ตัดวงจรซิมผี! กสทช.เพิ่งตื่นออกประกาศครอบครองเบอร์มือถือ

ตัดวงจรซิมผี! กสทช.เพิ่งตื่นออกประกาศครอบครองเบอร์มือถือ

ไทยมีซิมการ์ดในตลาดทั้งหมด 94.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ผู้ครอบครองซิมการ์ด 1-5 หมายเลข มีจำนวน 64.5 ล้านคน มีผู้ครอบครอง 6-100 เลขหมาย จำนวน 2.8 แสนคน ผู้ครอบครองมากว่า 101 เลขหมาย มากถึง 7,664 คน ซึ่งประกาศฯฉบับใหม่ที่จะออกมาหลังปีใหม่ จะมากำกับดูแลตรงนี้

พล.ต.อ.ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า ปัจจุบันปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ยังเกิดขึ้นและสร้างความเสียหายต่อประชาชนต่อเนื่อง โดยสถิติคนไทยกว่า 75% เคยโดนกลุ่มมิจฉาชีพหรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรศัพท์หา และ จากสถิติการแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565-10 พ.ย. 2566 มีผู้เสียหายแจ้งความออนไลน์สูงถึง 3.9 แสนเรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 4.9 หมื่นล้านบาท

ดังนั้น กสทช. จึงเตรียมออกประกาศเพื่อบังคับให้ผู้ครอบครองหมายเลขโทรศัพท์มือถือหรือซิมการ์ด ตั้งแต่ 5 เลขหมายขึ้นไป ต้องมาลงทะเบียนแจ้งการครอบครองกับผู้ให้บริการ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องการนำซิมการ์ดไปใช้ในการหลอกลวงออนไลน์ หรือโอนเงินออกจากบัญชี หรือที่เรียกกันว่าซิมผี โดยจะมีการจัดเปิดรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่ม หรือ โฟกัสกรุ๊ป อีกครั้ง เพื่อนำข้อคิดเห็นมาปรับปรุง จากนั้นจะนำเสนอให้บอร์ด กสทช. พิจารณา เพื่อเห็นชอบภายในเดือน ธ.ค. 2566 และคาดว่าจะบังคับใช้ได้ในเดือน ม.ค. 2567

ตัดวงจรซิมผี! กสทช.เพิ่งตื่นออกประกาศครอบครองเบอร์มือถือ

พล.ต.อ.ณัฐธร กล่าวว่า แต่เดิม กสทช. มีประกาศในเรื่องจดทะเบียนไม่เกิน 5 ซิมการ์ด หากมีซิมการ์ดที่ 6 ต้องไปยืนยันตัวตน ที่ร้านค้าของผู้ให้บริการมือถือ แต่ร่างประกาศใหม่ที่จะออกมา เป็นการยืนยันตัวบุคคลผู้ที่ถือครองซิมการ์ดจำนวนมากๆ ตั้งแต่ 6 ซิมการ์ดขึ้นไป ว่าใครเป็นผู้ถือครอง ใครเป็นผู้ใช้งาน หากไม่มารายงานตัวหรือยืนยันตัวตนภายใน 30 วัน จะถูกระงับการโทรออกและตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต และหากอีก 30 วัน ยังไม่มา จะระงับการใช้งานทั้งหมด จากนั้นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ ต้องนำเลขหมายดังกล่าวส่งคืน

กสทช. ถือเป็นการตัดปัจจัยในการกระทำความผิดของคนร้าย ให้ทำงานและหาซิมการ์ดได้ยาก และสามารถตรวจสอบได้ว่าใครครอบครองหากเกิดการกระทำผิด โดยจะบังคับใช้ทั้งคนไทยและต่างชาติ

“ที่ผ่านมา มีการนำเบอร์ไปให้กลุ่มคนร้ายและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ใช้หลอกลวง และทำธุรกรรมโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ โอเปอเรเตอร์ ต้องไปหาวิธีในการอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าที่ถือครองซิมการ์ดจำนวนมาก ในการแจ้งยืนยันตัวว่าจะทำอย่างไรบ้าง”

ปัจจุบันมีผู้ถือครองเลขหมายโทรศัพท์มือถือ จำนวน 64.8 ล้านคน คิดเป็น 94.6 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็น ผู้ครอบครองซิมการ์ด 1-5 หมายเลข มีจำนวน 64.5 ล้านคน คิดเป็นซิมการ์ดจำนวน 85.1 ล้านเลขหมาย ผู้ครอบครอง 6-100 เลขหมาย จำนวน 2.8 แสนคน คิดเป็นจำนวนซิมการ์ด 3.3 ล้านเลขหมาย ผู้ครอบครองมากกว่า 101 เลขหมาย จำนวน 7,664 คน ซิมการ์ดจำนวน 6.1 ล้านเลขหมาย

ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้ตระหนักถึงปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยได้ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิด ทั้งการกวดขันจับกุมสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย, การจัดระเบียบเสาสัญญาณตามแนวชายแดน, การแก้ไขระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตีกรอบให้ผู้รับใบอนุญาตปฎิบัติตามมาตรการที่ กสทช. กำหนด, การเดินทางไปพบปะหารือกับผู้บริหารระดับสูงของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อแสวงหาความร่วมมือในการป้องกันภัยจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดน

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กสทช. ได้ร่วมมือกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จัดกิจกรรม “สร้างการรับรู้และเท่าทันภัยในโลกดิจิทัล” เน้นสร้างการรับรู้และเตือนภัยประชาชนเกี่ยวกับภัยออนไลน์และการหลอกลวงในรูปแบบต่างๆ การให้ความรู้เกี่ยวกับอาชญากรรมออนไลน์, รูปแบบการหลอกลวงทางเทคโนโลยี, การหลอกลวงด้วยเว็บไซต์หน่วยงานราชการปลอม, เพจหรือโฆษณาปลอม Scam Call, False Base Station, Sim Box

เผยแพร่มาตรการของ กสทช. เช่น การเพิ่ม Prefix “+697” “+698” การจัดทำบริการ USSD หมายเลข *138 ให้ประชาชนปฏิเสธสายจากต่างประเทศ *179*เลขบัตรประชาชน# ตรวจสอบเบอร์ที่ลงทะเบียนกับเลขบัตรประชาชน รวมถึงการใช้งาน App 3 ชั้น “ตรวจ แจ้ง ล็อก” รวมถึงการลงทะเบียนซิมการ์ดหมายเลขโทรศัพท์ด้วย