ศาล "ยกฟ้อง" บอร์ดกสทช. กรณีลงมติไฟเขียวทรูควบดีแทค

ศาล "ยกฟ้อง" บอร์ดกสทช. กรณีลงมติไฟเขียวทรูควบดีแทค

ด่วน! ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง พิพากษา ‘ยกฟ้อง’ คดีผู้บริโภคฟ้องกรรมการกสทช.ปมควบรวม ‘ทรู-ดีแทค’

วันนี้ (1 มีนาคม 2566) เวลา09.30น.ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง นัดฟังคําสั่งหรือคําพิพากษา คดีหมายเลขดําที่ อท 199/2565 ระหว่าง นางสาวธนิกานต์ บํารุงศรี โจทก์ ศาสตราจารย์คลินิกสรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ที่ 1 นายต่อพงศ์ เสลานนท์ ที่ 2 พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ที่ 3 ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต ที่ 4 รองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย ที่ 5 จําเลย เรื่อง ความผิดต่อตําแหน่งหน้าที่ราชการ (ชั้นตรวจฟ้อง) ต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม หรือ กสทช. 
 

วันที่ 20 ตุลาคม 2565 จําเลยทั้งห้าร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในคราวประชุมนัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระ การพิจารณารายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทค ผลการประชุมปรากฏว่า จําเลยทั้งห้า มีมติเสียงข้างมาก 3 ต่อ 2 เสียง ลงมติรับทราบการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค

โดยจําเลยทั้งห้าจัดให้มีการประชุมและลงมติ โดยไม่ได้รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและ ประชาชนทั่วไป ไม่นํารายงานฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบ และรับฟัง ความคิดเห็นของบริษัทที่ปรึกษาอิสระ (บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันซ่า จํากัด) เป็นการกระทําที่ฝ่าฝืน ต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง 
 

จําเลยที่ 2 ไม่มีความเป็นกลางและมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องกับบริษัททรู จําเลยที่ 1 และจําเลยที่ 2 ลงมติรับทราบเรื่องการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทคเป็นการกระทําที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นการมิชอบ 

การที่จําเลยที่ 1ในฐานะประธาน กสทช. เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการกสทช.ใช้สิทธิลงมติ 2 คร้ังในการประชุมวาระการพิจารณาเรื่องการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัทรูกับบริษัทดีแทค เป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้อง 

การที่จําเลยที่ 3 ใช้สิทธิลงมติ งดออกเสียงในการประชุมในวาระดังกล่าวเป็นการกระทํา ที่ฝ่าฝืนตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กฎ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ 

การออกมาตรการเฉพาะของจําเลยทั้งห้าที่กําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรูกับบริษัทดีแทค ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 

ขอให้ลงโทษจําเลยทั้งห้าตามประมวลอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 83

ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง พิจารณาแล้วมีคําวินิจฉัยดังนี้

1.) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553  มาตรา 28 บัญญัติให้ กสทช. จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไปก่อนออกระเบียบ ประกาศ หรือ คําสั่งเกี่ยวกับการกํากับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่มีผลเป็นการใช้บังคับทั่วไป แต่สําหรับกรณีการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและ บริษัทดีแทคเป็นการพิจารณาเพื่อมีมติหรือมีคําสั่งเกี่ยวข้องหรือผูกพันเกี่ยวกับผู้รับใบอนุญาตเฉพาะราย คือ บริษัททรูและบริษัทดีแทคเท่านั้น ไม่ได้มีผลบังคับเป็นการทั่วไป จําเลยทั้งห้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปและผู้มีส่วนได้เสียหลักก่อน 

ส่วนกรณีไม่นํารายงาน ฉบับสมบูรณ์ของที่ปรึกษาต่างประเทศมาพิจารณาประกอบและการรับฟังความคิดเห็นของที่ปรึกษาอิสระ จําเลยทั้งห้าปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกประการแล้ว

2.) จําเลยที่ 2ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับเรื่องที่พิจารณา จึงไม่มีเหตุต้องห้ามมิให้พิจารณา เรื่องทางปกครอง ไม่ปรากฏว่ากลุ่มบริษัททรู มีพฤติการณ์แทรกแซงการทํางานของจําเลยที่ 2 จนขาดอิสระในการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. จําเลยที่ 2 จึงสามารถเข้าร่วมประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาและมีมติเกี่ยวกับการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคได้

3) การรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค ไม่ใช่เป็นการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น เกินกว่าร้อยละ 50 ของจํานวนหุ้นทั้งหมดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ทั้งหมด หรือบางส่วนเพื่อควบคุมนโยบายหรือการบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น แต่เป็นการรวมธุรกิจ ที่บริษัทจํากัด (มหาชน) 2 บริษัทขึ้นไปควบรวมกันแล้วนําไปจดทะเบียนเป็นบริษัทจํากัด (มหาชน) ขึ้นใหม่ โดยบริษัททรูและบริษัทดีแทค สิ้นสภาพจากการเป็นนิติบุคคลเดิม พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่น ความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27  (11) และพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22 ไม่ได้บัญญัติให้อํานาจ กสทช. ในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต รวมธุรกิจของผู้รับอนุญาตแต่อย่างใด เพียงแต่ให้อํานาจ กสทช. เฉพาะในเรื่องการกําหนดมาตรการ การป้องกันการกระทําอันเป็นการผูกขาดเท่านั้น 

และที่ผ่านมา กสทช. เคยพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด 9 กรณี และ 9กรณีดังกล่าว ได้มีการลงมติ เพียงรับทราบรายงานการรวมธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตท้ังสิ้น ไม่มีกรณีใดที่ กสทช. มีมติอนุญาตหรือ ไม่อนุญาตการรวมธุรกิจแต่อย่างใด 

จําเลยที่ 1 และที่ 2 ลงมติรับทราบรายงานการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัททรูและบริษัทดีแทคจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

4.) การประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 5/2565 วาระการพิจารณารายงานการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค กรณีจึงต้องบังคับตามข้อ 41 วรรคสาม ของระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ พ.ศ. 2555 โดยจําเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานของคณะกรรมการ กสทช. ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด ทําให้การวินิจฉัยชี้ขาดของคณะกรรมการ กสทช.มีเสียงของผู้เห็นด้วยว่าการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทคไม่เป็นการถือครองธุรกิจในบริการ ประเภทเดียวกัน การลงมติของจําเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทําที่ถูกต้องโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว

5.) พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กําหนดให้การประชุม การลงมติและการปฏิบัติงานของ กสทช. ให้เป็นไปตามระเบียบที่ กสทช. กําหนด ระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมฯ มิได้มีข้อกําหนดให้กรรมการ กสทช. ต้องออกเสียง ทุกครั้งทุกคราวที่มีการประชุม และมิได้มีข้อกําหนดเกี่ยวกับการงดออกเสียงไว้ การที่จําเลยที่ 3 งดออกเสียงในการประชุมพิจารณาการรวมธุรกิจของบริษัททรูและบริษัทดีแทค โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่น จึงไม่มีเหตุแห่งการที่จะพิจารณาว่าจําเลยที่ 3 กระทําการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

6.) มาตรการเฉพาะที่จําเลยทั้งห้ากําหนดเกี่ยวกับเรื่องการรวมธุรกิจระหว่างบริษัททรู กับบริษัทดีแทค ได้พิจารณาข้อกังวลในหลายประเด็น ได้แก่ อัตราค่าบริการและสัญญาการให้บริการ การเข้าสู่ตลาดและประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย คุณภาพ การให้บริการ การถือครองคลื่นความถี่ การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรมและความเหลื่อมล้ําทางดิจิตอลเป็นการกระทําที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (มาตรา 77) วรรคสาม ทั้งยังเป็นการปฏิบัติ ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรขึ้นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และพระราชบัญญัติ ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 21 และมาตรา 22


ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่ปรากฏในสํานวน ฟังไม่ได้ว่า จําเลยทั้งห้ากระทําผิดตามฟ้อง ศาลย่อมมีอํานาจพิพากษายกฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ.2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องดําเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องต่อไป

พิพากษายกฟ้อง