ETDA เปิดผลการศึกษาชี้ไทยพร้อมเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

ETDA เปิดผลการศึกษาชี้ไทยพร้อมเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วน ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’

ETDA มองไทยพร้อมแล้วเข้าเป็นภาคีเพื่อเปิดประตูสู่โอกาสธุรกิจ การค้า ด้วยจุดเด่นด้านธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เอื้อต่อธุรกิจและการค้า คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและผู้บริโภคออนไลน์ ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ และส่งเสริมให้เกิดการใช้ AI

นายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี กล่าวว่า การส่งเสริมให้ประเทศพร้อมรองรับการทำธุรกิจและธุรกรรมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย สำหรับมุมมองในเวทีสากล สิ่งสำคัญคือ การผลักดันให้เกิดการสร้างระบบนิเวศน์หรือ Ecosystem ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจดิจิทัล จึงทำให้สหประชาชาติ (United Nations : UN)  หรือในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป (European Union : EU) ต่างออกกฎกติกาขึ้นมาที่ขึ้นอยู่กับเรื่องนั้นๆ เช่น UNCITRAL ที่มีการออก Model Law จนเป็นต้นแบบของการมีกฎหมายธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทย เป็นต้น

สำหรับในกรณีทางด้านการค้าด้านดิจิทัลก็เช่นเดียวกัน นอกจากจะมีการหารือกันในระดับที่เป็นสากลแล้ว ยังมีการรวมตัวของบางประเทศที่มีแนวคิดในการส่งเสริมการค้าดิจิทัลที่คล้ายกัน เช่น ความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่เป็นสนธิสัญญาเกิดขึ้นโดยประเทศสิงคโปร์

โดยความตกลงดังกล่าวจะมุ่งสร้างโอกาสทางการค้าดิจิทัล ทั้งในด้านการทำให้กฎระเบียบของการค้าดิจิทัลมีความเหมาะสมกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ทั้งในการคุ้มครองผู้บริโภค การรักษาความเป็นส่วนตัว รวมไปถึงการสร้างสภาพแวดล้อมทางการค้า อีกทั้งในปัจจุบันก็มีช่องว่างความท้าทายในกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ ถึงแม้จะมีความตกลงทางการค้าสมัยใหม่เกิดขึ้นก็ตาม รวมถึงความตกลง DEPA นี้ ยังเน้นการทำงานร่วมกันโดยเปิดกว้างในการขยายขอบเขต

ซึ่งปัจจุบันมีหลายประเทศเข้าร่วมเป็นภาคีแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ ชิลี นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ ส่วนจีนและแคนาดา อยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเข้าร่วมในเร็วๆ นี้

สำหรับ ประเทศไทย การจะเข้าร่วมเป็นหนึ่งในภาคีได้นั้น นอกจากที่ได้มีการพิจารณาในประเด็นเรื่องความพร้อมในการปฏิบัติตามข้อตกลงความร่วมมือมาระยะหนึ่งแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องศึกษาความเป็นไปได้ร่วมกับคณะทำงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านว่า การเข้าร่วมครั้งนี้อยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้วหรือไม่ ประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับมีในประเด็นไหนบ้าง จะเข้ามาช่วยฟื้นตัวและเร่งเครื่องเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความเชื่อมั่นให้กับธุรกิจและการค้าของไทยได้มากน้อยเพียงใด 

สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ โดย ETDA ในฐานะหน่วยงานหลักที่ช่วยจับสัญญาณเพื่อสะท้อนภาพความพร้อมของประเทศ และมีการติดตามประเด็นที่เกี่ยวเนื่องมาโดยตลอด เพื่อนำเสนอผลกลารศึกษาที่เป็นประโยชน์สำหรับไทย ที่สะท้อนความเป็นไปได้และความพร้อมของประเทศในการเข้าร่วมเป็นภาคี พร้อมกับการเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการและภาคประชาสังคม เพื่อพิจารณาร่วมกันว่า การเข้าร่วมจะเข้ามาช่วยเร่งเครื่องความสามารถการค้าดิจิทัล และส่งผลในเชิงเศรษฐกิจอย่างไรบ้าง 

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า จากผลการศึกษา ความเป็นไปได้และความพร้อมของไทยในการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy Partnership Agreement หรือ DEPA) พบว่า รายละเอียดของความตกลง DEPA มีทั้งหมด 16 โมดูล ครอบคลุมประเด็นด้านดิจิทัลอย่างรอบด้าน ทั้ง ความร่วมมือทางเศรษฐกิจดิจิทัล การแบ่งปันข้อมูลและพัฒนาบทบาท SMEs การส่งเสริมคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ การไม่เลือกปฏิบัติของผลิตภัณฑ์ดิจิทัล การปกป้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ยกระดับและส่งเสริมนวัตกรรม การอำนวยความสะดวกทางการค้า  การยืนยันตัวตนบนโลกดิจิทัล ส่งเสริมเทคโนโลยีใหม่ (AI) ให้เกิดการใช้อย่างมีความรับผิดชอบ และความเท่าเทียมทางดิจิทัลและทางการค้า เป็นต้น ซึ่งจากการวิเคราะห์จะเห็นว่า มีโมดูลที่ไทยควรให้ความสำคัญ ได้แก่ 

• โมดูลที่ 2 การอำนวยความสะดวกทางธุรกิจและการค้า (Business and Trade Facilitation) ที่เกี่ยวข้องกับ การค้าไร้กระดาษ กรอบการกำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ โลจิสติกส์ ใบเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ การขนส่งด่วน การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ 

• โมดูลที่ 3 การปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ดิจิทัลและสิทธิที่เกี่ยวข้อง (Treatment of Digital Products and Related Issues) ที่มีประเด็นเรื่องอากรศุลกากร หรือการยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (หมายรวมถึง ซอฟแวร์ อีเมล e-Book และเพลงดิจิทัล) การไม่เลือกปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ดิจิทัล

• โมดูลที่ 4 ประเด็นด้านข้อมูล (Data Issues) ว่าด้วยการมีกรอบกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การถ่ายโอนข้อมูลข้ามพรมแดนโดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์

• โมดูลที่ 5 การเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเชื่อมั่น (Wider Trust Environment) ว่าด้วยเรื่องของความตระหนักถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล 

• โมดูลที่ 6 ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจและผู้บริโภค (Business and Consumer Trust) ที่มีประเด็นในส่วนของ การมีมาตรการจัดการกับการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ที่ไม่พึงประสงค์ (SPAM) และการให้ความคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ผ่านกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง

• โมดูลที่ 7 การพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (Digital Identities) ว่าด้วย การส่งเสริมการทำงานร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์ต่างๆ

• โมดูลที่ 8 แนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ (Emerging Trends and Technologies) ว่าด้วยเรื่องการส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ เช่น ธุรกิจที่นำเทคโนโลยีมาให้บริการเกี่ยวกับการเงินและการลงุทน (Financial Technology) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อให้เกิดการนำมาใช้งานอย่างมีจริยธรรม รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ

ทั้งนี้ จากการศึกษาข้อบทในความตกลงที่ไทยมีกับประเทศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ อย่าง ความตกลงว่าด้วยการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) และ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership : RCEP) เปรียบเทียบกับรายละเอียดข้อบทในแต่ละโมดูล ภายใต้ความตกลง DEPA พบว่า ในหลายข้อบทของความตกลง AFTA และ RCEP มีความสอดคล้องกับ DEPA ไม่ว่าจะเป็นกรอบการกำกับดูแลธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศ, การค้าไร้กระดาษ, การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล, การโอนถ่ายข้อมูลข้ามพรมแดนด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (Cross-Border Transfer of Information by Electronic Means), ความปลอดภัยทางไซเบอร์ ความร่วมมือและการระงับข้อพิพาท เป็นต้น ประกอบกับ ในประเด็นเรื่อง Digital Identity และการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

รวมถึง AI ถือเป็นประเด็นที่ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญ จึงสะท้อนให้เห็นว่า ประเทศไทยค่อนข้างมีความพร้อมที่จะเข้าร่วมในการเป็นภาคีความตกลง DEPA ที่จะเป็นกลไกหนึ่งที่สำคัญ ในการช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของไทย ผลักดันให้ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ มีความสอดคล้องกับกรอบมาตรฐานการค้าดิจิทัลของโลก สู่การสร้างโอกาสใหม่ทางธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจยุคใหม่ของไทยจากนานาประเทศ เป็นต้นซึ่งสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรับฟังความคิดเห็นรวมถึงสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนในเรื่องนี้อย่างรอบด้าน ก่อนจัดทำเป็นข้อสรุปนำเสนอหน่วยงานระดับนโยบายนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาในลำดับถัดไป