ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทมหาชน (1) | พิเศษ เสตเสถียร

ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทมหาชน (1) | พิเศษ เสตเสถียร

อนุสนธิจากการที่ได้แก้ไขเพิ่มเติม กฎหมายบริษัทมหาชน โดยพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 กำหนดให้ธุรกรรมต่าง ๆ หลายอย่างในบริษัทมหาชน สามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2565 อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ออกประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 3 ฉบับเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับบริษัทมหาชน เพื่อลงรายละเอียดเกี่ยวกับเกี่ยวกับธุรกรรมต่างๆ ที่กฎหมายอนุญาตให้ทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 

ประกาศฉบับแรกคือ ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องหลักเกณฑ์การส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ. ศ. 2565 ซึ่งมีสาระสำคัญคือ

    (1) บริษัทหรือคณะกรรมการของบริษัท หากจะส่งหนังสือหรือเอกสารให้แก่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัทโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามช่องทางที่กำหนด เช่น ส่งทางอีเมล หรือส่งทาง Line ก็ได้ แทนที่ต้องส่งเป็นกระดาษอย่างเดียว 

    (2) แต่ทว่ากรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัทที่จะได้รับหนังสือหรือเอกสารดังกล่าว ต้องได้แจ้งความประสงค์หรือความยินยอมโดยชัดแจ้งเป็นหนังสือ หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์กับบริษัท หรือคณะกรรมการของบริษัทไว้ก่อนว่าให้ส่งโดยวิธีการเช่นนั้นได้

ความประสงค์หรือความยินยอมที่ว่านี้ต้อง “ชัดแจ้ง” ว่าให้ส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ จะไปตีขลุมว่าการให้ความยินยอมให้ส่งไปที่บ้าน แปลว่าให้ส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้

เพราะเหตุว่าเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้บางคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยกับวิธีการดังกล่าว หรือบางท่านอาจจะไม่มีอีเมลหรือไม่ได้เล่น LINE เพราะฉะนั้นจะไปให้ท่านเหล่านี้ยินยอมให้ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ก็คงไม่เป็นธรรม

ดังนั้น ใครที่ให้ความยินยอมให้ส่งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ก็ส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ไป ใครที่ไม่ได้ให้ความยินยอมก็ต้องส่งโดย  Messenger หรือไปรษณีย์

บริษัทก็ต้องมากำหนดช่องทาง วิธีการ และระยะเวลาให้บุคคลดังกล่าวแจ้งความประสงค์หรือความยินยอมให้ส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เช่น มีจดหมายแจ้งไปแล้วให้การในจดหมายมาว่า ยินยอมภายในกี่วัน เป็นต้น 

ผู้รับคนไหนที่แจ้งให้ความยินยอม บริษัทหรือคณะกรรมการก็จะจัดส่งไปยังที่อยู่ตามอีเมลหรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด (เช่น Line หรือ ทวิตเตอร์) ที่บุคคลนั้นได้แจ้งไว้ ใครที่ได้รับจดหมายแจ้งแล้วยังเงียบอยู่ก็ต้องแปลว่าไม่ได้ให้ความยินยอม 

(3) กรณีที่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัทซึ่งได้ให้ความยินยอมไว้แล้ว มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่อยู่ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (เช่น เปลี่ยนจาก Hotmail  มาเป็น Gmail)

หรือ เปลี่ยนช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้แจ้งไว้แล้ว (เช่น จาก  Line  มาเป็น Twitter)  หรือจะยกเลิกให้ส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กลับมาใช้ส่งแบบจดหมายธรรมดาก็จะต้องแจ้งให้บริษัททราบด้วย 

ในกรณีเช่นนี้ บริษัทคงต้องกำหนดว่าการแจ้งยกเลิกจะต้องแจ้งภายในกี่วัน เพราะมิฉะนั้นบริษัทก็ยังจะส่งจดหมายหรือเอกสารนั้นไปโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ กรณีที่ผู้รับไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบภายในระยะเวลาที่บริษัทกำหนด ตามประกาศของกรมก็ให้ถือว่า

การส่งหนังสือหรือเอกสารไปยังที่อยู่ตามจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ได้แจ้งไว้ เป็นการส่งหนังสือหรือเอกสารโดยถูกต้องแล้ว เช่น ผู้รับเลิกใช้อีเมลนั้นแล้วแต่ไม่ได้แจ้งให้บริษัททราบ กฎหมายจะถือว่าบริษัทได้ส่งโดยถูกต้อง ผู้รับที่ไม่ได้รับหนังสือหรือเอกสารดังกล่าวก็จะมาโวยวายว่าไม่ได้รับไม่ได้ 

การส่งหนังสือหรือเอกสารโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามประกาศนี้ ในกรณีที่ไม่มีข้อกำหนดใดในประกาศนี้ให้นำกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้บังคับโดยอนุโลม 

เช่น การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในประกาศฉบับนี้ก็มิได้ให้นิยามความหมายไว้หรือบอกว่าต้องลงอย่างไร ก็ไปใช้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544

ในพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บอกไว้ในมาตรา 4 ว่า “ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า “อักษร อักขระ ตัวเลข เสียงหรือสัญลักษณ์ อื่นใดที่สร้างขึ้นให้อยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนำมาใช้ประกอบกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระบุตัวบุคคล ผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นและเพื่อแสดงว่า บุคคลดังกล่าวยอมรับข้อความในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้นแทน”.