ศาลอาญารับคดี ’ทรูไอดี‘ ยื่นฟ้อง ’พิรงรอง‘ บอร์ดกสทช.

ศาลอาญารับคดี ’ทรูไอดี‘ ยื่นฟ้อง ’พิรงรอง‘ บอร์ดกสทช.

ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง รับฟ้อง กรณีทรูไอดีฟ้อง ’พิรงรอง รามสูต‘ บอร์ดกสทช. หลังเอกชนชี้มีพฤติการณ์ส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งให้ได้รับความเสียหาย ด้านเจ้าตัวลั่นปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายทุกอย่าง พร้อมเดินหน้าต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (14 มี.ค. 2567) ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคำสั่งคดีระหว่าง บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัดเป็นโจกท์ ยื่นฟ้อง นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ 

ซึ่งทางไต่สวนได้ความว่า ทรูไอดี บริษัทลูกของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบกิจการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป หรือ โอทีที เป็นการให้บริการที่ กสทช.ยังไม่ได้มีประกาศ หรือ ออกกฎเกณฑ์ในการกำกับดู และนางสาวพิรงรองทราบดีอยู่แล้วว่าการให้บริการของโจทก์แม้จะถือว่าเป็นการให้บริการประเภทโอทีทีที่ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทางไต่สวนมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการให้รักษาการรองเลขาธิการ กสทช.ในขณะนั้น

ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ จำนวน 127 ราย มีข้อความว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการที่ยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ทำให้ผู้ได้รับอนุญาตเข้าใจว่าโจทก์เป็นผู้ทำผิดกฎหมาย

ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้รับอนุญาตอาจระงับเนื้อหารายการต่างๆ ที่โจทก์ส่งไปออกอากาศ พฤติการณ์ของจำเลยส่อแสดงเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ให้ได้รับความเสียหายถือเป็นการปฏิบัติหรือละเว้น การปฏิบัติหน้าที่โดยชอบมิชอบ ทำให้ที่โจทก์ยื่นฟ้องนั้นมีมูลจึงให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไป

ด้านนางสาวพิรงรอง ยืนยันว่า ได้ปฏิบัติหน้าที่ภารกิจตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดและไม่มีเจตนากลั่นแกล้งหรือมีเจตนาพิเศษให้บุคคลใดต้องได้รับความเสียหายแต่อย่างใด

โดยให้ข้อมูลว่า มูลเหตุในคดีสืบเนื่องมาจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคที่ประสบปัญหาการรับชมรายการของช่องโทรทัศน์ดิจิทัลผ่าน Internet TV Box และแอปพลิเคชั่นทรูไอดีที่มีโฆษณาคั่นเวลาขณะเปลี่ยนช่องรายการซึ่งทำให้ผู้ชมได้รับความเดือดร้อน ซึ่งเรื่องนี้ได้ถูกส่งมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ ที่มีตนเป็นประธานพิจารณาและให้ความเห็นตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯในกรณีนี้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่ กสทช. มอบหมายและถูกต้องตามขั้นตอนดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ทุกประการ

คณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การให้บริการที่มีการนำเอา “ช่องรายการโทรทัศน์ดิจิตอลของผู้รับใบอนุญาตทั้งช่อง” ไปเผยแพร่ผ่านทางบริการ ทรูไอดีนั้นอาจขัดต่อประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (23) และเงื่อนไขใบอนุญาตของผู้รับใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิตอล ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตตามประกาศดังกล่าว ต้องเผยแพร่ช่องรายการของตนเองผ่านทางผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายจาก กสทช. เท่านั้น และยังอาจขัดต่อประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการช่องรายการ และผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ (pass through) ด้วย

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้ร่วมกันพิจารณาและให้ความเห็นอย่างรอบด้านโดยอิสระก่อนจะมีมติให้สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตช่องโทรทัศน์ดิจิตอลปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด เนื่องจากทรูไอดียังมิได้ขอรับใบอนุญาตเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายประเภท IPTV จากกสทช. ซึ่งจะทำให้ได้รับสิทธิตามประกาศ Must Carry ที่กำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายต้องนำพาสัญญาณของช่องรายการทีวีดิจิตอลไปโดยไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ นอกจากนี้ ยังมีมติให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่ามีการให้บริการในลักษณะเดียวกับทรูไอดี อีกหรือไม่ ซึ่งภายหลังก็ได้มีการออกหนังสือในรูปแบบเดียวกันไปยังผู้ประกอบการอีกรายที่มีพฤติการณ์ในลักษณะเดียวกัน ทางสำนักงาน กสทช. จึงไม่ได้เลือกปฏิบัติกับโจทก์

“การทำหน้าที่ของดิฉัน และคณะอนุกรรมการฯ ข้างต้น มุ่งหมายหาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้บริโภคตามที่มีข้อร้องเรียน และประสงค์ให้มีการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย รวมถึงต้องการให้ผู้รับใบอนุญาตช่องรายการตรวจสอบและตระหนักถึงการป้องกันตนเองมิให้ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ในเนื้อหารายการ การพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องดังกล่าว เป็นเพียงการให้ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน กสทช. คณะอนุกรรมการฯ ไม่มีอำนาจสั่งการแต่อย่างใด การที่สำนักงาน กสทช. มีหนังสือแจ้งเวียนผู้รับใบอนุญาตช่องรายการให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาต จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.”

ในส่วนของการถูกฟ้องดำเนินคดี ซึ่งศาลได้มีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว กสทช. พิรงรองคิดว่าทางโจทก์คือบริษัท ทรูดิจิทัล อาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในเจตนาของตนจากข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งตนก็พร้อมชี้แจงในขั้นตอนของการไต่สวนคดี และพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในการทำหน้าที่ต่อไป

นางสาวพิรงรอง กล่าวอีกว่า แม้จะมีอุปสรรคในการทำงาน แต่ตนก็ยังมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนดำเนินงานนโยบายด้านกิจการโทรทัศน์ที่สำคัญหลายประการ เช่น การออกประกาศหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการแพร่ภาพแพร่เสียงผ่านทางอินเทอร์เน็ต และการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริม National Streaming Platform ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญสำหรับเอื้ออำนวยให้ผู้ให้บริการแพร่ภาพและเสียงในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การอนุญาตประกอบกิจการในระยะต่อไป ตลอดจนการออกประกาศหลักเกณฑ์ส่งเสริมโทรทัศน์ชุมชน และการส่งเสริมการรวมกลุ่มขององค์กรสื่อและนักวิชาชีพสื่อเพื่อสร้างระบบการกำกับดูแลกันเองบนมาตรฐานจริยธรรมอย่างมีประสิทธิภาพ