ภาวะถดถอยจากการเกษียณอายุ

ภาวะถดถอยจากการเกษียณอายุ

ความคิดอยากเกษียณก่อนกำหนดของคนรุ่นใหม่อาจก่อ “ปัญหา” ได้มากกว่าที่คิด

เพราะหลายคนคิดถึงแต่การได้ผ่อนคลายจากความกดดันในหน้าที่การงาน และเชื่อว่าเงินเก็บสะสมที่มีนั้น น่าจะพอเพียงให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพไปจนวาระสุดท้าย แต่ด้วยอายุขัยเฉลี่ยของคนไทยที่เพิ่มขึ้นไปถึงเกือบ 80 ปี

นั่นหมายความว่าคนที่เลิกทำงานตั้งแต่ วัย 40 จะต้องดูแลตัวเองไปด้วยทรัพยสินเท่าที่มีไปอีกครึ่งชีวิต ไม่ใช่แค่ 20-25 ปีตามที่เคยประเมินไว้ และที่สำคัญก็คือภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นจะไม่ได้มีแต่ด้านสุขภาพกาย แต่สุขภาพใจที่ก้าวตามโลกไม่ทันก็อาจทำให้พลังชีวิตหดหายไปได้เร็วกว่าที่คาคคิด

เพราะในวัยเกิน 60 ปีย่อมไม่มีทางที่สภาพร่างกายจะแข็งแรงกำยำเท่ากับวัย 20-25 ปี ด้วยกล้ามเนื้อ กระดูก ประสาทสัมผัสต่าง ๆ ฯลฯ ล้วนมีสมรรถภาพลดลงตามวัย แต่สิ่งที่ยังทำให้คนวัยนี้ทัดเทียมคนหนุ่มสาวได้ก็คือสติปัญญาและความรู้ที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

การรอบรู้ที่เกิดจากการตามกระแสโลกให้ทันย่อมทำให้ผู้อาวุโสกลายเป็นคนร่วมสมัย และยังคงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนรุ่นใหม่ได้อย่างมีสีสัน ใน ซึ่งเราจะเห็นได้จากผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเราหลายคนที่ยังคงมีความคิดที่เฉียบแหลมอยู่แม้จะมีอายุอานามมากกว่า 80 ปี

ในต่างประเทศก็เช่นเฮนรี่ คิสซินเจอร์อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่จะมีอายุครบ 100 ปีในอีกไม่กี่วันแต่ยังคงให้ความเห็นด้านการเมืองระหว่างประเทศได้อย่างเฉียบคม สะท้อนให้เห็นว่าคนวัยไหนก็ตามก็ยังคงความร่วมสมัยได้เสมอหากติดตามกระแสความเปลี่ยนแปลงในโลกตลอดเวลา

การเลือกเกษียณอายุก่อนกำหนดโดยคิดจะตัดขาดจากโลกภายนอกอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก หลายคนอยากพักผ่อนให้เต็มที่ด้วยการท่องเที่ยวไปตามใจชอบซึ่งในความเป็นจริงเราอาจเที่ยวได้ถึงจุดหนึ่งเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็น 2 อาทิตย์หรือ 2 เดือนก็อิ่มตัวจนไม่อยากเที่ยวต่อแล้ว

การเชื่อมตัวเองเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะทำงานประจำหรืองานไม่ประจำยังคงเป็นทางออกที่ดีกว่าเพราะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ Involution ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงตัวเราเองที่เสื่อมถอยลงเพราะไม่ได้ใช้พลังสมองอย่างที่ควรจะเป็น

เพราะภาวะเสื่อมถอยที่เกิดขึ้นจากการเกษียณอายุของประชากรจำนวนมากในประเทศที่โครงสร้างประชากรเข้าสู่ยุคสูงวัยในหลายประเทศกำลังก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจขนานใหญ่ จนทำให้ประเทศในกลุ่มยุโรปเช่นฝรั่งเศสต้องผลักดันแผนปฏิรูประบบบำนาญด้วยการยืดการเกษียณอายุเป็น 64 ปี จนทำให้มีผู้ประท้วงเป็นจำนวนมาก

เพราะหลายประเทศเล็งเห็นกำลังสำคัญของคนในวัย 60-65 ที่ยังคงมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดีอยู่ การดึงให้คนกลุ่มนี้ยังอยู่ในระบบเศรษฐกิจจึงเป็นการใช้พลังของคนกลุ่มนี้ขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่คนวัยนี้ส่วนใหญ่ไม่ต้องการทำงานหนักต่อไปแล้วจึงพากันออกมาประท้วงจนเป็นข่าวไปทั่วโลก 

ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพราะเขาวางแผนชีวิตแบบนี้ไว้นานแล้วแต่คงไม่ใช่สำหรับคนในวัย 40-50 ปีที่รู้สึกกดดันจากการปรับตัวตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกจนอยากถอยออกไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย เพราะนั่นหมายถึงการดึงตัวเองออกไปจากการเป็นฟันเฟืองสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งหากมีจำนวนไม่มากนักก็คงไม่มีปัญหาอะไร แต่หากมีกระแสแบบนี้เกิดขึ้นจนเป็นค่านิยมก็อาจทำให้ระบบเศรษฐกิจชะงักงันลงได้

ความท้อแท้ที่เกิดจากการทำงานไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เพราะความกดดันที่เกิดจากหน้าที่การงานถือเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ความอยากเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ นั้นจะเกิดได้ต้องมีความสนุกในการทำงานอันเกิดจาก Passion ซึ่งเราต้องหาให้พบ

หากมี Passion ย่อมทำให้เราใส่ใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเสมอ และไม่มีวันบอกว่า “พอแล้ว” เพราะยังรู้สึกสนุกกับการลองทำสิ่งใหม่ ซึ่งนั่นก็จะทำให้เรากลายเป็นคนร่วมสมัยและใช้ชีวิตอยู่กับหน้าที่การงานได้อย่างเป็นหนึ่งเดียวกัน