เร่งยกระดับ ‘อิเล็กทรอนิกส์' ไทย หนุนสู่อุตฯ ต้นน้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

เร่งยกระดับ ‘อิเล็กทรอนิกส์' ไทย  หนุนสู่อุตฯ ต้นน้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

‘6 ผู้นำ’ ชูธงยกระดับ "อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับการพัฒนาประเทศไทย" ต้องขับเคลื่อน อิเล็กทรอนิกส์ ให้เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ  จากความร่วมมือระหว่างเอกชน อุตสาหกรรม รัฐและสถาบันการศึกษา            

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เป็นที่น่าจับตา เพราะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศและภูมิภาคโลก ไม่ว่าจะเป็นอิเล็กทรอนิกส์เซ็นเซอร์ จอแสดงผล อุปกรณ์จัดเก็บพลังงาน เซมิคอนดักเตอร์ และนวัตกรรม 

ผู้นำภาคอิเล็กทรอนิกส์ของไทย มองทิศทางขับเคลื่อนขีดความสามารถการแข่งขันด้านอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ต้องการยกระดับให้เป็น ‘อุตสาหกรรมต้นน้ำ’ จากความร่วมมือระหว่างเอกชน อุตสาหกรรม รัฐและสถาบันการศึกษา

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเวทีเสวนา เรื่อง ‘อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับการพัฒนาประเทศไทย’  มีหลายมุมมองที่น่าสนใจ ..

อุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ต้องเป็น 'ต้นน้ำ’

รศ.ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า อุตสาหกรรม‘อิเล็กทรอนิกส์ ต้นน้ำ’ หากไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศ ก็ยากที่ไทยจะพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง หรือ High Technology เราจึงต้องมุ่งพัฒนากำลังคนที่มีทักษะและสมรรถนะสูง เมื่อสถาบันการศึกษาร่วมมือกับภาคเอกชนและอุตสาหกรรมได้อย่างเข้มแข็ง จะสามารถผลิตบุคลากรที่มีศักยภาพตรงตามความต้องการและแนวโน้มอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่กับส่งเสริมสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ การผลิตและยกระดับกำลังคนให้

พร้อมรองรับทั้งด้านฮาร์ดแวร์ การเขียนโปรแกรม การผลิตชิปดีไซน์ การออกแบบ หรือวงจรต่างๆ สร้างต้นแบบการเรียนรู้ Success Model และองค์ประกอบ ระบบนิเวศอื่นๆ เช่น ห้องแล็บ ยกระดับงาน R&D เครื่องมือสำหรับการเรียนการสอน เพื่อขยายผลไปสู่สถาบันต่างๆ ให้สามารถตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมและทิศทางการแข่งขันของประเทศ รวมทั้งด้านอาชีวะศึกษาที่มีจำนวนมากจะเป็นแรงพลังสำคัญ ซึ่งต้องได้รับการสนับสนุนให้เดินไปพร้อมกันอย่างต่อเนื่อง

รับมือ 'อิเล็กทรอนิกส์ ออร์แกนิคส์'

นอกจากนี้ไทยควรเตรียมการรองรับการเติบโตของ อิเล็กทรอนิกส์ออร์แกนิคส์ หรือ อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์  (Organic Electronics) ซึ่งกำลังมาแรงและเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค ด้วยวัสดุและการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ประหยัดพลังงาน ใช้ทรัพยากรต่ำ ขั้นตอนผลิตที่เรียบง่าย มีความยืดหยุ่น และประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่ อิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ เติบโตเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่และเป็นตลาดหลัก

ดร.ชิต เหล่าวัฒนา ผู้ก่อตั้ง สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม และมีบทบาทพัฒนา EEC กล่าวว่า การศึกษารูปแบบใหม่นอกจากเป็นการผลิตกำลังคนให้ทันเวลาแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ประเทศไทยสามารถนำไปสร้างแรงจูงใจให้เอกชนด้านอุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์เข้ามาลงทุนใประเทศได้ แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญมากมายในมหาวิทยาลัย หากเราใช้ Supply Push เป็นแรงส่งขับเคลื่อนเราจะไปได้ช้า เรามีความสามารถในการประยุกต์การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ มหาวิทยาลัย และภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยโดยมีภาคเอกชนนำ พร้อมกับการสร้างแรงจูงใจในการลงทุนและการพัฒนาบุคลากรไปพร้อมกัน

ปัจจุบันระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการ EEC Sandbox มีหลักสูตรระยะสั้นกว่า 200 หลักสูตร พัฒนาบุคลากรไปแล้วกว่า 1 แสนคน โดยเราตั้งเป้าหมายพัฒนาบุคลากรในอีอีซีจำนวน 475,000 คน

เร่งวางรากฐาน ผลิตคน Co-Created Education

"สัมพันธ์ ศิลปนาฏ" รองประธานและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายปฏิบัติการฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเชื่อมโยงด้านแรงงานคนและตลาดโลก หากมองที่ ‘อิเล็กทรอนิกส์’ จะเห็น 2 โจทย์ คือ “อุตสาหกรรมอิเล็คทรอนิกส์” และ “การพัฒนาประเทศ” สิ่งแรกคือขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศแบบ Competency Base ลดรูปแบบการศึกษาในเชิงปรัชญาและเชิงวิชาการ มีการออกไปเรียนรู้กับภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการเรียนแบบ Block Course โดยเริ่มต้นทันทีในรั้วการศึกษาของมหาวิทยาลัย ผลิตกำลังคนแบบ Supply Push ให้กลายเป็น Demand Pull ป้อนสู่ความต้องการของตลาดแรงงาน

การมี Co-Created Education อาจารย์จะต้องร่วมกันกับภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรมเพื่อเรียนรู้ไปด้วยกัน และ In-Depth Partnerships เป้าหมายของการศึกษารูปแบบใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตตอบโจทย์มาตรฐาน ‘พลเมืองโลก’ (Global Citizens) ได้รับผลตอบแทนสูง มีงานตั้งแต่เรียนจบ ประเทศไทยต้องมองไปที่การพัฒนา ‘Hi-End Technology’ ขยับขึ้นไปเป็น ‘ต้นน้ำ’ ลดการพึ่งพา Assembly และ Test โดยคาดการณ์ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า อุตสาหกรรมไมโครอิเล็คทรอนิกส์ จะเติบโตขึ้น 46 % ทั่วโลก

ดร.บดินทร์ เกษมเศรษฐ์ ซีอีโอ บมจ. ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงเริ่มการระบาดโควิด 19 การเติบโตของเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกก้าวกระโดดเติบโตมากถึง 1,1000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเรามองย้อนกลับไปในระดับมหภาครวมระยะ 30 ปีก่อน ยอดขายของเซมิคอนดักเตอร์เติบโต 50,000 ล้านดอลลาร์ ที่เห็นชัดเจนคือ เริ่มมีการเคลื่อนไหวของบริษัทเซมิคอนดักเตอร์ในจีน ที่มองหาพาร์เนอร์และการตั้งบริษัทในต่างแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในสหรัฐอเมริกาก็ได้เคลื่อนไหวเช่นกัน

เมื่อก่อนเราจะรับรู้ว่าเส้นทางเทคโนโลยีเป็นการเปลี่ยนจากโลกตะวันตกมาเป็นตะวันออก West to East แต่ในปัจจุบันเกิดการสวนกลายเป็น East to West ส่วนเทคโนโลยีของ Wafer Fabrication เทคโนโลยีของการ Design ย้ายมาเติบโตที่ East ซึ่งในต่างประเทศประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เป็นการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญและเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทย จะเห็นได้ว่าในส่วนของ ซิลิคอน คราฟท์ ฯ เติบโตขึ้น 2 เท่า ในระยะเวลา 2 ปีครึ่ง ตามเป้าหมายที่วางไว้ 4 ปี ซึ่งเป็นสัญญาณที่จะเกิดโอกาสสำคัญๆ ที่น่าจับตามอง

"การให้ความสำคัญในเรื่อง Hardware Development ของเรายังมีไม่เพียงพอ ทำให้เราก้าวได้ช้ากว่าประเทศอื่นๆ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ คือความต้องการเป็นของคนทั้งโลก เรามีความสามารถที่จะพัฒนาประเทศพัฒนาศักยภาพของบุคลากร เราต้องมองไปถึงความต้องการในระดับโลก"

จี้รัฐ เร่งดึงดูดนักลงทุน

"วิรัตน์ ศรีอมรกิจกุล" กรรมการผู้จัดการ บริษัท อนาล็อก ดีไวเซส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกอิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ในปี 2021 อยู่ประมาณ 2 ล้านล้านบาท หรือเทียบเท่ากับ 12.5% ของ GDP ในประเทศไทย แต่น่าเสียดายที่อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยกลับไม่มี ‘ธุรกิจต้นน้ำ’ ในอนาคตเรามีแผนจะขยายโรงงาน พัฒนา R&D และ IC Design ระยะเวลา 5 ปีจะมีความต้องการวิศวกรกว่า 400 คน โดยเฉพาะด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาเช่น สจล.ในการเป็นแก่นกลางทางด้านอิเล็คทรอนิกส์ของประเทศ ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศไทย สถาบันการศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ และสตาร์ทอัพในประเทศไทย ภาครัฐควรให้ความสำคัญในการดึงดูดนักลงทุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ เพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างที่เห็นได้จาก เวียดนาม ที่ได้ให้การสนับสนุนสิทธิประโยชน์สูงกว่าประเทศไทยมาก ไต้หวัน นับเป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ การที่ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.ความทะเยอทะยาน (Ambition) มีวิสัยทัศน์กว้างไกลสู่อนาคต 2.ความกล้าที่จะทำ (Courage) 3. ทำด้วยประสิทธิภาพและความรวดเร็ว (Agility) ให้ภาครัฐมองเห็นผลกระทบของภาพรวมใหญ่ในระยะยาว

รศ.ดร.สุขุม อิสเสงี่ยม ผู้ประสานงาน สำนักประสานงานการวิจัยและพัฒนาวัสดุขั้นสูงเพื่ออุตสาหกรรม สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการออกแบบ ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ไมโครอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศ หรือ Grand Technology ต่อไปในอนาคต ซึ่งมีความสำคัญที่ต้องส่งเสริมและพัฒนาให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีองค์ความรู้ในด้านนี้ และต้องไม่เป็นรองที่อื่น ผลักดันประเทศไทยให้เกิด ‘ฮับไมโครอิเล็กทรอนิกส์’

โดยให้ภาคเอกชนนำเป็นหลัก ภาครัฐเป็นผู้ให้การสนับสนุนอย่างเข้มแข็ง ประสานให้เกิดความสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งต้องร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อจะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้ก้าวไปข้างหน้า