เอ็มเทค-บ.ธนัทธร ชู "กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก" ขานรับภาคอุตฯ

เอ็มเทค-บ.ธนัทธร ชู "กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก" ขานรับภาคอุตฯ

ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค)โชว์! กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก จากการผสมยางธรรมชาติและพลาสติก ทดแทนกรวยจราจรแบบเดิมที่ผลิตจากพลาสติก ขณะนี้ผ่านการทดสอบการใช้งานจริงจากผู้ประกอบการ ทั้งเข้าสู่กระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายเป็นที่เรียบร้อย

จุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG Economy Model ที่ต้องการให้อุตสาหกรรมไทยหันมาใช้วัสดุสีเขียว (Green Materials) ซึ่งได้มาจากธรรมชาติมากขึ้น “ยางพารา หรือยางธรรมชาติ” ถือเป็นวัสดุที่อุตสาหกรรมให้ความสนใจ และในกรณีนี้คือ ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่ เอ็มเทค สวทช. มีอยู่ในรูปความลับทางการค้า จึงสามารถตอบโจทย์ของบริษัทเอกชนที่ต้องการผลิตกรวยจราจรที่มียางธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ เพื่อผลิตเป็นกรวยจราจรเกรดพิเศษโดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR)  จากเดิมที่ผลิตจากพลาสติกประเภทเอทิลีนไวนิลแอซีเทตโคพอลิเมอร์ (Ethylene Vinyl Acetate Copolymer, EVA)

  
“จากที่ปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ใช้ยางพาราหรือยางธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในการพัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ เพื่อให้เพิ่มชนิดและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางมีรายได้มากขึ้น จึงเกิดการส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในการคมนาคมภายในประเทศมากขึ้น เช่น หลักกิโลเมตร แนวกันโค้ง และแผ่นยางกันชนครอบแบริเออร์คอนกรีต เป็นต้น กรวยจราจรก็เป็นหนึ่งในผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจและมีการใช้งานแพร่หลายในปริมาณมาก และเป็นโจทย์วิจัยที่ผู้ประกอบการต้องการให้ทีมวิจัยเอ็มเทค สวทช. ได้ช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นกรวยจราจรที่มีส่วนผสมของยางธรรมชาติ มีสมบัติยืดหยุ่น ไม่แตกหักง่ายเมื่อถูกรถเหยียบ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ตอบโจทย์ภาคเอกชนและต่อยอดไปจำหน่ายเชิงพาณิชย์ได้” ผู้อำนวยการเอ็มเทค สวทช. กล่าว
 

นายวษุวัต บุญวิทย์ ผู้บริหาร บริษัท ธนัทธร จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์จราจรฯ ที่มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 30 ปี ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามาบริษัทพยายามสนับสนุนการใช้ยางพาราในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น การผลิตหลักกิโลเมตรจากยางพารา จึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตกรวยจราจรซึ่งมีส่วนผสมของยางพารา จึงได้ติดต่อกับทีมวิจัย เอ็มเทค สวทช. เพราะทราบว่า มีผลงานนี้พร้อมถ่ายทอดฯ จากนั้นจึงได้ร่วมทดสอบผลิตภัณฑ์ และรับถ่ายทอดเทคโนโลยีในการผลิตยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก นำมาสู่การผลิต “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ซึ่งได้จัดจำหน่ายเรียบร้อยแล้ว และขณะนี้กำลังดำเนินการเพื่อจดแจ้งผลิตภัณฑ์ “กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” ให้อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยอีกด้วย


“กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก มีน้ำหนักมากขึ้น ทำให้ยึดเกาะถนนได้ดีขึ้น เวลารถวิ่งผ่าน ไม่ปลิวไปได้ง่ายเหมือนกรวยพลาสติก ทั้งนี้จากที่บริษัทฯ ได้ผลิตและจัดจำหน่ายกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก บริษัทได้การตอบรับจากผู้ใช้เป็นอย่างดี จึงได้เพิ่มกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการตลาดได้มากขึ้นอีกด้วย”
 

ภาสรี เล้ากิจเจริญ นักวิจัยเอ็มเทค สวทช. กล่าวถึงเทคโนโลยีการผลิตยางผสมพลาสติก หรือ ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ (Thermoplastic Natural Rubber, TPNR) ว่า เป็นการผสมยางธรรมชาติและพลาสติกเข้าด้วยกันในเครื่องอัดรีดสกรูคู่ (Twin Screw Extruder) ร่วมกับเทคนิคไดนามิกวัลคาไนเซชันทำให้ได้ ‘ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ เมื่อนำไปฉีดขึ้นรูปด้วยเครื่องฉีดพลาสติก (Injection Molding Machine) จึงได้ผลิตภัณฑ์กรวยจราจรที่มีลักษณะและผิวสัมผัสเหมือนยางซึ่งมาจากส่วนผสมยางธรรมชาติ 30% ต่อมาได้ร่วมทดสอบสมบัติเบื้องต้นและสมบัติการใช้งานจริง กับ บริษัท ธนัทธร จำกัด ประมาณ 1 ปี

ขณะนี้ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้กับบริษัทแล้ว และบริษัทฯ ได้เดินหน้านำไปผลิตตามมาตรฐานทันทีอีกกว่า 7 ตัน โดยผู้ประกอบการได้ซื้อยางแท่งจากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พันธมิตรภาครัฐที่สำคัญของ เอ็มเทค สวทช. มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมการใช้งานและแปรรูปยางพาราในประเทศไทย 

"กรวยจราจรชนิดใหม่นี้ ทนต่อการฉีกขาด และทนทานต่อการแตกหักได้สูงขึ้น เนื่องจากมีส่วนผสมของยางพารา นอกนั้นยังสามารถขึ้นรูปได้สะดวก รวดเร็วขึ้น แกะชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ได้ง่าย ส่งผลให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น และยังเกิดของเสียในกระบวนการผลิตน้อยลง”


อย่างไรก็ตาม นวัตกรรม ‘กรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก’ นี้ นอกจากเพิ่มความทนทานต่อการแตกหัก และพับงอ ยังทำให้กรวยจราจรยึดเกาะพื้นผิวถนนได้ดีขึ้น เพราะน้ำหนักที่มากขึ้นราว 0.2 กิโลกรัมต่อชิ้น และมียางพาราหรือยางธรรมชาติที่ยืดหยุ่นเป็นส่วนผสม อีกประเด็นที่สำคัญคือ การเลือกใช้งานวัสดุประเภท “ยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก” นี้ ยังสามารถทำให้ขึ้นรูปและนำกลับมาใช้ใหม่ได้เหมือนพลาสติก ถือว่าสอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy) ตามนโยบาย BCG Economy Model ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าการใช้ยางพาราในประเทศ โดยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากยางพารา และส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำอีกด้วย 


    นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) สนับสนุนและส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยที่ผ่านมา กยท. ดำเนินโครงการและกิจกรรมที่สนับสนุนให้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้น ได้แก่ การสนับสนุนเงินทุนให้สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางและผู้ประกอบกิจการยาง การพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงการสนับสนุนทุนวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการแปรรูปยาง

เช่นครั้งนี้ กยท. สนับสนุนและส่งเสริมโครงการจัดทำ (ร่าง) มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของกรวยจราจรยางธรรมชาติเทอร์โมพลาสติก ให้แก่ เอ็มเทค สวทช. ในปี 2565 นี้ ถือเป็นการนำยางพาราเข้าไปทดแทนพลาสติกซึ่งเป็นวัสดุพอลิเมอร์ที่มาจากปิโตรเคมี ถึง 30% โดยน้ำหนัก ความสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการบูรณาการร่วมกันระหว่างหลายหน่วยงานที่มุ่งผลักดันให้ผลิตภัณฑ์ยางของไทยมีคุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ขณะนี้ กยท. มีนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจยางพาราโดยวางแนวทางการพัฒนายางพาราสู่ความยั่งยืน ลดความเสี่ยงเรื่องผลผลิต รวมถึงปรับปรุงวิธีการทำสวนยางของเกษตรกรรายย่อยในประเทศ ให้เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องและมาตรฐานสากล เพื่อให้ผลผลิตยางของไทยเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการในตลาด ซึ่งปัจจุบัน กยท. ดำเนินกิจกรรม Rubber Way โดยมุ่งให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการสวนยางรวมถึงตัวเกษตรกรเองให้ตรงตามมาตรฐานและความต้องการของบริษัทผู้ผลิตล้อยางรายใหญ่ เบื้องต้น กยท. ได้ลงนามความร่วมมือกับมิชลินแล้ว แน่นอนว่าสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถและโอกาสด้านการแข่งขันทางธุรกิจ เกิดความมั่นคงด้านรายได้แก่เกษตรกรฯ


    “การพัฒนายางพาราตลอดห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่คุณค่า เป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันโดยใช้มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ควบคู่ไปกับการตระหนักรู้ในเรื่องสิ่งแวดล้อม 
ถือเป็นประเด็นระดับโลกที่ทุกภาคส่วนควรกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในอุตสาหกรรมยางธรรมชาติ ตั้งแต่การบริหารจัดการและสร้างมาตรฐานภายในสวนยาง (ต้นน้ำ) ไปจนถึงกระบวนการผลิตในโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพารา (ปลายน้ำ) สอดคล้องกับนโยบาย BCG MODEL ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล (Green Economy) ก่อให้เกิดความยั่งยืนกับยางธรรมชาติทั้งห่วงโซ่อุปทาน”