สงครามชิงดาต้า! เหตุผล "เมตา" อาจเลิกบริการ "เฟซบุ๊ค-อินสตาแกรม" ในยุโรป

สงครามชิงดาต้า! เหตุผล "เมตา" อาจเลิกบริการ "เฟซบุ๊ค-อินสตาแกรม" ในยุโรป

เปิดเหตุผล "เมตา" (Meta) อาจเลิกบริการ "เฟซบุ๊ค" (Facebook) และ "อินสตาแกรม" (Instagram) ในยุโรป หากกฎหมายใหม่ของอียูห้ามส่งข้อมูลกลับสหรัฐ สะท้อนถึง "สงครามแย่งชิงดาต้า" ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกระหว่างสหรัฐกับยุโรป

สงครามชิงดาต้าผู้ใช้กำลังระอุ! เมื่อ “เมตา แพลตฟอร์มส อิงค์” (Meta Platforms Inc.) บริษัทแม่ของเฟซบุ๊ค โซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ระดับโลกของสหรัฐ เปิดเผยว่า อาจต้องเลิกให้บริการเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมในยุโรป หากยุโรปบังคับใช้กฎหมายใหม่ที่ทำให้บริษัทไม่สามารถส่งข้อมูลผู้ใช้งานในยุโรปกลับไปยังสหรัฐได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นในขณะที่บรรดาผู้ออกกฎหมายของสหภาพยุโรป (อียู) กำลังร่างกฎหมายใหม่เกี่ยวกับวิธีการถ่ายโอนข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก หลังจากกรอบข้อตกลงการโอนข้อมูลระหว่างประเทศ “อียู-สหรัฐ” (EU-U.S. Privacy Shield Framework) ฉบับเดิมนั้น ถูกศาลยุโรปพิพากษาว่า “เป็นโมฆะ” เมื่อเดือน ก.ค. 2563

เมตาเปิดเผยว่า หากในอนาคตไม่มีกรอบการทำงานใหม่ในเรื่องการถ่ายโอนข้อมูลข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก และบริษัทไม่สามารถอาศัยข้อสัญญามาตรฐานหรือช่องทางอื่น ๆ ในการส่งข้อมูลจากยุโรปไปยังสหรัฐได้ “บริษัทก็อาจให้บริการผลิตภัณฑ์และบริการหลัก ๆ ในยุโรปไม่ได้อีกต่อไป ซึ่งรวมถึงเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมด้วย”

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า แอ็กเซล วอส สมาชิกสภายุโรปที่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายคุ้มครองข้อมูลของอียูเปิดเผยผ่านทวิตเตอร์ว่า “เมตาจะมาข่มขู่สหภาพยุโรปให้ล้มเลิกมาตรฐานคุ้มครองข้อมูลไม่ได้” และหากเมตาตัดสินใจยกเลิกการให้บริการในยุโรป ก็จะเป็นผลร้ายกับบริษัทเอง

ทั้งนี้ บริษัทเมตาเองยอมรับว่า การยกเลิกการให้บริการในยุโรปจะส่งผลกระทบกับบริษัทอย่างร้ายแรงทั้งในด้านธุรกิจ การเงิน และผลการดำเนินงาน

นอกจากนี้ โฆษกบริษัทเมตาให้สัมภาษณ์กับซีเอ็นบีซีว่า บริษัทไม่มีความต้องการและไม่มีแผนที่จะถอนธุรกิจจากยุโรป เพียงแต่แสดงความกังวลในประเด็นเดียวกับที่เคยระบุในเอกสารฉบับก่อนหน้านี้

“แต่ในความเป็นจริงคือ ทั้งเมตาและธุรกิจ องค์กร และบริการอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างอาศัยการโอนข้อมูลระหว่างอียูกับสหรัฐทั้งสิ้น เพื่อให้บริการในระดับโลกได้” โฆษกเมตาเผย

ขณะที่ตัวแทนคณะกรรมาธิการยุโรปยังไม่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้