ความฉลาดเชิงสังคม

ความฉลาดเชิงสังคม

ในช่วงก่อนทศวรรษ 90 ปัจจัยที่ชี้ขาดถึงความสำเร็จของปัจเจกชนมีเพียงสติปัญญาหรือ IQ ที่สะท้อนว่าคนยิ่งเก่งก็ย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าผู้อื่น ภาพของอัจฉริยะอย่างไอน์สไตน์จึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้ประสบความสำเร็จแห่งยุค

อาจเป็นเพราะความสลับซับซ้อนทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีไม่มากนัก คนที่เก่งในด้านวิชาการซึ่งก็คือคนที่มีระดับสติปัญญาดีเลิศอาจสร้างความสำเร็จในชีวิตได้โดยไม่ต้องยุ่งเกี่ยวกับผู้คนภายนอก พูดง่ายๆ คือคนเก่งหากได้สร้างผลงานโดยลำพังก็สร้างความสำเร็จให้กับชีวิตได้แล้ว

จนกระทั่งปี 1995 Daniel Goleman ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เปลี่ยนมุมมองความคิดของผู้ที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตว่าอาจไม่ได้อาศัยแค่อัจฉริยะภาพในตัวแต่เพียงอย่างเดียว เพราะความเฉลียวฉลาดทางอารมณ์หรือ Emotional Intelligence ก็มีความสำคัญไม่แพ้กันเลย

เพราะมีการค้นพบมานานแล้วว่าการเข้าใจความรู้สึกของผู้คนรอบข้างนั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งทั้งในแง่การใช้ชีวิตทั่วไป และการทำงาน รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้คนรอบข้าง เพราะการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองและผู้อื่น จะช่วยทำให้เราสามารถเรียนรู้ ทำงาน และมีทักษะในการดำเนินชีวิตที่ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุดแห่งการพัฒนา จวบจนปี 2006 Goreman ตีพิมพ์หนังสือ Social Intelligence: The New Science of Social Relationships ที่ไม่ได้มองแค่ความสำเร็จของปัจเจกชน แต่ขยายความให้ครอบคลุมถึงสังคมโดยรวมจึงเกิดศัพท์ใหม่คือ SQ หรือความเฉลียวฉลาดเชิงสังคมเพิ่มเติมขึ้นมาอีกตัวหนึ่ง

การถือกำเนิดของ SQ นับว่าสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนยุคปัจจุบันที่จำเป็นต้องทำงานแบบพึ่งพาอาศัยกันตลอดเวลา ดังนั้นนอกจากความฉลาดทั้งในแง่ IQ และ EQ แล้ว ความเฉลียวฉลาดเชิงสังคมหรือ SQ ก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งเพราะเราต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะในการเข้าใจความรู้สึกของคนหมู่มาก รู้วิธีทำงานร่วมกับคนกลุ่มใหญ่ จนไปถึงทักษะในการเป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี

SQ จึงเป็นเหมือนส่วนขยายของ EQ ที่เน้นในเรื่องอารมณ์ความรู้สึกทั้งของตัวเองและผู้อื่น แต่เป็นภาพกว้างของทั้งสังคมว่ามีความคิดเห็นเป็นอย่างไร แม้จะมีความแตกต่างทางความคิดแต่ก็แสวงหาจุดยืนร่วมกันได้

คนที่มี SQ สูงจึงต้องเป็นคนที่มีทักษะในการเข้าใจทุกประเด็นที่เกิดขึ้นในสังคม ยอมรับฟังความต่าง และสื่อสารกับผู้คนรอบข้างอยู่เสมอเพื่อหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อให้ทุกคนที่อยู่รอบข้างสบายใจและใช้ชีวิตหรือทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

การถือกำเนิดของ SQ จึงสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนผ่านของแต่ละยุค เริ่มจากยุคที่เราเน้นการทำงานของคนเก่งที่มี IQ สูงเพียงลำพัง มาสู่การทำงานร่วมกัน ซึ่งเราจำเป็นต้องใช้ EQ เพื่อเข้าใจอารมณ์และนิสัยใจคอของผู้คนรอบข้าง

จนกระทั่งมาถึงยุคของ SQ ที่เราต้องรู้จักใช้พลังของคนทั้งสังคมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เปรียบเสมือนเฟืองแต่ละอันที่ดูไม่มีความสลักสำคัญอะไรนัก แต่การมี SQ สูงจะทำให้แต่ละคนมองเห็นว่าแม้ตัวเองจะเป็นเฟืองเล็กๆ แต่มีความหมายอย่างยิ่งเมื่อประกอบเข้าด้วยกันเป็นนาฬิกา

เมื่อทุกคนทำงานประสานกันได้อย่างเต็มที่ ก็จะกลายเป็นนาฬิกาที่มีความแม่นยำสูง บอกเวลาได้อย่างไม่ผิดพลาด และทำให้ทุกคนวางใจว่านี่คือเครื่องจักรกลบอกเวลาที่เชื่อถือได้ เฟืองทุกเฟืองจึงมีความหมาย 

เช่นเดียวกันคนในสังคมทุกคนที่ต้องรวมพลัง และเติบโตไปโดยมีทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน