‘หมอลี่’ ชี้ กสทช. มีอำนาจเต็มเคาะ 'ดีลทรูดีแทค' - จับตา 1 ใน 5 เสียงพลิกโหวต

‘หมอลี่’ ชี้ กสทช. มีอำนาจเต็มเคาะ 'ดีลทรูดีแทค'  - จับตา 1 ใน 5 เสียงพลิกโหวต

‘หมอลี่’ ชี้ไม่มีข้อเท็จจริงไปมากกว่านี้แล้วกับดีลทรูดีแทค รอเพียงผลสรุปที่ปรึกษาต่างประเทศ 14 ต.คนี้ ระบุดีลอย่างไรก็ต้องลงมติ จับตา 1 ใน 5 เสียงโหวต ส่วนตัวยังเห็นว่า “ กสทช.” มีอำนาจเต็มในการพิจารณาดีลนี้ หรือ หากอนุญาตให้รวมธุรกิจ ก็ต้องกำหนดเงื่อนไข

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช.และประธานคณะอนุกรรมการด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง ในการพิจารณาการรวมธุรกิจทรูและดีแทค กล่าวว่า กรณีดีลทรูดีแทค ไม่มีข้อเท็จจริงไปมากกว่านี้แล้ว รอเพียงผลสรุปจากที่ปรึกษาต่างประเทศที่จะสรุป 14 ต.ค นี้ ระบุดีลทรู ดีแทค อย่างไรก็ต้องมีการลงมติ โดยส่วนตัวยังเห็นว่า “ กสทช.” มีอำนาจเต็มในการพิจารณาดีลนี้ และจับตา 1 ใน 5 เสียงโหวตดีลนี้ หลังมีกระแสโหวต 2 : 2 : 1 คือ 2 เสียงดีลผ่าน อีก 2 เสียงดีลไม่ผ่าน และ 1 ไม่โหวต แค่เซ็นรับทราบ

ขณะที่ ยืนยันว่า กสทช. อาจต้องระมัดระวังในข้อกฎหมายค่อนข้างมาก เพราะอาจโดนการฟ้องร้อง ส่วนข้อมูลจากต่างประเทศที่ต้องเอามารวมพิจารณา เพราะ กสทช.ต้องการมุมมองระดับโลก เพราะในต่างประเทศเข้มงวดเรื่องการแข่งขันทางการค้ามากกว่าประเทศไทย 

"ในต่างประเทศ กรณีแบบนี้ จะมีทั้งไม่ให้ควบรวม และถ้าควบรวมต้องขายกิจการที่ทับซ้อนออกไป และต้องเปิดให้เอกชนรายอื่นเข้ามาใช้โครงข่ายได้" 

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวมองว่า ดีลนี้ผ่านให้ควบรวมได้ แต่อาจต้องมีเงื่อนไขเข้ามากำหนด   

นายประวิทย์ ยังได้ยก “คำสั่งห้ามการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน” ที่ชี้ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาดีลนี้

โดยระบุว่า ตามที่ศาลปกครองได้มีคำสั่งยกคำขอทุเลาการบังคับใช้ประกาศรวมธุรกิจของ กสทช. โดยมีรายละเอียดความเห็นว่า รายงานการรวมธุรกิจถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามประกาศมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด และเป็นกรณีที่เมื่อผู้ร้องสอดทั้งสองจะรวมธุรกิจกันซึ่งจะต้องมีการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น หรือเข้าซื้อสินทรัพย์ของผู้ร้องสอดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ผู้ร้องสอดทั้งสองยังคงต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. หากการรวมธุรกิจอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. ก็มีอำนาจสั่งห้ามการรวมธุรกิจได้

มีความพยายามดิ้นให้หลุดจากความเห็นของศาลปกครอง โดยยกเหตุผลว่า การพิจารณาการถือครองธุรกิจประเภทเดียวกันตามประกาศ ใช้เฉพาะกรณีการถือครองธุรกิจ (Acquisition) ระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน ไม่รวมถึงกรณีการรวมธุรกิจ (Merger) หากวิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว จะพบข้อสรุป ดังนี้

1.     เอกชนได้ยื่นคำชี้แจงต่อศาลปกครองในประเด็นการถือครองธุรกิจและการรวมธุรกิจต่อศาลปกครองแล้ว แต่ศาลปกครองยึดหลักการตามประกาศโดยพิจารณาจากพฤติกรรมว่า มีการเข้าซื้อหุ้นหรือถือหุ้น หรือการเข้าซื้อสินทรัพย์ มิได้ให้น้ำหนักว่าพฤติกรรมนั้น จะเรียกว่า เป็นการถือครองธุรกิจ (Acquisition) หรือการรวมธุรกิจ (Merger) ซึ่งความเห็นของศาลปกครองในครั้งนี้ เป็นการป้องกันมิให้เกิดผลของการกระทำ ที่ทำให้เกิดการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อันจะส่งผลกระทบต่อสาธารณะ ดังนั้น ทั้งพฤติกรรมและผลของการกระทำ จึงเข้าลักษณะต้องห้ามตามประกาศที่จะต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช.

2.     นอกจากนี้ ยังมีความพยายามตีความว่ากรณีดังกล่าว ไม่ใช่ธุรกรรมระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน แต่เป็นเอกชนที่ไม่มีใบอนุญาตฝ่ายหนึ่ง กับเอกชนผู้รับใบอนุญาตอีกฝ่ายหนึ่ง จึงไม่เข้าลักษณะการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามประกาศ กรณีนี้หากใช้หลักการหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก ซึ่งเป็นหลักการที่เป็นกรอบในการพิจารณาการแข่งขันทางการค้าในสหภาพยุโรปและประเทศสิงคโปร์ และเป็นไปตามประกาศ กขค. เรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้ประกอบธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กันทางนโยบายหรืออำนาจสั่งการ ที่กำหนดว่าความสัมพันธ์ดังกล่าว ถือได้ว่าผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเสมือนเป็นหน่วยธุรกิจเดียวกัน (Single Economic Entity) ที่ไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน การรวมธุรกิจระดับบริษัทแม่ที่มีอำนาจควบคุมบริษัทลูกที่ได้รับใบอนุญาตของเอกชนทั้งสองฝ่าย จึงต้องนับเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกัน ตามหลักการดังกล่าว มิเช่นนั้น การรวมธุรกิจในระดับบริษัทแม่แม้จะไม่ควบรวมบริษัทลูกเข้าด้วยกัน ก็จะส่งผลให้ไม่มีการแข่งขันตามหลักเกณฑ์ของ กขค. และย่อมส่งผลกระทบต่อสาธารณะในที่สุด

3.     ทั้งนี้ แม้จะไม่ใช้หลักการหน่วยธุรกิจเดียวกันในการพิจารณา แต่เมื่อพิจารณาในแง่กฎหมาย (Legal Entity) การรวมธุรกิจนี้ก็เป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้รับใบอนุญาตด้วยกันตามประกาศอยู่ดี เนื่องจากบริษัทลูกของทั้งสองฝั่งต่างเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและประกอบธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน ดังนั้น การที่บริษัทแม่ฝั่งที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. (D) ประสงค์จะเข้ามีอำนาจควบคุมทางอ้อมในบริษัทลูกที่ได้รับใบอนุญาตของอีกฝั่ง (T) ก็เข้าลักษณะการกระทำทางอ้อมหรือผ่านตัวแทนตามประกาศดังกล่าว

โดยถือได้ว่าบริษัทแม่ฝั่งที่กล่าวอ้างว่าไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกลไกข้อกลางให้เกิดการกระทำทางอ้อม ซึ่งสอดคล้องกับแนวคำสั่งของศาลปกครอง ที่ตั้งอยู่บนหลักการซึ่งมุ่งพิจารณาพฤติกรรมและผลของการกระทำ

กล่าวโดยสรุป กสทช. มีอำนาจสั่งห้ามถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน หากเห็นว่าการรวมธุรกิจนี้อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดในการให้บริการโทรคมนาคม ตามคำสั่งศาลปกครองทุกประการ หรืออาจอนุญาตให้รวมธุรกิจโดยกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะก็ได้ หากเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะเหล่านี้มีประสิทธิภาพเพียงพอในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ