‘เอไอ’ ดัน ‘ความร้อน’ดาต้าเซ็นเตอร์พุ่ง ‘STT GDC’ เปิดแผน ‘ลดใช้พลังงาน’

‘เอไอ’ ดัน ‘ความร้อน’ดาต้าเซ็นเตอร์พุ่ง ‘STT GDC’ เปิดแผน ‘ลดใช้พลังงาน’

STT GDC ชี้ ‘เอไอ’ ดันความต้องการใช้ ‘ไฟ-ความร้อน’ดาต้าเซ็นเตอร์พุ่ง ดึง ลิควิด คูลลิ่ง ลดใช้พลังงานผนึก ปตท. ศึกษานำแอลเอ็นจีมาผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น ระบายความร้อน รับซื้อคาร์บอนเครดิตหนุนเกษตรกร แนะรัฐบาลใหม่หนุนดาต้าเซ็นเตอร์สร้างรายได้ประเทศแสนล้าน

นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ STT GDC Thailand กล่าวว่า แนวโน้มการเติบโตของ เอไอ ผลักดันให้มีการใช้บริการ ดาต้าเซ็นเตอร์ เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม การประมวลผลของ เอไอ ทำให้การใช้ไฟฟ้า และสร้างความร้อนในดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้นด้วย เอสทีทีฯ ในฐานะผู้ให้บริการโคโลเคชั่น ดาต้าเซ็นเตอร์ ระดับไฮเปอร์สเกล จึงได้นำระบบระบายความร้อนแบบลิควิด คูลลิ่ง (liquid cooling) หรือ ชุดน้ำปิดหล่อเย็นและชุดน้ำเปิดมาใช้ เนื่องจากระบบความเย็นของเครื่องปรับอากาศไม่เพียงพอรองรับไม่เพียงพอรองรับ

ผนึกปตท.ดึง‘ลิควิด คูลลิ่ง’ ลดร้อนดาต้าเซ็นเตอร์

เอสทีทีฯ เป็นผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์รายเดียว ที่ให้ความสำคัญการนำลิควิด คูลลิ่ง มาใช้ โดยต้องการผลักดันให้เกิด เอไอ อีโคโนมี โดยมองว่า การแข่งขันเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นไม่ใช่ ดาต้า แต่เป็นเอไอ โดยแนวโน้มการเติบโตของ เอไอทำให้การประมวลผลโดย ดาต้าเซ็นเตอร์ มีมากขึ้น ทำให้เกิดผู้ให้บริการคลาวด์มากขึ้น โดยจะเห็นว่า

ที่ผ่านมา ทั้งเอดับบลิวเอส (AWS) และ กูเกิล ประกาศขยายการลงทุนคลาวด์ในไทย ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ดาต้าเซ็นเตอร์ ต้องขยายการลงทุนเพื่อรองรับ โดย เอสทีทีฯ มีการลงทุน ดาต้าเซ็นเตอร์ ขนาด 40 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุน 1.6 หมื่นล้านบาท”

นอกจากนี้ เอสทีทีฯ ยังได้ร่วมกับบริษัท พีทีที ดิจิตอล โซลูชั่น จำกัด หรือ PTT Digital ศึกษาความเป็นไปได้ ออกแบบ และพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากพลังงานเย็น (Cold Energy) ที่ปล่อยออกมาระหว่างกระบวนการแปรสภาพของก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และน้ำเย็นเพื่อระบายความร้อนในสภาพแวดล้อมของดาต้าเซ็นเตอร์ และมีแผนสำรวจแหล่งพลังงานทางเลือกอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อใช้ใน ดาต้าเซ็นเตอร์ และรองรับ เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย พร้อมเพิ่มศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ

โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการใช้พลังงานลงอย่างน้อย 20-30% โดยการปรับประสิทธิภาพของระบบทำความเย็นและระบบพลังงานไฟฟ้าเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ (Power Usage Effectiveness หรือ PUE) และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน

รับซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกร

นายศุภรัฒศ์ กล่าวต่อว่า สำหรับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน บริษัทตั้งเป้าสร้าง ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon-Neutral) ในดาต้าเซ็นเตอร์ภายในปี 2573 จึงมีแนวคิดในการรับซื้อคาร์บอนเครดิตจากเกษตรกรไทย โดยปัจจุบัน เอสทีทีฯ เป็นดาต้าเซ็นเตอร์ ขนาด 40 เมกะวัตต์

โดยไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ เท่ากับการใช้ไฟฟ้าหมู่บ้าน 1,000 ครัวเรือน เท่ากับตู้เซิร์ฟเวอร์ 200 ตู้ โดยปัจจุบันใช้ 40 เมกะวัตต์ เท่ากับการใช้ไฟฟ้า 40,000 ครัวเรือน ไฟที่ใช้จึงมหาศาล จึงมีความต้องการซื้อคาร์บอน แนวคิดดังกล่าว จะช่วยสร้างชาวนายุคใหม่ สร้างให้เกิดเศรษฐกิจใหม่ สามารถสร้างรายได้จากขายสินค้าทางการเกษตร และการขายคาร์บอนเครดิต

“ราคาข้าวไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคารับซื้อคาร์บอนเครดิตมีโอกาสเติบโต 2-3 เท่าตัว ถ้าประเทศไทยเข้าใจตรงนี้ คือ การสร้างรายได้จากเศรษฐกิจใหม่ สนับสนุนเกษตรกรให้สามารถขายคาร์บอนเครดิต โดยมีดาต้าเซ็นเตอร์ เป็นจุดเริ่มต้น ไทยสามารถเป็นศูนย์กลางซื้อขายคาร์บอนเครดิตของภูมิภาคได้"

ที่ผ่านมา ได้นำเสนอแนวคิดดังกล่าวไปยังรัฐบาลชุดเก่าแล้วว่า ควรเน้นจุดเด่น และจุดแข็งของประเทศ ซึ่งไทยมีจุดแข็งเรื่องทำเลที่ตั้ง หรือโลเคชั่น ทำให้ดาต้าเซ็นเตอร์เข้ามาลงทุนในไทยจาก 150 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี เป็น 500 เมกะวัตต์ ด้วยโลเคชันทำให้เราสามารถขายคาร์บอนเครดิตให้สิงคโปร์ หรือมาเลเซีย ที่มีพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกป่า ซึ่งก็จะนำเสนอแนวคิดดังกล่าวไปยังรัฐบาลใหม่ด้วย

แนะรัฐบาลใหม่ดันไทย‘ฮับดาต้าเซ็นเตอร์’

นายศุภรัฒศ์ กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ควรมีแนวโน้มสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางดาต้าเซ็นเตอร์ภูมิภาค สร้างรายได้ใหม่จากการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ โดยความไม่แน่นอนการเมือง นโยบายรัฐมีการเปลี่ยนแปลง อนาคตรายได้ประเทศไทยจะมาจากไหน เพราะนักท่องเที่ยวจีนหันไปเที่ยวเกาหลี ญี่ปุ่น มากขึ้น ส่งออก เจอคู่แข่งรายสำคัญคือเวียดนาม เศรษฐกิจโลกไม่เหมือนเดิม

“ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ สามารถสร้างรายได้จากการลงทุนให้ประเทศได้ โดยดาต้าเซ็นเตอร์ลงทุนเป็นเฟสๆ ละ 4 เมกะวัตต์ สามารถสร้างงานได้ 1,200 คน ซึ่ง 1 ตึก 20 เมกะวัตต์ สามารถสร้างงานใหม่ได้ 6,000 คน ซึ่งไม่ใช่เฉพาะงานทางด้านไอที แต่มีงานด้านไฟฟ้า งานช่าง ซึ่งดาต้าเซ็นเตอร์สามารถสร้างรายได้ สร้างงาน ให้ประเทศ ถ้ารัฐบาลเข้าใจ สนับสนุนเรื่องไฟฟ้า และการลงทุนไอที สำหรับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ สามารถดึงเม็ดเงินลงทุนเข้าประเทศได้เป็นแสนล้านบาท”