‘ซิสโก้’ เปิดดัชนี ‘ซิเคียวริตี้’ ส่องแลนด์สเคปใหม่ ‘ภัยไซเบอร์’

‘ซิสโก้’ เปิดดัชนี ‘ซิเคียวริตี้’ ส่องแลนด์สเคปใหม่ ‘ภัยไซเบอร์’

ภายใต้สถานการณ์ของโลกไฮบริดในยุคหลังโควิด ดัชนีความพร้อมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของซิสโก้ ระบุว่า ผู้ใช้และข้อมูลต่างๆ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองความปลอดภัยเพื่อรองรับการทำงานทุกที่ทุกเวลา

Key Points :

  • แลนด์สเคปของภัยคุกคามในปัจจุบันมีความแออัดและซับซ้อนมากขึ้น
  • การทรานส์ฟอร์มไปสู่โลกไฮบริดก่อให้เกิดปัญหาท้าทายใหม่ๆ ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้
  • เกือบ 40% ขององค์กรธุรกิจจัดอยู่ใน “ระดับเริ่มต้นหรือก่อร่างสร้างตัว” 

ผลการศึกษาโดย “ซิสโก้” เผยว่า มีเพียง 27% ขององค์กรในประเทศไทยเท่านั้นที่มีความพร้อมในระดับ “Mature” หรือ “มีความพร้อมอย่างเต็มที่” ในการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์สมัยใหม่ 

โดยช่องว่างด้านความพร้อมสำหรับไซเบอร์ซิเคียวริตี้จะกว้างขึ้น ถ้าหากผู้บริหารฝ่ายธุรกิจและฝ่ายระบบรักษาความปลอดภัยไม่รีบเร่งดำเนินมาตรการที่เหมาะสม

ความยืดหยุ่นในโลกไฮบริด

จีทู พาเทล รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายระบบรักษาความปลอดภัยและการทำงานร่วมกัน ซิสโก้ เปิดมุมมองว่า การทรานส์ฟอร์มไปสู่โลกไฮบริด ที่มีการทำงานจากอุปกรณ์หลายเครื่องในหลากหลายสถานที่มากขึ้น

รวมไปถึงการเชื่อมต่อกับหลายๆ เครือข่าย พร้อมทั้งสามารถเข้าถึงแอปพลิเคชั่นบนระบบคลาวด์ได้ในขณะเดินทาง และสร้างข้อมูลจำนวนมหาศาล ความเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมก่อให้เกิดปัญหาท้าทายใหม่ๆ ทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้

ดัชนีความพร้อมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ของซิสโก้ ระบุว่า ความยืดหยุ่นในโลกไฮบริด (Cisco Cybersecurity Readiness Index: Resilience in a Hybrid World) ซึ่งได้ศึกษาความพร้อมของบริษัทต่างๆ 

ครอบคลุม 5 เสาหลักสำคัญที่เป็นพื้นฐานของการป้องกันภัยคุกคามที่จำเป็น ได้แก่ อัตลักษณ์ส่วนบุคคลอุปกรณ์ เครือข่าย เวิร์กโหลดของแอพพลิเคชั่น และข้อมูล ระบุว่า 

บริษัทต่างๆ ถูกจำแนกตามสี่ระดับของความพร้อม ซึ่งได้แก่ ระดับเริ่มต้น, ระดับก่อร่างสร้างตัว, ระดับก้าวหน้า และระดับอย่างพร้อมเต็มที่

ไทยทิศทางดี แต่ยังไม่มากพอ

นอกเหนือจากการค้นพบว่ามีเพียง 27% ของบริษัทในไทยเท่านั้นที่มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ยังพบอีกด้วยว่าเกือบ 40% ของบริษัทจัดอยู่ใน “ระดับเริ่มต้นหรือก่อร่างสร้างตัว” ซึ่งหมายถึง อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการปรับใช้โซลูชัน และมีการปรับใช้โซลูชั่นในระดับหนึ่ง แต่ประสิทธิภาพต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความพร้อมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้

ขณะที่องค์กรในไทยนับว่าทำได้ดีกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก แต่ตัวเลขก็ยังถือว่าต่ำมากเมื่อพิจารณาจากความเสี่ยงทางไซเบอร์ ในทำนองเดียวกัน 89% คาดว่าเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้จะทำให้ธุรกิจของพวกเขาหยุดชะงักในอีก 12 ถึง 24 เดือนข้างหน้า และค่าใช้จ่ายจากการขาดความพร้อมด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้อาจสูงมาก

โดย 66% กล่าวว่าพวกเขาเคยเผชิญเหตุการณ์ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และ 50% ของบริษัทที่ได้รับผลกระทบได้รับความเสียหายอย่างน้อย 5 แสนดอลลาร์

93% มีแผนเพิ่มการลงทุน

จีทู บอกว่า การเปลี่ยนย้ายไปสู่โลกไฮบริดได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อแลนสเคปด้านความปลอดภัยกับบริษัทต่างๆ และทำให้ไซเบอร์ซิเคียวริตี้มีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น

ผู้บริหารองค์กรธุรกิจจะต้องสร้างพื้นฐานของ “ความพร้อม” สำหรับ 5 เสาหลักด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างองค์กรที่มีความปลอดภัยและยืดหยุ่นความจำเป็นดังกล่าวนับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดังจะเห็นได้ว่า 93% มีแผนที่จะเพิ่มงบประมาณด้านความปลอดภัยอย่างน้อย 10% ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งการวางรากฐานดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่ง และให้ความสำคัญกับการพัฒนาส่วนที่จำเป็น พร้อมทั้งปรับปรุงความยืดหยุ่นโดยรวม

สู่แลนสเคปใหม่ภัยคุกคาม

วีระ อารีรัตนศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประจำประเทศไทยและเมียนมาร์ กล่าวว่า แลนสเคปของภัยคุกคามทางไซเบอร์ในปัจจุบันมีความแออัดและซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากองค์กรต่างๆ ในไทยดำเนินงานในโลกไฮบริดที่ขับเคลื่อนด้วยแอพ

ขณะที่ ประเทศไทยกำลังเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับองค์กรต่างๆ ในการให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ซึ่งเป็นรากฐานในการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล

“ถึงเวลาแล้วที่องค์กรต่างๆ จะต้องเปลี่ยนมาใช้แนวทางแพลตฟอร์มแบบครบวงจรสำหรับระบบรักษาความปลอดภัยที่ครอบคลุม 5 เสาหลักด้านความปลอดภัย เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและการเติบโตของธุรกิจ”