“ฟลอปปีดิสก์” แผ่นเก็บข้อมูลยุค 90 แม้ไม่มีผลิตแล้ว แต่สายการบินยังใช้อยู่

“ฟลอปปีดิสก์” แผ่นเก็บข้อมูลยุค 90 แม้ไม่มีผลิตแล้ว แต่สายการบินยังใช้อยู่

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ “ฟลอปปีดิสก์” (Floppy Disk) หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “แผ่นดิสก์” (Diskette) เทคโนโลยีเก็บข้อมูลที่ได้รับความนิยมสูงยุค 90 ยังมีคนใช้อยู่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการบิน แม้ว่าจะมีความจำไม่มากก็ตาม

แผ่นสี่เหลี่ยมขนาด 3 นิ้วครึ่ง ที่มีแผ่นแม่เหล็กกลม ๆ อยู่ตรงกลางแผ่นนี้มีชื่อเรียกว่า “ฟลอปปีดิสก์” (Floppy Disk) หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “แผ่นดิสก์” (Diskette) หรือศัพท์บัญญัติภาษาไทยว่า “แผ่นบันทึก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์เก็บความจำที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงยุค 90 แต่แล้วเมื่อเวลาผ่านไป มีอุปกรณ์ที่เก็บความจำชนิดใหม่ ๆ ที่ความจำมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นแผ่นซีดี แผ่นดีวีดี แฟลชไดร์ฟ ฮาร์ดดิสก์พกพาที่มีความจุได้ถึงหลายเทราไบต์ หรือแม้กระทั่งการจัดเก็บข้อมูลขึ้นบนคลาวด์ 

ส่งผลให้ความนิยมของเจ้าแผ่นดิสก์นี้ก็ลดลงไปตามกาลเวลา Sony บริษัทเทคโนโลยีของญี่ปุ่น ประกาศหยุดการผลิตฟลอปปีดิสก์ในเดือนมี.ค. 2554 เนื่องจากความต้องการลดลงอย่างมาก เครื่องที่อ่านแผ่นดิสก์ หรือที่เรามักเรียกว่า ไดร์ฟ เอ (Drive A) ถูกตัดออกจากคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ 

แผ่นดิสก์ค่อย ๆ หายไปหาจากความทรงจำของใครหลายคน เหลือทิ้งไว้แค่เป็นสัญลักษณ์ของปุ่มเซฟตามโปรแกรมต่าง ๆ เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายอุตสาหกรรมที่ยังใช้แผ่นดิสก์อยู่

  • อุตสาหกรรมการบินลูกค้าหลักของแผ่นดิสก์

ทอม เพอร์สกี เจ้าของเว็บไซต์ floppydisk.com บริการรีไซเคิลดิสก์ออนไลน์ในแคลิฟอร์เนีย ระบุว่ายังสามารถขายแผ่นดิสก์ได้ประมาณ 500 แผ่นต่อวัน โดยกลุ่มลูกค้าหลักของเขานั้นมีทั้งอุตสาหกรรมเย็บปักถักร้อย แม่พิมพ์และการขึ้นรูป ตลอดจนผู้คนในสายการแพทย์ก็เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน เนื่องจากยังมีอุปกรณ์บางอย่างที่ใช้ในการผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ฟลอปปีดิสก์มาจนถึงทุกวันนี้ 

“ลองนึกภาพว่านี่คือปี 1990 และคุณกำลังสร้างเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่  คุณออกแบบมันให้ใช้งานได้ไปตลอดเวลา 50 ปี และคุณจึงต้องการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในตอนนั้น” เพอร์สกีระบุ ซึ่งแน่นอนว่าเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในตอนนั้นคือฟลอปปีดิสก์นั่นเอง

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นนักสะสมที่มักจะซื้อแผ่นดิสก์หลากสีสันตั้งแต่ 10-50 แผ่น แต่ลูกค้ารายใหญ่ของเพอร์สกีคืออุตสาหกรรมการบิน ที่จำเป็นต้องใช้แผ่นดิสก์ในการบำรุงรักษาเครื่องบิน

“ถ้าคุณมีเครื่องบินอายุตั้งแต่ 20-40 ปีขึ้นไป คุณจะต้องใช้แผ่นดิสก์เพื่อถ่ายโอนข้อมูลจากระบบเอวิโอนิกส์ ที่ทำหน้าที่ในการควบคุมอากาศยานและการสื่อสาร ซึ่งกว่าครึ่งของเครื่องบินที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอายุมากว่า 20 ปีทั้งนั้น” เพอร์สกีระบุ

ก่อนหน้านี้ ในปี 2563 เครื่องบินโบอิ้ง 747 เกิดพบข้อผิดพลาด (Bug) ร้ายแรงทำให้ต้องอัปเดตซอฟต์แวร์ ซึ่งด้วยความที่เครื่องบินรุ่นนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2531 ทำให้ต้องโหลดข้อมูลผ่านแผ่นดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว 

แม้ว่าในระยะหลังสายการบินหลายแห่งจะยกเลิกใช้แผ่นดิสก์ไปแล้ว แต่สายการบินส่วนใหญ่ยังคงต้องให้วิศวกรการบินถือแผ่นดิสก์ 8 แผ่นคอยอัปเดตข้อมูลเกี่ยวกับสนามบิน เส้นทางบิน รันเวย์ และอื่น ๆ ที่จำเป็นทุกเดือน

  • ฟลอปปีดิสก์ยังคงทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในโกดังของเพอร์สกีนั้นเต็มไปด้วยแผ่นดิสก์สีสันสดใส ไม่ว่าจะเป็นสีเขียว สีส้ม สีฟ้า สีเหลือง หรือสีดำที่ส่งมาจากทั่วโลก โดยเขาจะใช้เครื่องแม่เหล็กขนาดใหญ่ล้างข้อมูลเก่าภายในแผ่นดิสก์ และนำแผ่นดิสก์เหล่านั้นส่งต่อด้วยสายพานลำเลียงไปยังเครื่องจักรแปะฉลากลงบนแผ่นดิสก์ เพื่อนำไปขายให้ลูกค้ารายใหม่ต่อไป

นอกจากนี้ บนชั้นวางในโกดังของเพอร์สกี มีฟลอปปีดิสก์ขนาด 8 นิ้ว ที่เป็นแผ่นดิสก์รุ่นแรก ซึ่งบนหน้าแผ่นระบุว่าเป็นบันทึกเหตุการณ์การดีเบตของผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 1960 ระหว่าง จอห์น เอฟ เคนเนดี้ และ ริชาร์ด นิกสัน ถือว่าเป็นมรดกชิ้นสำคัญจากโลกยุคสมัยใหม่ มาจนถึงปัจจุบันเพอร์สกียังคงยืนยันว่าแผ่นดิสก์มีคุณสมบัติที่ดีในการใช้งาน

“ฟลอปปีดิสก์สามารถใช้งานได้ดี มีความเสถียรมสูง ใช้รับข้อมูลเข้าและออกจากเครื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังไม่สามารถแฮ็กข้อมูลได้โดยง่ายอีกด้วย”

แต่ต้องยอมรับว่าจุดอ่อนที่สำคัญของฟลอปปีดิสก์คือจำนวนความจุที่น้อยจนแทบไม่สามารถเก็บข้อมูลอะไรได้เลยในปัจจุบัน ด้วยความจุไม่ถึง 1 เมกะไบต์ด้วยซ้ำ แม้ว่าในช่วงสุดท้ายที่มีการพัฒนาแผ่นดิสก์ของบริษัท Lomega จะสามารถทำความจุไปได้ถึง 750 MB. ก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะแผ่นซีดีได้เข้ามาแทนที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยังมีปัญหาในการจัดเก็บหรือหยิบจับที่ต้องระวังไม่ให้โดนกับแม่เหล็กที่อยู่ตรงกลาง อีกทั้งยังไวต่อคลื่นวิทยุ เช่น ไวไฟ และ คลื่นโทรศัพท์ ซึ่งจะทำให้ข้อมูลเสียหายและไดร์ฟล้มเหลวได้

เดิมทีเพอร์สกีเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ลงบนแผ่นดิสก์ให้แก่บริษัทแห่งหนึ่งตั้งแต่ยุค 1990 แต่หลังจากทีบริษัทปิดตัวลง เขาก็เริ่มดำเนินกิจการรับซื้อแผ่นดิสก์ แต่เขาก็ไม่คาดคิดเช่นกันว่าจะอยู่รอดมาได้ถึง 20 กว่าปี

“ผมจะยังคงทำงานนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังมีคนต้องการแผ่นดิสก์ แม้ว่ามันจะไม่อยู่ตลอดไปก็ตาม”

 

  • จุดจบของฟลอปปีดิสก์ ?

หลายประเทศเริ่มมีท่าทีต่อต้านการใช้อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบเก่า พร้อมหันหน้าเข้าสู่ระบบคลาวด์ เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา ทาโร คาโนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลของญี่ปุ่น ได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าจะประกาศสงครามกับฟลอปปีดิสก์และแผ่นซีดี ด้วยการเปลี่ยนข้อบังคับเพื่อให้ภาคธุรกิจที่ต้องยื่นเอกสารต่าง ๆ กับหน่วยงานรัฐบาลเป็นรูปแบบดิจิทัล  รวมถึงเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บข้อมูลเป็นแบบดิจิทัลทั้งหมดเพื่อให้สามารถจัดการง่ายขึ้น

ทุกวันนี้แผนดิสก์ถูกคนรุ่นใหม่จดจำในฐานะสัญลักษณ์ปุ่มเซฟ ซึ่งเป็นมรดกชั้นสุดท้ายที่แผ่นดิสก์เหลือไว้เท่านั้น

“เมื่อผมเห็นปุ่มเซฟ ผมจะนึกถึงแผ่นดิสก์เสมอ แต่คนส่วนใหญ่จะนึกถึงแค่การบันทึก โดยอาจลืมหรือไม่รู้แล้วด้วยซ้ำว่าที่มาของสัญลักษณ์คืออะไร มันมีเรื่องตลกอยู่ว่าเด็ก 6 ขวบคนหนึ่งไปเจอแผ่นดิสก์ แล้วเธอก็ถามพ่อว่า ใครปรินท์รูปปุ่มเซฟแบบ 3 มิติออกมาหรอ?” เพอร์สกีพูดติดตลก

ไม่มีใครรู้ว่าอีกนานแค่ไหนแผ่นดิสก์จะหมดวาระการใช้งานในทุกอุตสาหกรรมจริง ๆ แต่ในทุกวันนี้แผ่นดิสก์ก็ถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ดักแก่ และกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญในยุค 90 ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคตแผ่นดิสก์อาจจะกลับมาอยู่ในกระแสอีกครั้งเช่นเดียวกับเทปและแผ่นเสียงที่ได้รับความนิยมอีกครั้งในปัจจุบัน (แต่แผ่นดิสก์ต้องเพิ่มความจำและแก้ปัญหาเรื่องไวต่อคลื่นวิทยุก่อน)


ที่มา: Euro NewsReutersSouth China Morning Post
Tech SpotThe Verge