูมิภาค ภายใต้โครงการ “Digital Korat: The Future Starts now - โคราช มหานครดิจิทัลแห่งอนาคต” จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดต้นแบบในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ
นอกจากนี้ยังมีจังหวัดปทุมธานี และจังหวัดชลบุรี ฯลฯ โดยมอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สำนักงานสถิติจังหวัด) เป็นผู้ประสานการขอใช้งานในระดับจังหวัด
2.กลไกส่วนกลาง : กระทรวงดีอีได้ร่วมขับเคลื่อนระบบอี-ออฟฟิศในระดับกระทรวงและหน่วยงานราชการส่วนกลาง โดยมีการจัดทำเอ็มโอยูขับเคลื่อนการใช้งานเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ในระบบอี-ออฟฟิศภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC กับหน่วยงานต่างๆ
อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานศาลยุติธรรม
"ขณะนี้มีหน่วยงานรัฐ ได้ดำเนินการเปิดใช้งานระบบอี-ออฟฟิศแล้วประมาณ 100,000 ยูสเซอร์ และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2568 สามารถรองรับการใช้งานของหน่วยงานรัฐที่จะเข้าร่วมการยกระดับการทำงานผ่านระบบอี-ออฟฟิศได้ถึง 1,000,000 ยูสเซอร์"
นายประเสริฐ เสริมว่า การยกระดับหน่วยงานภาครัฐผ่านระบบ อี-ออฟฟิศ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการองค์กรและการให้บริการประชาชนเพิ่มมากขึ้น ผ่านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อก้าวสู่สังคมไทยไร้กระดาษได้อย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ (ส่วนกลาง ภูมิภาค ท้องถิ่น และสถานศึกษาของรัฐ) สามารถขอรับการสนับสนุนการใช้งานระบบอี-ออฟฟิศภายใต้บริการคลาวด์กลางภาครัฐ GDCC พร้อมทั้งให้ CA (Certification Authority) สำหรับผู้มีอำนาจลงนามหนังสือภายนอก