ด่วน! ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประกันตัว ‘พิรงรอง’ วางหลักทรัพย์ 1.2 แสนบาท

ด่วน! ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประกันตัว ‘พิรงรอง’ วางหลักทรัพย์ 1.2 แสนบาท

ด่วน! ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประกันตัว ‘พิรงรอง’ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 120,000 บาท ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ หลังศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินจำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุมีเจตนาแกล้งทำให้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป เสียหาย

ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ให้ประกันตัว  ‘พิรงรอง’ เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยให้วางหลักทรัพย์ค้ำประกัน 120,000 บาท และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

หลังจาก วันนี้ (6 ก.พ.2568) ช่วงเช้า ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษา คดีระหว่างฝ่ายโจทก์ คือ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด และจำเลย คือ นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ตัดสินจำคุก กสทช.พิรงรอง 2 ปี ไม่รอลงอาญา เหตุมีเจตนากลั่นแกล้งทำให้ ทรู ดิจิทัล ไอดี บริษัทในกลุ่มทรู ดิจิทัล กรุ๊ปเสียหาย

โดยศาลฯ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

สำหรับคดีดังกล่าว เนื่องจากการมีผู้บริโภคร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. ในปี 2566 หลังจากได้พบว่าบนแพลตฟอร์มของแอปพลิเคชัน 'ทรู ไอดี' มีการโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ซึ่งบริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอป ทรูไอดีได้นำสัญญาณมาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง

ต่อมาคณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ได้พิจารณา และเสนอความเห็นในเรื่องดังกล่าว และสำนักงาน กสทช. ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ให้ตรวจสอบว่ามีการนำช่องรายการที่ได้รับอนุญาตไปออกอากาศผ่านโครงข่ายใดหรือนำไปแพร่ภาพในแพลตฟอร์มใด และให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด ซึ่งเป็นไปตามหลัก “มัสต์แครี่” (Must Carry) ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้ แม้หนังสือดังกล่าวไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัท ทรู ดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต และไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. แต่บริษัทได้อ้างว่าการออกหนังสือดังกล่าวทำให้ตนเองเสียหาย จึงนำมาซึ่งการฟ้องร้องต่อการทำหน้าที่ของประธานอนุกรรมการชุดนี้ คือ กสทช. พิรงรอง รามสูต

ในคำร้องของบริษัททรูดิจิทัลฯ อ้างว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเหตุที่ทำให้ตนเองได้รับความเสียหายเนื่องจากผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์ อาจทำการระงับการเผยแพร่รายการต่างๆ ผ่านทางแพลตฟอร์มของตน ในคำร้องได้อ้างว่าทางสำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top หรือการให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต)

อย่างไรก็ตาม กสทช. พิรงรองยืนยันว่า การออกหนังสือของสำนักงาน กสทช. เป็นการทำตามหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาในบนแพลตฟอร์มทรูไอดีในการรับชมเนื้อหาตามประกาศมัสต์แครี่ และดูแลลิขสิทธิ์เนื้อหาของผู้ให้บริการโทรทัศน์ดิจิทัล เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรี และเป็นธรรม ซึ่งการตรวจสอบของสำนักงาน กสทช. จนนำไปสู่การออกหนังสือดังกล่าวมาจากการร้องเรียนของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการแทรกโฆษณาบนกล่องทรูไอดี ทั้งนี้ ไม่ได้มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้ประกอบกิจการรายหนึ่งรายใดเป็นพิเศษ

เป็นที่สังเกตได้ว่า หนังสือดังกล่าวที่ออกโดยสำนักงาน กสทช. มิใช่คำสั่งทางปกครอง จึงไม่มีผลบังคับใช้ตามกฏหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตได้รับหนังสือข้างต้น และจะปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ในประเด็นมัสต์แครี่ อย่างเคร่งครัดหรือไม่ ก็ยังไม่มีบทลงโทษตามกฎหมาย และผู้ได้รับใบอนุญาตมีสิทธิที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อรายการที่อยู่ภายใต้การประกอบการของตน

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์