‘AWS’ ยกนวัตกรรม กลไกขับเคลื่อนอนาคตไทย

‘AWS’ ยกนวัตกรรม กลไกขับเคลื่อนอนาคตไทย

‘วัตสัน ถิรภัทรพงศ์’ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส (AWS) ยกนวัตกรรม กลไกขับเคลื่อนอนาคตประเทศไทย By วริยา คำชนะ

“นวัตกรรมมีความสำคัญอย่างมากต่อการแข่งขันและการขับเคลื่อนอนาคตของประเทศไทย”

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ เอดับบลิวเอส (AWS) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ”

พร้อมแสดงทัศนะว่า เนื่องจากวันนี้เรากำลังอยู่ในยุคที่โลกธุรกิจมีความผันผวน ถูกท้าทายด้วยภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาขาดแคลนบุคลากร โกลบอล ซัพพลายมีหลากหลายข้อจำกัด อีกทางหนึ่งเกิดความไม่แน่นอนสืบเนื่องมาจากอัตราการแลกเปลี่ยนเงิน

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความท้าทายทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และการเงิน “คลาวด์” กำลังกลายเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยฝ่าฟันวิกฤติ รากฐานของการพัฒนานวัตกรรม การปรับใช้เทคโนโลยี ไทม์ทูมาร์เก็ต ช่วยลดค่าใช้จ่ายรวมถึงประเด็นด้านความยั่งยืนและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

 

ปัญหาหลักๆ คือเรื่องของ คน

วัตสัน กล่าวว่า ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน ต้องมี 3 องค์ประกอบคือ เทคโนโลยี กระบวนการ และคน โดยที่สำคัญอย่างมากคือ “คน” ซึ่งต้องยอมรับว่าไทยเป็นแค่ผู้ใช้เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ผลิต หากจะให้มาเร่ิมทำในตอนนี้ก็มีต้นทุนสูง ยากที่จะตามทันผู้เล่นอื่นๆ

ดังนั้นอาจ ต้องให้การพัฒนาคนเน้นไปในสายที่เป็นแอดวานซ์เทคโนโลยี ไม่ใช่แค่ด้านไอทีเฉยๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารกการแข่งขัน เช่นที่เอดับบลิวเอส เน้นโครงการพัฒนาคนด้าน “คลาวด์” ซึ่งจะเป็นรากฐานของหลายๆ เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเอไอ ดาต้าอนาไลติกส์ ไอโอที ฯลฯ

 

“ปัญหาและอุปสรรค หลักๆ คือเรื่องของคน เนื่องจากขณะนี้ไทยยังไม่มีมาสเตอร์แพลน ที่จะพัฒนาหรือดึงดูดคนที่มีความสามารถเข้ามา”

ที่สำคัญการปรับใช้เทคโนโลยีต้องไม่เพียงตอบโจทย์แค่ด้านไอทีแต่ต้องยกระดับคุณภาพชีวิต ขณะที่กระบวนการต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารจัดการ วัฒนธรรมองค์กร รวมถึงกฏเกณฑ์ให้เอื้อต่อการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ๆ

ประเมินขณะนี้นับว่า ไทยเปิดรับเทคโนโลยีได้เร็ว แต่การนำเทคโนโลยีไปใช้ต้องสะท้อนด้วยว่าเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อสังคมหรือธุรกิจได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าแค่สันธนาการอย่างเดียวคงไม่เกิดประโยชน์มากนัก

 

ทุกบริษัทต้องเป็น ‘เทคคอมพานี’

วัตสัน เปิดมุมมองว่า การจะอยู่รอดได้ทุกบริษัทต้องทรานส์ฟอร์มไปเป็น “เทคคอมพานี” หากไม่สามารถเอาเทคโนโลยีมาเป็นอาวุธได้ ก็อาจไม่สามารถอยู่ต่อ แข่งขันไม่ได้ ก้าวไปข้างหน้าได้ช้ากว่าคนอื่นๆ

เป็นภาคบังคับที่ทุกองค์กรต้องนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับสินค้า การให้บริการ พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หาโอกาสการเติบโตใหม่ๆ

ส่วนภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมสนับสนุนทำให้เกิดบรรยากาศที่เอื้อต่อการเติบโตของภาคธุรกิจและการลงทุน ที่สามารถทำได้ในเบื้องต้นเช่น “Financial Inclusion” เพิ่มโอกาสทางการเข้าถึงบริการทางการเงิน เนื่องจากมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน

“การมีคุณภาพชีวิตที่ดีต้อง 3 อย่างคือมีการศึกษา สุขภาพ และการเงิน และ “Digital Inclusion” จะสามารถตอบโจทย์ทั้ง 3 ด้านนี้ได้”

 

ผลักดัน ‘Culture of Innovation’

เขากล่าวว่า การผลักดันให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าต้องมีการร่วมมือกันในหลายภาคส่วนมากขึ้น ปัดฝุ่นกฎหมายให้ทันสมัย เท่าทันต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยี มองให้ออกว่าอะไรที่เป็นอุปสรรค อะไรที่เป็นเทรนด์ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

อีกทางหนึ่งผลักดันการสร้าง “Culture of Innovation” วัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ความสำคัญเชิง “มูลค่า” ไม่ใช่แค่เรื่องของ “ราคา”

ประเทศไทยนับว่า มีจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ประชาชนพร้อมเปิดรับเทคโนโลยี ฉะนั้นโจทย์คือทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนให้สิ่งเหล่านี้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ ทำอย่างไรให้ตรงนี้กลายเป็น “Economic Community” ดึงให้การพัฒนาต่างๆ อยู่ภายในประเทศไทย

“เราต้องมีความชัดเจนด้านการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ ขณะเดียวกันก้าวไปข้างหน้าให้ได้แบบก้าวกระโดด เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพลิกโฉม จริงจัง ต่อเนื่อง ถ้าเร่งสปีดตั้งแต่ตอนนี้นับว่ายังไม่สายไปเกินไป”

 

‘เอดับบลิวเอส’ เดินหน้าลงทุนไทย

สำหรับ เอดับบลิวเอส วางตำแหน่งประเทศไทยเป็นแถวหน้าของเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่นานมานี้ได้ประกาศแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคลาวด์ระดับโลกในประเทศไทย “AWS Asia Pacific (Bangkok) Region” ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของบริษัทในไทยจนถึงปัจจุบัน

รีเจียนแห่งใหม่นี้ จะประกอบด้วย Availability Zone 3 แห่งเพิ่มเติมจาก Availability Zone ของเอดับบลิวเอสที่มีอยู่แล้ว 87 แห่งใน 27 ภูมิภาคทั่วโลก