‘ไอบีเอ็ม’ ชี้ 'ความโปร่งใส-เชื่อถือได้' Gen AI ชี้อนาคตธุรกิจ ปี 2567

‘ไอบีเอ็ม’ ชี้ 'ความโปร่งใส-เชื่อถือได้' Gen AI ชี้อนาคตธุรกิจ ปี 2567

'ไอบีเอ็ม' เปิดทิศทางธุรกิจปี 2567 ชี้ 'Generative AI - ความน่าเชื่อถือ' ชี้ชะตาองค์กรธุรกิจสำเร็จ หรือล้มเหลว

‘สวัสดิ์ อัศดารณ’ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย พร้อมด้วยแม่ทัพใหญ่ด้านเทคโนโลยี ‘สุรฤทธิ์ วูวงศ์’ เปิดทิศทางธุรกิจ ปี 2567 ที่ Generative AI (Gen AI) และความเชื่อถือ (trust) ที่มีต่อเทคโนโลยีและแพลตฟอร์ม Gen AI จะเป็นตัวชี้ชะตาว่า องค์กรจะนำเทคโนโลยีนี้สร้างการเติบโต จุดแข็ง และผลิตภาพได้ประสบความสำเร็จเพียงใด

เปิด 5 เทรนด์ใหญ่โลก AI

สวัสดิ์ เล่าถึงการคาดการณ์โดย PwC ว่า AI จะสร้างมูลค่าได้ถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2030 แต่ผลการศึกษาผู้บริหารทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยตลอดปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสที่ยิ่งใหญ่นี้ ก็มาพร้อมความท้าทายครั้งใหญ่ AI ด้วยเช่นกัน โดย ‘ความเชื่อถือได้’ คือเรื่องสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด และแนวทางที่ ซีอีโอ เลือกนำ Gen AI มาใช้จะเป็นตัวกำหนดอนาคตขององค์กร ภายใต้ 5 เทรนด์สำคัญของปีหน้า ประกอบด้วย

‘ไอบีเอ็ม’ ชี้ \'ความโปร่งใส-เชื่อถือได้\' Gen AI ชี้อนาคตธุรกิจ ปี 2567

เทรนด์ที่ 1 องค์กรจะเปลี่ยนจาก “Plus AI” เป็น “AI Plus” สวัสดิ์มองว่า ต่อจากนี้ จะไม่ใช่การเตรียมข้อมูลแล้วนำ AI มาใส่เพื่อวิเคราะห์หามุมมองเชิงลึกอีกต่อไป แต่จะเป็น AI Plus ที่กำหนด AI เป็นแกนหลักตั้งแต่ต้น ตั้งต้นยูสเคสหรือกระบวนการว่า จะนำ AI เข้ามาใช้ตรงไหน แก้ปัญหาอะไร ทำอย่างไรให้ Gen AI ทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ หรือสเกลได้ทั่วทั้งองค์กร

อย่างไรก็ดี แม้หลายฝ่ายจะมองว่าไม่มีอะไรหยุดยั้ง Gen AI ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะไม่มีการชะลอตัว ปี 2567 ผลสำรวจชี้ชัดว่าผู้นำองค์กร 72% พร้อมสละประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการใช้ Gen AI หากไม่มีความชัดเจนเรื่องจริยธรรมหรือความโปร่งใสของเทคโนโลยี เพราะนั่นหมายถึงการสูญเสียชื่อเสียงองค์กรและอาจนำสู่ค่าปรับต่างๆ

เทรนด์ที่ 2 คนที่ใช้ AI จะมาแทนคนที่ไม่ใช้ สวัสดิ์เล่าว่า ปี 2567 Gen AI จะส่งผล กระทบต่อแทบทุกตำแหน่งและทุกระดับงานในองค์กร โดยภายในปี 2568 กว่า 3 ใน 4 ของคนทำงานระดับเริ่มต้นจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงของบทบาทงานของตน ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงมากกว่า 1 ใน 4 ก็จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

ยิ่งเมื่อ Gen AI เติบโต จำนวนของตำแหน่งและผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ภายใน 5 ปี ผู้นำหน่วยงานภาครัฐส่วนใหญ่คาดว่าจะต้องใช้จ่ายในงานด้าน AI และระบบออโตเมชัน มากกว่าในการจ้างบุคลากร

ย้ำ AI มาสนับสนุนไม่ใช่มาแทนที่

อย่างไรก็ดี สวัสดิ์มองว่า Gen AI จะเข้ามาสนับสนุนและส่งเสริมพนักงาน มากกว่าจะมาแทนที่ โดยพนักงานเกือบครึ่งจะต้องเรียนรู้ทักษะใหม่อย่างต่อเนื่องตลอด 3 ปีข้างหน้า ต้องมองว่าการเรียนรู้ทักษะ Gen AI จะเป็นโอกาสสู่ความก้าวหน้า องค์กรต้องวิเคราะห์ว่าจุดใดที่เป็นปัญหาคอขวด และควรนำพนักงานดิจิทัลมาช่วย โดยที่มนุษย์ยังคงอยู่ในวงจรการตัดสินใจ และการจะประสบความสำเร็จได้ พนักงานต้องเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงาน AI คนใหม่ ต้องเปิดรับเครื่องมือและแอพพลิเคชัน AI ใหม่ๆ พร้อมทำงานในสภาพแวดล้อมที่มนุษย์และ AI ทำงานร่วมกัน

เทรนด์ที่ 3 ข้อมูลจะไม่ใช่เรื่องของแผนกไอทีอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่ผู้บริหารระดับสูงต้องสนใจ สวัสดิ์ ยกตัวอย่างว่า ที่ผ่านมาองค์กรต้องปกป้องข้อมูลไม่ให้ถูกขโมย แต่วันนี้ต้องเพิ่มเติมการปกป้องข้อมูลจากการถูกปนเปื้อนระหว่างที่ข้อมูลเคลื่อนย้ายเข้า ออก และผ่านองค์กร เพราะเรื่องนี้มีเดิมพันสูง องค์กรที่สร้างรายได้จากคลังข้อมูลขนาดใหญ่ที่คุณภาพสูงและเชื่อถือได้ของตน จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) จากการนำ AI มาใช้มากกว่าองค์กรอื่นเกือบ 2 เท่า (ROI 9%) เทียบกับ 4.8%)

การจะสร้างมูลค่าจากข้อมูลได้ องค์กรต้องทำให้การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลเป็นจุดต่างทางกลยุทธ์ที่สำคัญของตน ไม่ว่าจะเป็นการฝัง zero trust ในระบบปฏิบัติการ หรือการตรวจสอบและจัดการกับจุดที่มีผลต่อการสร้างหรือทำลายความไว้วางใจ จึงไม่น่าแปลกใจที่งบประมาณด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ถึง 51% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 43% ในปี 2568

เทรนด์ที่ 4 ถึงเวลาปรับโมเดลการทำงานเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหาย สวัสดิ์มองว่า หลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้บริหารระดับสูงพูดถึงโมเดลการดำเนินงานที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้ไว ที่จะช่วยรับมือกับดิสรัปชันต่างๆ แต่เทคโนโลยีเหล่านี้กลับยังมีความล้าหลังอยู่มาก

Gen AI ระบุความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์

แต่วันนี้ ผู้บริหาร 81% มองว่าความสามารถในการคาดการณ์ของ Gen AI จะช่วยให้องค์กรตรวจพบปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ขณะที่ 77% มองว่า Gen AI ช่วยระบุความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และสภาพภูมิอากาศได้อย่างแม่นยำ ช่วยให้สามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างรวดเร็วในเชิงรุก สามารถจำลองสถานการณ์และขั้นตอนการปฏิบัติงานพร้อมวางแผนรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น บนพื้นฐานของข้อมูล

เทรนด์ที่ 5 อีโคซิสเต็มจะไม่ใช่ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ แต่คือ กลยุทธ์ สวัสดิ์อธิบายว่า อีโคซิสเต็มอาจเป็นได้ทั้งตัวช่วยหรือตัวถ่วงของการสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า ตัวอย่างเช่น ผู้บริหาร 69% ระบุว่าองค์กรของตนได้รับผลตอบแทนทางการเงินเพิ่มขึ้น จากการมีส่วนร่วมในอีโคซิสเต็มทางธุรกิจ และในโลกที่มีการขาดแคลนบุคลากรทักษะสูง ผู้บริหาร 65% ระบุว่าสามารถเข้าถึงทักษะที่เกี่ยวข้องและเป็นที่ต้องการสูงได้ผ่านอีโคซิสเต็มทางธุรกิจ

แต่การจะแบ่งปันความสามารถ แนวคิด ทรัพยากร เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาอย่างก้าวกระโดดหลายด้าน ตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์ไปจนถึงการสนับสนุนหลังการขาย ต้องสร้างนวัตกรรมแบบเปิด เชื่อมโยงกับการเติบโตของรายได้ข้อมูล เมื่อข้อมูลของแต่ละองค์กร ต้องเคลื่อนไหวข้ามแพลตฟอร์ม ข้ามบริษัทได้อย่างอิสระ

สิ่งสำคัญ คือ ความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูล องค์กรต้องบูรณาการ AI governance เข้ากับโมเดลธุรกิจหลักตลอดทั้งไลฟ์ไซเคิล ระบบ AI ที่ใช้ต้องปราศจากอคติและเชื่อถือได้

ผ่าคุณสมบัติ ‘watsonx' Gen AI ตัวเด่น

ในแง่ของการลงทุนและส่งเสริมให้เกิด Gen AI ที่เชื่อถือได้สำหรับการใช้งานในองค์กรธุรกิจ ‘สุรฤทธิ์’ เสริมว่าปีนี้ไอบีเอ็มได้เปิดตัว watsonx ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มข้อมูลและ Gen AI ได้รับการพัฒนาบน 4 พื้นฐานหลัก คือ

Open ด้วยเทคโนโลยี AI และคลาวด์ที่ดีที่สุด ให้ธุรกิจเข้าถึงนวัตกรรมของโอเพนคอมมิวนิตี้และโมเดล AI อื่นๆ ได้ Targeted โดยได้ออกแบบมาสำหรับยูสเคสทางธุรกิจที่กำลังเป็นปัญหาเร่งด่วนขององค์กรจริงๆ ทั้งเรื่องงานบริการลูกค้า การนำ Gen AI มาช่วยเพิ่มผลิต รวมถึงแอพโมเดิร์นไนซ์เซชันและการเขียนโค้ดอัตโนมัติ

Trusted บนพื้นฐานของ AI governance ที่โปร่งใส และจริยธรรมที่สอดคล้องและก้าวทันกฎระเบียบและการกำกับดูแลที่เพิ่มขึ้น และ Empowering เอื้อให้องค์กรสามารถนำข้อมูลและโมเดล AI ที่ได้ปรับแต่ง ฝึกฝน ปรับใช้ และควบคุม ไปใช้งานได้ทุกที่ สามารถสเกลและนำไปใช้บนแพลตฟอร์มใดก็ได้ เพื่อสร้างมูลค่าให้องค์กรอย่างแท้จริง

ล่าสุด IBM ได้เปิดตัว watsonx.governance เพื่อช่วยองค์กรจัดการโมเดล AI ได้ตลอดทั้งไลฟ์ไซเคิล สามารถใช้ AI อย่างโปร่งใส ปราศจากอคติ และมีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันก็ช่วยองค์กรให้ปฏิบัติสอดคล้องกับเฟรมเวิร์ค AI ใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั่วโลก

สุรฤทธิ์ ย้ำว่า เมื่อความเชื่อมั่นคือใบเบิกทางในการทำธุรกิจ และองค์กรต้องไม่ปล่อยให้ AI ทำลายความเชื่อมั่นนั้น จากรายงานล่าสุด ผู้บริหาร 58% เชื่อว่าความเสี่ยงด้านจริยธรรมขนานใหญ่จะเกิดขึ้นจากการนำ Gen AI มาใช้ แม้ Gen AI จะสร้างข้อได้เปรียบทางการแข่งขันให้องค์กร แต่ซีอีโอก็ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนกับการลงทุน และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

สุรฤทธิ์ เผยว่าเดือนที่ผ่านมา ไอบีเอ็มเปิดตัว Enterprise AI Venture มูลค่า 500 ล้านดอลลาร์ เพื่อลงทุนในสตาร์ตอัป AI หลายแห่งทั่วโลก เร่งใช้เทคโนโลยี Gen AI และสะท้อนถึงความทุ่มเทในการสร้างนวัตกรรม AI ที่มีความรับผิดชอบ ผ่านแพลตฟอร์ม watsonx เมื่อต้นเดือน IBM และ Meta ได้เปิดตัว AI Alliance ร่วมกับสมาชิกผู้ก่อตั้งและผู้มีส่วนร่วมกว่า 50 รายทั่วโลก เป็นชุมชนนักพัฒนา นักวิจัย และผู้ใช้งานเทคโนโลยีชั้นนำที่ร่วมมือกันพัฒนา AI ที่เปิดกว้าง ปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ

พร้อมหารือพันธมิตรเพื่อผลักดันการใช้ Gen AI ในธุรกิจ การนำ Gen AI ของไอบีเอ็มไปผนวกในโซลูชันทั่วทั้งพอร์ตโฟลิโอของ SAP หรือขยายร่วมมือกับ Amazon Web Services (AWS) เพื่อส่งเสริมให้ลูกค้าที่มีร่วมกันใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าจาก Gen AI พร้อมฝึกอบรมคนด้าน Gen AI 10,000 คนภายในสิ้นปี 2567 และวางแผนที่จะนำเสนอโซลูชันและบริการร่วมกันบนพื้นฐานของ Gen AI

สุรฤทธิ์ ทิ้งท้ายว่า จุดต่างสำคัญของไอบีเอ็ม คือ คณะกรรมการจริยธรรมด้าน AI ของบริษัท ที่กำหนดกรอบจริยธรรมในการดำเนินงานและพัฒนาเทคโนโลยี AI ของบริษัททั่วโลก โดยเวนเดอร์หลายรายไม่ได้ลงทุนในเรื่องดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้เป็นสิ่งที่องค์กรต่างๆ ควรทวงถามจากผู้ให้บริการเทคโนโลยี AI ของตน