ผลกระทบของ 'เทคโนโลยี' ต่อ 'ตำแหน่งงาน' ในอนาคต

ผลกระทบของ 'เทคโนโลยี' ต่อ 'ตำแหน่งงาน' ในอนาคต

ผู้อ่านบางท่านอาจเห็นบทความที่กล่าวถึงรายงาน Future of Jobs 2023 ที่จัดทำโดย World Economic Forum ซึ่งออกมาเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานี้ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดงานและทักษะในอนาคต

ผู้อ่านบางท่านอาจเห็นบทความที่กล่าวถึงรายงาน Future of Jobs 2023 ที่จัดทำโดย World Economic Forum ซึ่งออกมาเมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมานี้ ในรายงานได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงตลาดงานและทักษะในอนาคต แต่ในบทความนี้ผมจะเน้นถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่จะมีผลต่อตลาดงานในอนาคตที่ระบุไว้ในรายงาน

รายงาน Future of Jobs 2023 เป็นการรวบรวมมุมมองบริษัท 803 แห่ง ครอบคลุมแรงงานมากกว่า 11.3 ล้านคน ในกลุ่มอุตสาหกรรม 27 กลุ่ม จากทุกภูมิภาคทั่วโลก การสำรวจครอบคลุมเรื่องแรงงาน แนวโน้มเทคโนโลยี ผลกระทบด้านแรงงาน ผลกระทบทักษะ และกลยุทธ์ธุรกิจต่างๆ ในการปรับเปลี่ยนกำลังในองค์กร ในช่วงปี2023-2027

การเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานในปี 2023 ในรายงานระบุว่า มีปัจจัยหลัก 3 ประการซึ่ง ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนของโลก (Green Transition) ที่เน้นความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดตำแหน่งใหม่ๆ ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน และก็อาจเกิดผลกระทบทำให้ตำแหน่งงานที่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมลดลงไปด้วย

การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำให้เกิดการสร้างงานใหม่ๆ และตำแหน่งงานบางประเภทหายไป

แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก ส่งผลทำให้เริ่มมีการจ้างงานน้อยลงในประเทศที่มีรายได้สูง และในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางก็อาจมีอัตราว่างงานที่สูงขึ้น รวมถึงวิกฤติค่าครองชีพที่ทำให้ค่าจ้างต่ำลง อาจทำให้มีความคาดหวังต่อแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น

ในด้านเทคโนโลยี ผลสำรวจองค์กรต่างๆ จะนำเทคโนโลยีด้านใดมาประยุกต์ใช้มากที่สุดใน 5 ปีข้างหน้าจะพบว่า 10 อันดับแรก คือ แพลตฟอร์มดิจิทัล และแอปพลิเคชัน 86.4% เทคโนโลยีการพัฒนาการศึกษา และการพัฒนาแรงงาน 80.9% การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) 80.0% อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT)76.8% คลาวด์คอมพิวติ้ง 76.6% ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 75.6% อีคอมเมิรซ์ 75.3% ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 74.9% เทคโนโลยีจัดการสิ่งแวดล้อม 64.5% และเทคโนโลยีบรรเทาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 62.8%

นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับการจ้างงานเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ที่พบว่า ทุกเทคโนโลยีน่าจะมีผลทำให้มีการจ้างงานมากขึ้น ยกเว้นสองด้าน คือ หุ่นยนต์คล้ายมนุษย์ และระบบออโตเมชั่นอื่นๆ เช่น โดรน หรือหุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมที่น่าจะทำให้ตำแหน่งงานหายไปมากกว่าจะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น

สำหรับเทคโนโลยีที่จะมีผลกระทบต่อการจ้างงาน และทำให้มีการสร้างงานเพิ่มขึ้นสูงสุด 5 อันดับแรก คือ วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ 58.0% เทคโนโลยีการบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 49.5% เทคโนโลยีการจัดการสิ่งแวดล้อม 45.8% ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ 43.3% และเทคโนโลยีชีวภาพ 42.9%

ในด้านตำแหน่งงานอีก 5 ปี ข้างหน้า คาดการณ์ว่า จากตำแหน่งงานจำนวนคน 673 ล้านตำแหน่ง จะมีตำแหน่งงานที่มีการเปลี่ยนแปลงไป 23% โดยจะมีงานที่หายไป 83 ล้านตำแหน่ง และมีงานที่จะถูกสร้างขึ้นใหม่ 69 ล้านตำแหน่ง ซึ่งหมายถึงจำนวนงาน 14 ล้านตำแหน่ง หรือประมาณ 2% จะถูกลดลงไป และยังคาดการณ์ว่าในปี 2027 จะมีงานที่ถูกทำโดยมนุษย์เหลือเพียง 57% เท่านั้น ส่วนงานอีก 43% จะเป็นงานที่ถูกทดแทนโดยเครื่องจักร หรือระบบอัตโนมัติ เมื่อเทียบในปี 2022 ที่ 66% ของงานถูกทำโดยมนุษย์

ทั้งนี้ ตำแหน่งงานใหม่ที่จะถูกสร้างขึ้นมามากที่สุด 10 อันดับแรกมี ดังนี้

  • ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI และ Machine Learning
  • ผู้ชำนาญการพัฒนาองค์กรสู่ความยั่งยืน
  • นักวิเคราะห์ธุรกิจอัจฉริยะ
  • นักวิเคราะห์ความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ
  • วิศวกรด้านฟินเทค
  • นักวิเคราะห์และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
  • วิศวกรหุ่นยนต์
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลขนาดใหญ่
  • นักควบคุมอุปกรณ์ทางการเกษตร
  • ผู้เชี่ยวชาญด้าน Digital Transformation

ส่วนตำแหน่งงานที่จะสูญหายไปมากที่สุด โดยมากจะเป็นงานที่สามารถใช้เทคโนโลยีมาทำแทนได้ เช่นพนักงานรับฝาก-ถอนเงินในธนาคาร งานธุรการและเลขานุการ เจ้าหน้าที่บัญชีแคชเชียร์และพนักงานขายตั๋ว และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เป็นต้น

ในรายงานนี้มีการระบุถึงทักษะในการทำงานที่จำเป็นในอนาคต ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นทักษะด้าน “Soft Skill” เช่นการคิดเชิงวิเคราะห์ การคิดสร้างสรรค์ความยืดหยุ่น และความคล่องตัว ภาวะผู้นำและอิทธิพลในการนำสังคม และความตระหนักรู้และการผลักดันตัวเอง แต่ขณะเดียวกันทักษะหนึ่งที่สำคัญอย่างมากคือ ทักษะด้านเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการเข้าใจ เข้าถึง และใช้เทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้ายรายงานได้กล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการพัฒนากำลังคนขององค์กร ทั้งในแง่ที่จะตัองลงทุนในการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานของบุคลากรมากขึ้น รวมถึงการสร้างแรงจูงใจที่จะดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีทักษะใหม่ๆ เข้ามาทำงาน รวมถึงความจำเป็นที่อาจต้องปรับขั้นตอนการทำงานให้มีความอัตโนมัติมากขึ้นด้วย