ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทมหาชน (2) | พิเศษ เสตเสถียร

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทมหาชน (2) | พิเศษ เสตเสถียร

ประกาศฉบับต่อมาเป็น ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง การมอบฉันทะในการประชุมผู้ถือหุ้นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565

ในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นที่ไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ด้วยตนเองก็สามารถมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุมแทนได้ โดยผลของพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 ผู้ถือหุ้นก็สามารถมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    1. หลักเกณฑ์ทั่วไปของการมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์คือ 
    (1) การมอบฉันทะต้องจัดทำขึ้นในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้วยวิธีการที่เชื่อถือได้ โดยมีเทคโนโลยีและมาตรการป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข

เว้นแต่การรับรองหรือบันทึกเพิ่มเติม ซึ่งไม่ทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงรูปแบบของหนังสือมอบฉันทะ อันเป็นข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ก็จะเป็นไปตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ขึ้นอยู่กับว่าทำในรูปแบบใด 

    (2) หนังสือมอบฉันทะที่จัดทำขึ้นในรูปแบบของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างน้อยต้องมีข้อความตามแบบหนังสือมอบฉันทะที่นายทะเบียนประกาศกำหนดในพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ. ศ. 2535 มาตรา 34  

บัญญัติว่ามีใจความว่า ในการประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ถือหุ้นจะมอบฉันทะให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วเข้าประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทนตนก็ได้

การมอบฉันทะต้องทำเป็นหนังสือ มีรายการตามแบบที่นายทะเบียนกำหนดและลงลายมือชื่อผู้มอบฉันทะ และมอบแก่บุคคลซึ่งผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทกำหนดไว้ ณ สถานที่ที่ประชุมก่อนผู้รับมอบฉันทะเข้าประชุม เพราะฉะนั้นก็ต้องรอดูว่านายทะเบียนจะกำหนดรูปแบบของหนังสือมอบฉันทะทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างไร  

    (3) การมอบฉันทะต้องสามารถระบุตัวตนของผู้ถือหุ้นที่เป็นผู้มอบฉันทะได้ ถ้ามีการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้มอบฉันทะต้องมีมาตรฐานอย่างน้อยตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544  

ทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ประกาศข้อเสนอแนะอยู่หลายฉบับ การมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กล่าวมา ก็จะรวมถึงการจัดทำหรือแปลงเอกสารให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยเช่น อาจจะทำเอกสารนั้นเป็นกระดาษก่อน ต่อมาก็แปลงเอกสารนั้นให้เป็นเอกสาร pdf กฎหมายก็จะถือว่าเอกสารอิเล็กทรอนิกส์นั้นถูกต้อง 

    2. ผู้มอบฉันทะต้องส่งข้อมูลการมอบฉันทะทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้แก่ประธานกรรมการ หรือผู้ที่ประธานกรรมการกำหนดก่อนผู้รับมอบฉันทะเข้าร่วมประชุม อันนี้ก็เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปของการประชุม

แต่อย่างไรจึงจะถือว่าเข้าระบบ? ตามประกาศดังกล่าวก็บอกว่า ข้อมูลการมอบฉันทะได้เข้าสู่ระบบเกี่ยวกับการมอบฉันทะทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่อยู่จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่ ”คณะกรรมการ” กำหนด ให้ถือว่าผู้ถือหุ้นได้มอบฉันทะด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว

เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการของแต่ละบริษัท ที่จะต้องมากำหนดว่า กรณีอย่างจึงจะถือว่าประธานกรรมการได้รับใบมอบฉันทะอิเล็กทรอนิกส์แล้ว 

    3.ผู้ถือหุ้นที่จะมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะเพียงรายเดียวเป็นผู้เข้าร่วมประชุมและออกเสียงลงคะแนนแทน โดยไม่สามารถแบ่งแยกจำนวนหุ้นเพื่อมอบฉันทะให้ผู้รับมอบฉันทะหลายคนได้

การมอบฉันทะทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ ผู้มอบฉันทะจะมอบฉันทะให้แก่ผู้รับมอบฉันทะได้เพียงรายเดียว เป็นการตัดปัญหาอย่างหนึ่งของก่อนมอบฉันทะที่เป็นใบกระดาษที่ผู้ถือหุ้นเพียง 1 คน กระจายการถือหุ้นให้ผู้รับมอบฉันทะหลายคน เช่น ผู้มอบฉันทะคนหนึ่งถือหุ้นอยู่ 100 หุ้นก็แต่งตั้งผู้รับมอบฉันทะ 10 คน ๆ ละ 10 หุ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะไปถล่มคณะกรรมการบริษัท หรือไปถล่มอาหารว่างที่ทางบริษัทจัดเลี้ยงในการประชุมผู้ถือหุ้นก็ตามแต่ แต่ประกาศนี้ไม่ห้ามผู้รับมอบฉันทะคนหนึ่งที่จะรับมอบฉันทะจากผู้ถือหุ้นหลายคนเช่น นาย ก.ไก่คนเดียวอาจจะรับมอบฉันทะมาจากผู้ถือหุ้นหลายคนได้ 

    4. โดยที่ใบมอบฉันทะเป็นตราสารในลักษณะใบมอบอำนาจ ซึ่งตามประมวลรัษฎากรกำหนดว่าต้องเสียค่าอากรแสตมป์ โดยใบมอบฉันทะสำหรับให้ลงมติในที่ประชุมของบริษัทนั้น ถ้ามอบฉันทะสำหรับการประชุมครั้งเดียวก็ต้องปิดอากรแสตมป์ 20 บาท

แต่เมื่อเป็นการมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ การชำระเงินค่าอากรแสตมป์จะเป็นอย่างไร? ตามประกาศก็กำหนดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กรมสรรพากรจะกำหนดต่อไป 

    5. อะไรที่ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้าไม่ได้บอกเอาไว้ ก็ให้นำหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การจัดทำหรือแปลงเอกสารให้อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การส่งหรือการรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และการเก็บรักษาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับโดยอนุโลม.