‘เอ็มเฟค’ จัดทัพองค์กร ปั้นรายได้ ‘ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้’

‘เอ็มเฟค’ จัดทัพองค์กร  ปั้นรายได้ ‘ไซเบอร์ ซิเคียวริตี้’

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของดิจิทัลฟุตพรินต์จำนวนมากที่มาพร้อมกับภัยคุกคามและความเสี่ยงทางไซเบอร์...

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ผู้ก่อตั้ง และประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค (MFEC) ผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านโซลูชันพัฒนา วางระบบคอมพิวเตอร์ และเครือข่ายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ เปิดมุมมองว่า ภาพรวมตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้กำลังเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

สืบเนื่องมาจากความต้องการของตลาดที่ผันเปลี่ยนไปในยุคดิจิทัล แทบทุกกลุ่มธุรกิจต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และมองหาโซลูชันที่สามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยและแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

“สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยมีแนวโน้มชะตัวอีกกว่า 2 ปี แต่แม้กำลังซื้อจะลดลง ภาพรวมตลาดไซเบอร์ซิเคียวริตี้ยังคงใหญ่ขึ้นอย่างมาก”

ปัจจุบัน องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ทางธุรกิจระยะยาวเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในทุกรูปแบบและดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคง เพื่อรับมือและตอบสนองต่อภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และมูลค่าความเสียหายที่สูงขึ้น

ชูกลยุทธ์ “O3” รุกหนักตลาด

สำหรับเอ็มเฟค มุ่งนำเสนอโซลูชันที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการ เพิ่มคน พัฒนาซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพ ภายใต้ข้อจำกัดด้านต้นทุนของลูกค้า เหมาะสมกับงบประมาณ ตอบรับความต้องการที่สูงขึ้นจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยตั้งเป้ารายได้กลุ่มธุรกิจไซเบอร์ซิเคียวริตี้ไว้ที่ 1.5 พันล้านบาทในสิ้นปี 2566 หรือเติบโตราว 15% จากปีก่อนหน้า

โดยแนวทางการทำตลาด เน้นกลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “O₃ (Observability, Orchestrator, Optimization)” ประกอบด้วย Observability เสมือนมีผู้ช่วยสังเกตการณ์ความเคลื่อนไหวและติดตามหาหลักฐานของผู้โจมตีเพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางไซเบอร์

Orchestrator ตัวช่วยในการเชื่อมต่อและควบคุมการทำงานของ Software ที่มีความหลากหลายให้ทำงานเชื่อมต่อกันอย่างอัตโนมัติ ช่วยให้องค์กรสามารถกำกับและมองภาพรวมที่สามารถเปิด-ปิดการป้องกันภัยคุกคามได้อย่างง่ายดาย

Optimization ยกระดับความปลอดภัยให้ทุกองค์กรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ทำงานได้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเผชิญกับค่าใช้จ่ายที่บานปลาย

ศิริวัฒน์ วิเคราะห์ว่า เพื่อรับมือกับภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ควรเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ อีกทางหนึ่งมีการประสานความร่วมมือจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ปรับแก้กฎหมายให้เอื่อต่อการป้องกัน ปราบปราม เพื่อสกัดภัยคุกคามตั้งแต่ต้นทาง

แนะลงทุน เพิ่มแต้มต่อธุรกิจ

ดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เอ็มเฟค กล่าวว่า กลยุทธ์โซลูชัน O3 เริ่มจากพื้นฐานประสบการณ์ของบริษัทและพันธมิตรคู่ค้าที่แข็งแกร่งกว่า 40 ราย ผนวกกับข้อมูลปัญหาและโซลูชันจากลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่

ทั้งในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร โทรคมนาคม พลังงานและสาธารณูปโภค ฯลฯ นำมาการบูรณาการและวิเคราะห์เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนและพิสูจน์แล้วว่าสามารถแก้ปัญหาได้จริง

ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีด้านซิเคียวริตี้เป็นตัวสร้างความน่าเชื่อถือให้กับหลายกลุ่มธุรกิจ เช่นกลุ่มธนาคาร และพลังงาน พบด้วยว่า คลาวด์ซิเคียวริตี้โซลูชันมีแนวโน้มในการใช้งานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกอุตสาหกรรม

ขณะที่ การลงทุนทางด้านระบบรักษาความปลอดภัยของระบบเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน (Operational Security), AI with Cybersecurity, Automation, API Security และ Cloud Security Posture Management (CSPM) ในระบบคลาวด์กำลังกลายเป็นเรื่องที่ทุกองค์กรไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป

“เทคโนโลยีและการปกป้องทรัพย์สินทางไซเบอร์คือสิ่งสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจในยุคดิจิทัลที่มีการแข่งขันสูง”

มุ่งบริการระดับ ‘เวิลด์คลาส’

เอ็มเฟคระบุว่า ในฐานะผู้นำตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ระดับท็อป 3 ของประเทศไทยวางแผนที่จะต่อยอดธุรกิจผ่านการพัฒนาบุคคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ วิเคราะห์ระบบฐานข้อมูลเทคโนโลยีและองค์ความรู้ พร้อมเสริมสร้างฐานพันธมิตรคู่ค้า World Class Cyber Security Partner

บริษัทตั้งเป้าไว้ว่าในปี 2566 ภาพรวมธุรกิจเอ็มเฟคจะมีรายได้เติบโตเกิน 15% จากปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ 5,453 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนแนวโน้มการเติบโตของกลุ่มไซเบอร์ซิเคียวริตี้ประมาณ 25%

ปัจจุบัน ฐานลูกค้าหลักๆ มาจากธุรกิจการเงิน 60% ที่เหลือเป็นโทรคมนาคม และพลังงาน คาดว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ยังคงมาจากธุรกิจการเงินเป็นหลัก

ขณะที่ การสร้างจุดต่างธุรกิจ เน้นด้านการให้บริการและบริการหลังการขาย ทำงานในฐานะที่ปรึกษาและพันธมิตร มีการแนะนำการลงทุนที่ทำให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ตอบโจทย์เงินลงทุนที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน

เอ็มเฟคมีทีมไซเบอร์ซิเคียวริตี้อยู่ราว 130 คน ลูกค้ามาจากธุรกิจระดับท็อป 5 ในแต่ละอุตสาหกรรม มีแบคล็อกกว่า 500 ล้านบาท

พร้อมประเมินว่า ภาพรวมตลาดซิเคียวริตี้ไทยปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวราว 15% ภัยคุกคามหากเป็นผู้บริโภคทั่วไปมักได้รับผลกระทบกับโมบายมัลแวร์ เช่น แอปดูดเงินและฟิชชิ่งต่างๆ ส่วนภาคธุรกิจถูกคุกคามจากทั้งแรนซัมแวร์ การขู่กรรโชกเพื่อเรียกเงิน รวมถึงการโจรกรรมข้อมูล ที่น่าสนใจและน่าจับตามองคือการเข้ามาของเอไอซึ่งส่งผลทั้งด้านดีและมีโอกาสทำให้ภัยคุกคามรุนแรงมากขึ้นได้