ผ่าแผนแม่บท ‘เอไอ’ แห่งชาติ ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัล-ดันจีดีพี

ผ่าแผนแม่บท ‘เอไอ’ แห่งชาติ ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัล-ดันจีดีพี

ผ่าแผนแม่บท ‘ไอเอ’ แห่งชาติ กลไกใหญ่ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐวางโรดแมป 6 ปี ยกระดับดัชนีความพร้อมด้านเอไอของไทย ไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก เกิดการลงทุนด้านเอไอเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ไอบีเอ็ม ชี้ เอไอ เทรนด์ใหญ่ธุรกิจต้องมอง

ผ่าแผนแม่บท ‘ไอเอ’ แห่งชาติ กลไกใหญ่ปลุกเศรษฐกิจดิจิทัล รัฐวางโรดแมป 6 ปี ยกระดับดัชนีความพร้อมด้านเอไอของไทย ไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก เกิดการลงทุนด้านเอไอเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี สร้างบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ไอบีเอ็ม ชี้ เอไอ เทรนด์ใหญ่ธุรกิจต้องมอง “นักวิชาการ” หวั่น ‘เอไอ’ อาจสร้างผลลบ โดยเฉพาะ “แรงงาน” หากไม่สร้างความตระหนักรู้ให้ดี

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ คือ หนึ่งในเมกะเทรนด์โลกยุคใหม่ มีความสำคัญมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ หลายสิบปีก่อนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเข้าสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ วันนี้โลกกำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนอีกครั้ง ด้วยการมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ ทำให้จินตนาการของเรา ที่สะท้อนผ่านภาพยนตร์ในอดีตเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไร้คนขับ ร้านค้าไร้พนักงาน ระบบการเงิน การธนาคารที่ใช้เอไอวิเคราะห์แทนพนักงาน ไปจนถึงการบริการลูกค้าผ่านแชตอัจฉริยะ รวมไปถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์

ขณะที่ บรรดาบิ๊กคอร์ปทั่วโลกต่างทุ่มเงินนำเอไอ มาเป็นส่วนสำคัญ สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ เอไอ ยังเกี่ยวข้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศในอนาคตด้วย โดยเฉพาะการยกระดับอุตสาหกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการปลุกเศรษฐกิจดิจิทัล  มีตัวเลขคาดการณ์ว่า ขนาดตลาดเอไอ ทั่วโลกอยู่ที่ประมาณ 119.78 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2565 และคาดว่าจะแตะ 1,597.1 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2573

ส่วน เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม คาดการณ์ไว้ว่า จะมีตำแหน่งงานทั่วโลกมากกว่า 85 ล้านตำแหน่ง ที่จะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติในอีก 5 ข้างปีหน้า แต่ในรายงานก็ระบุว่า จะมีทักษะงานใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นจำนวน 97 ล้านตำแหน่ง เพราะเกิดการเปลี่ยนของเทคโนโลยีที่มีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานเช่นกัน

ผ่าแผนแม่บท‘เอไอ’ของไทย

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ ‘AI THAILAND’  ภายในกรอบระยะเวลาระหว่างปี 2565–2570

โดยแผนนี้ เน้นเรื่องการสร้างกำลังคนให้มีทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเอไอในทุกระดับให้ได้มากกว่า 13,500 คน ต่อปี รวมถึงการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบริการเอไอ เพื่อส่งเสริมการใช้งานผ่านแพลตฟอร์มกลางบริการเอไอประเทศไทยให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าถึงและนำเอไอไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีจำนวนการใช้งานเริ่มที่ 15 ล้านครั้งในปี 2566

แผนเอไอ ไทยแลนด์ มีเป้าประสงค์หลัก 3 ด้าน ได้แก่ สร้างคนและเทคโนโลยี สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยต้องเร่งดำเนินงาน 2 เรื่องหลักใหญ่ๆ คือ

1.ส่งเสริมการพัฒนากำลังคนด้านเอไอในไทยไม่น้อยกว่า 13,500 คนต่อปี ผ่านหลักสูตรการอบรมพัฒนาทักษะความรู้ที่เหมาะสมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบุคลากรเอไอระดับทักษะขั้นสูง คือ กลุ่มนักวิจัยและนักพัฒนาเทคโนโลยีเอไอ

กลุ่มบุคลากรเอไอระดับทักษะขั้นกลาง คือ กลุ่มนวัตกรและวิศวกร กลุ่มบุคลากรเอไอระดับทักษะขั้นต้นคือ กลุ่มอาชีพการทำงานอื่น ๆ ที่สามารถใช้งานบริการเอไอขั้นต้นในกลุ่มอาชีพของตนเอง

2.จัดทำแพลตฟอร์มกลางบริการเอไอประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) รองรับการให้บริการเอไอ เพื่อสนับสนุนการขยายตัวในการสร้างนวัตกรรมเอไอให้ทุกภาคส่วนภายในประเทศ

5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน

ขณะเดียวกัน ยังดำเนินภายใต้ 5 ยุทธศาสตร์ 15 แผนงาน ประกอบด้วย

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เตรียมความพร้อมประเทศด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับการประยุกต์ใช้เอไอ ได้แก่ พัฒนาข้อกำหนด กฎหมาย มาตรฐาน และนโยบายที่เกี่ยวข้องกับ เอไอ ของประเทศ การสื่อสาร และการสร้างการรับรู้ด้านจริยธรรมเอไอ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสนับสนุนด้านเอไอ เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่ สร้างเครือข่ายเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พัฒนาศูนย์เชื่อมโยงและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ พัฒนาแพลตฟอร์มกลางระดับประเทศเชิงบูรณาการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการประมวลผลและการคำนวณขั้นสูง

ยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มศักยภาพบุคลากร พัฒนาการศึกษาด้านเอไอ ได้แก่ พัฒนาทักษะ องค์ความรู้ทุกระดับการเรียนรู้ สนับสนุนทุนศึกษาเพื่อพัฒนาบุคลากรสู่ภาคธุรกิจ พัฒนากลไกความร่วมมือกับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีเอไอ ได้แก่ ส่งเสริมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแก่กลุ่มสาขาเป้าหมาย พัฒนาเทคโนโลยีฐาน (Core Technology) และการวิจัยเพื่อสนับสนุนแพลตฟอร์มด้านเอไอ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 ส่งเสริมให้เกิดการใช้เทคโนโลยีเอไอในภาครัฐ และภาคเอกชน ได้แก่ การใช้ เอไอ ในภาครัฐ การใช้ เอไอ ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย ส่งเสริมอุตสาหกรรมเชื่อมโยง เอไอ สู่การใช้งานพัฒนากลไก และ Sand Box เพื่อนวัตกรรม ทางธุรกิจ และ เอไอ สตาร์ทอัพ

เพิ่มขีดแข่งขันดันเงินสะพัด 6 หมื่นล.

ผลลัพธ์ความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ ตามแผนปฏิบัติการด้านเอไอ คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะสามารถร่วมสร้างคน และเทคโนโลยี ไปพร้อมการเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคม ด้วยการขับเคลื่อนระบบนิเวศที่ครบถ้วนมีตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมที่สำคัญ เช่น สร้างความตระหนักด้านจริยธรรมเอไอ ให้ประชาชนไม่ต่ำกว่า 600,000 คน ยกระดับดัชนีความพร้อมด้านเอไอของไทย ไม่ต่ำกว่าลำดับที่ 50 ของโลก

รวมถึงเกิดการลงทุนด้านเอไอเพิ่มขึ้น 10% ต่อปี มีบุคลากรด้านเอไอเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30,000 คน เกิดต้นแบบจากผลงานวิจัย และนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ไม่ต่ำกว่า 100 ต้นแบบ สร้างผลกระทบในภาคธุรกิจและภาคสังคมได้ไม่ต่ำกว่า 4.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านเอไอด้วยมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน จะมีมูลค่าที่เกิดการจ้างงานและสร้างอาชีพในประเทศเพิ่มสูงขึ้น จากบุคลากรที่มีทักษะทางด้านดิจิทัล และ เอไอ รองรับการทำงานในรูปแบบใหม่ในประเทศเพิ่มมากขึ้น จีดีพี ของประเทศเพิ่มสูงขึ้น

เอไอ เทรนด์ใหญ่ธุรกิจทั่วโลก

นายสุรฤทธิ์ วูวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเทคโนโลยี บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เทคโนโลยีที่เข้าไปมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกอุตสาหกรรมมากที่สุดวันนี้ คือ เอไอ ผลสำรวจ Global AI Adoption Index 2022 พบว่าองค์กร 35% เริ่มนำเอไอมาใช้ในธุรกิจแล้ว

ขณะที่ 42% กำลังสำรวจแนวทางในการนำเอไอ มาใช้โดยอุตสาหกรรมการเงิน สื่อ พลังงาน ยานยนต์ น้ำมัน และการผลิต คือ กลุ่มที่มีรายงานการนำเอไอไปใช้มากที่สุด

ปัจจุบัน หลายประเทศ วางกลยุทธ์และนโยบายด้านเอไอ ซึ่ง ไอบีเอ็ม มีส่วนเข้าไปร่วมให้มุมมองกับหน่วยงานภาครัฐทั่วโลกที่ตั้งประเด็นคำถามมากมาย เกี่ยวกับเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ และ call to action ที่ชัดเจนอย่างยิ่งในวันนี้ คือ หลักการด้านจริยธรรมต้องถูกบรรจุอยู่ในกลไกทำงานหลักของเทคโนโลยีด้านข้อมูลและเอไอ พร้อมอีโคซิสเต็มที่เปิดกว้างเพื่อให้มั่นใจว่าเอไอจะสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

ไอบีเอ็ม ได้เผยแพร่หลักการเรื่องความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสของเอไอ มี 3ประการ วัตถุประสงค์เอไอ คือ ช่วยเสริมความเชี่ยวชาญ ดุลพินิจ และการตัดสินใจของคน ไม่ใช่แทนที่คน ข้อมูลและมุมมองเชิงลึกที่เกิดขึ้น ย่อมเป็นของผู้สร้างข้อมูลเหล่านั้น ไม่ใช่ผู้ให้บริการไอที เทคโนโลยีก้าวล้ำอย่างเอไอต้องโปร่งใส อธิบายได้ และปราศจากอคติที่เป็นภัยและไม่เหมาะสม

นายสุรฤทธิ์ กล่าวว่า ไอบีเอ็มได้ปรับใช้หลักการด้านจริยธรรม และความโปร่งใสนี้ในการดำเนินงานทั่วโลก ผ่าน AI Ethics Board ที่ตั้งขึ้น โดย Ethics Boardทำหน้าที่สร้างการมีส่วนร่วม เผยแพร่แนวปฏิบัติที่เป็นเลิศ สร้างคอร์สเรียนเพื่อให้ความรู้และสร้างความตระหนักให้พนักงาน รวมถึงมีส่วนในการทำงานกับกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ทั่วโลก

โดย 5 สิ่งที่กำกับเทคโนโลยีด้านข้อมูลและเอไอของไอบีเอ็ม รวมถึงการทำตลาดเอไอทั่วโลก คือ ความสามารถอธิบายที่มาที่ไปของการตัดสินใจของเอไอได้ เทคโนโลยีที่เป็นธรรมเท่าเทียม เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีที่โปร่งใส และการเคารพความเป็นส่วนตัว

หวั่นเอไอ แย่งงาน -สร้างความเกลียดชัง

นายธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมดิจิทัลในไทย กล่าวว่า แม้ เอไอ จะมีประสิทธิภาพที่เก่งขึ้น แต่ในอีกมุมหนึ่งเอไอได้สร้างผลกระทบทางสังคมอย่างมาก หลายคนเริ่มเห็นผลจากโซเชียลมีเดีย ที่เอไอสร้างความแตกแยกในสังคม ด้วยการใช้อัลกอริทึมป้อนข้อมูลให้ผู้ใช้เสพข้อมูลด้านเดียวมากยิ่งขึ้น จนเกิดอคติตามความชื่นชอบของตัวเองและเชื่อข้อมูลที่ตัวเองเสพมากจนเกินไป

นอกเหนือจากปัญหาที่กล่าวมาแล้ว เอไอ ยังมีข้อเสียอีกหลายๆ เรื่อง เช่น การว่างงาน ประสิทธิภาพเอไอที่เหนือกว่ามนุษย์บางด้าน จะมีผลทำให้การทำงานต่างๆ ในหลายอาชีพต้องเปลี่ยนไป งานหลายอย่างสามารถถูกทดแทนได้ด้วยระบบอัตโนมัติที่ใช้เอไอ

มีการคาดการณ์ว่าในปี 2030 คนทำงานจำนวนระหว่าง 75-375 ล้านคน จะต้องเปลี่ยนงานหรือเรียนทักษะใหม่ในการทำงาน ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับความสามารถที่เพิ่มขึ้นของเอไอในด้านต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนเราอาจจะคิดว่าเอไอจะมีผลกระทบเฉพาะต่องานที่ใช้แรงงานทั่วไป แต่ล่าสุดเราก็เริ่มเห็นแล้วว่าเอไอสามารถที่จะมาทำงานแทนที่งานที่อาจต้องใช้ทักษะสูงแทนคนในออฟฟิศได้เช่นกัน

อีกข้อเสีย คือ การขาดความโปร่งใส ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนจำนวนมากไม่ทราบเลยว่า ระบบเอไอที่ถูกเทรนมาเพื่อทำงานแทนมนุษย์มีกระบวนการพัฒนามาอย่างไร ใช้ข้อมูลใดในการเทรน หรือใช้อัลกอริทึมใดในการเทรน การใช้ข้อมูลที่มีข้อผิดพลาดหรือข้อมูลที่โน้มเอียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ย่อมส่งผลกระทบให้เอไอตัดสินใจผิดพลาด

นอกจากนี้ การใช้อัลกอริทึมที่มีอคติหรือเลือกปฏิบัติ ปัญหาเหล่านี้เริ่มเห็นการใช้ระบบเอไอคัดเลือกผู้สมัครงาน หรือแยกแยะผู้คนในเรื่องต่างๆ ที่อาจเห็นอคติที่โน้มน้าวไปกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก่อน

"อีกข้อเสียที่เราจะเห็นจากเอไอ คือ การสร้างข้อมูลบิดเบือน เทคโนโลยีสามารถทำให้มีการสร้างข้อมูลบิดเบือนได้ง่ายขึ้น เช่น การสร้างบอตเพื่อโพสต์ข้อมูลเท็จโดยอัตโนมัติ หรือเทคโนโลยี Deepfake ที่สามารถสร้างภาพวิดีโอ เสียง จำลองที่เหมือนจริงจนผู้คนไม่สามารถแยกข้อมูลที่ถูกต้องได้"

ขณะที่ เอไอ อาจถูกผูกขาดโดยบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ เพราะการลงทุนพัฒนาระบบเอไอ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ปัจจุบันจึงเห็นการพัฒนาระบบเอไอส่วนใหญ่จะถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและจีน บริษัทเล็ก หรือรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ไม่มีเงินทุกมากนักก็อาจต้องมาพึ่งพาเทคโนโลยีของบริษัทเหล่านั้นจนอาจถูกควบคุมได้

‘เอ็ตด้า’ตั้งศูนย์ธรรมาภิบาลเอไอ

นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย จากการจัดอันดับดัชนีความพร้อมด้านเอไอของรัฐบาล (Government Artificial Intelligence Readiness Index) ในปี 2564 โดยความร่วมมือระหว่าง Oxford Insights ของสหราชอาณาจักร และศูนย์วิจัยพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Research Centre) ของแคนาดา พบว่า ไทยอยู่ที่อันดับ 59 จากทั้งหมด 160 ประเทศ

แม้ในภาพรวมคะแนนที่ได้ 52.63 คะแนน จะสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยทั้งหมดที่อยู่ที่ 47.42 คะแนนแต่หากพิจารณาในมิติย่อยๆ กลับพบว่า ในประเด็นเรื่องGovernance and Ethics ของไทยกลับมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่จึงทำให้ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้งานในทุกอุตสาหกรรมภายใต้บริบทของการคำนึงถึงการป้องกันความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจจะตามมามากขึ้น

นายชัยชนะ กล่าวต่อว่าทั่วโลกเร่งพัฒนานโยบาย มาตรฐาน และหลักธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance เพื่อเป็นกรอบหรือทิศทางในการประยุกต์ใช้งาน เอไออย่างสร้างสรรค์ และมีประสิทธิภาพ

เอ็ตด้า จึงเปิด “ศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Governance Clinic by ETDA (AIGC) เพื่อยกระดับมาตรฐานเอไอให้มีการประยุกต์ใช้ เอไออย่างรับผิดชอบ โดยจะจับมือกับพาร์ทเนอร์กระจายความรู้เกี่ยวกับธรรมาภิบาลโดยเฉพาะการใช้ เอไอ ในเรื่องสำคัญ เช่น เอไอทางการแพทย์