‘เอกชนปรับทัพรับธุรกิจโลกใหม่ ดึงลงทุน ‘ดิจิทัล-พลังงานสะอาด’

‘เอกชนปรับทัพรับธุรกิจโลกใหม่ ดึงลงทุน ‘ดิจิทัล-พลังงานสะอาด’

"เอกชน" เชื่อโอกาสทางธุรกิจในไทยยังมีมหาศาล "ดีแทค" พร้อมดัน "ดิจิทัล" ผ่านเน็ตเวิร์คที่ครอบคลุมฟื้นเศรษฐกิจปี 65 วางเป้ามุ่งพลังงานสะอาด ขณะที่ “ชไนเดอร์” เร่งผลักดัน "กริด-โครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้า" ผสานดิจิทัล หนุนพลังงานทางเลือกตอบโจทย์การบริโภคไฟฟ้าที่มีมากขึ้น

นายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวภายในงานสัมมนา "Thailand Economic Outlook 2022 อนาคตเศรษฐกิจไทย" ในหัวข้อ "ธุรกิจปรับทัพ ขยับลงทุนรับเปิดประเทศ" จัดโดย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ดีแทคมีความเชื่อว่า โอกาสของธุรกิจยังมีมหาศาล หากมีการปรับตัวรับดิจิทัลที่ดี มีโครงข่ายที่ครอบคลุม 

‘เอกชนปรับทัพรับธุรกิจโลกใหม่ ดึงลงทุน ‘ดิจิทัล-พลังงานสะอาด’

มุมมองของดีแทค เชื่อว่า อุตสาหกรรมโทรคมนาคม สามารถดำเนินบทบาทนำ ในการสนับสนุนความเท่าเทียมทางดิจิทัลผ่าน 3 ภารกิจ คือ 1. สัญญาณเน็ตเพื่อทุกคน โดยครอบคลุมการเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม การเพิ่มทักษะดิจิทัล ร่วมฟื้นเศรษฐกิจพลิกชีวิตชุมชน มุ่งสร้างทักษะดิจิทัลในเยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อย 

โดยดีแทคส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาที่เท่าเทียม และยั่งยืน พร้อมรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ในขณะนี้ หรือในปี 2565 หากสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มคลี่คลาย น่าจะส่งผลให้ภาพรวมของเศรษฐกิจฟื้นตัวตาม

ดีแทคผนึกพันธมิตรสร้างศักยภาพใหม่

นายชารัด กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพและพลวัตในการแข่งขัน รวมกับการที่ตลาดและเทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์จากผลิตภัณฑ์ และการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น จากที่หลายคนเห็นการควบรวมผนึกกำลังของดีแทคกับบริษัทพันธมิตร เพื่อนำไปสู่บริษัทใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ มีความมุ่งมั่นจะมอบคุณค่าที่ดีทั้งต่อลูกค้าและสังคม อีกทั้งยังทำให้มั่นใจว่า ลูกค้าจะได้ประโยชน์สูงสุด ที่ต้องมีการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง  

โดยบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้น จะมีศักยภาพและความสามารถเพียงพอมอบบริการที่มีคุณภาพ ที่เป็นมากกว่าเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการขับเคลื่อนบริการและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของภาคประชาชนและภาคธุรกิจ

2.ความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล ด้วยการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในยุคโควิด-19 ผู้บริโภคเริ่มหันมาแสดงความกังวลต่อความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคล และประเด็นดังกล่าวกลายมาเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการเลือกใช้บริการของผู้บริโภค 

ร่วมมือข้ามอุตฯ-มุ่งพลังงานสะอาด

ขณะที่ ผลสำรวจของ ซิสโก้ พบว่า ผู้คนกว่า 48% รู้สึกว่าตัวเอง ไม่สามารถปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลได้ดีพอ สาเหตุหลักเพราะไม่รู้ว่าองค์กรต่างๆ นั้น นำข้อมูลไปใช้ในลักษณะใดบ้าง ดีแทคในฐานะผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ได้กำหนดนโยบายปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลขึ้น เพื่อควบคุมการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลภายในองค์กร 

ทั้งนี้ สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (General Data Protection Regulation -GDPR)และพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของไทย (Personal Data Protection Act-PDPA)

และ 3.การมุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาดให้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ดีแทคจึงได้กำหนดเป้าหมาย เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ 50% ภายในปี 2573 ผ่านการใช้พลังงานทางเลือก เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในส่วนงานบริหารโครงข่าย และคอลเซ็นเตอร์ 

รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมในการนำเทคโนโลยี 4จี 5จี ร่วมกับโซลูชั่นไอโอที เพื่อสร้างระบบการจัดการพลังงานน้ำและไฟฟ้าอัจฉริยะ เพื่อช่วยอุตสาหกรรมอื่นลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย 

นอกจากนี้ ภายใต้แผนงานการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ดีแทคเดินหน้าลดปริมาณการทิ้งขยะทั่วไปจากสำนักงาน และขยะอิเล็กทรอนิกส์แบบฝังกลบเป็นศูนย์หรือ zero landfill ภายในปี 2565 โดย 80% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของดีแทค คือ ซากอุปกรณ์โครงข่าย

'ไคลเมทเชนจ์-ดิจิทัล' เมกะเทรนด์ธุรกิจ

นายสเตฟาน นูสส์ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า ปี 2565 เทรนด์ที่น่าจับตามองอย่างมาก คือ การเปลี่ยนผ่านของธุรกิจ และการใช้ชีวิตที่ทุกอย่างต้องใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเมกะเทรนด์ของธุรกิจทั่วโลก

เขากล่าวว่า ธุรกิจต้องให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเรื่องดังกล่าว พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่วนชไนเดอร์เองมีหน้าที่บริการโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การดำเนินงาน และความต้องการของลูกค้า

ชไนเดอร์มีแผนเข้าสู่ตลาดใหม่เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ ผลักดันให้กริดและโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้าในประเทศไทยใช้ดิจิทัลมากขึ้น พร้อมผลักดันการใช้พลังงานทางเลือก เช่นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ตอบโจทย์การบริโภคไฟฟ้าที่มากขึ้น

‘เอกชนปรับทัพรับธุรกิจโลกใหม่ ดึงลงทุน ‘ดิจิทัล-พลังงานสะอาด’

เร่งดัน “ดิจิทัล” ผนวกไฟฟ้า 

โดยเชื่อว่า มีแนวทางการทำงานและความพร้อมด้านโซลูชั่นที่จะพลิกโฉมการใช้พลังงาน สอดคล้องไปกับโจทย์ของภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี รวมถึงการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์เพื่อรองรับการขยายตัวของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล

สำหรับปัจจัยความท้าทาย ที่สำคัญคือการผลักดันให้ดิจิทัลผสานรวมเข้ากับไฟฟ้าอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสานเป้าหมายการลดการใช้พลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพิ่มประสิทธิภาพและลดความซับซ้อนการบริหารจัดการ ขณะเดียวกัน บริษัทเองวางเป้าไว้ว่าสัดส่วนรายได้ 80% จะมาจากการให้บริการเทคโนโลยีที่เป็นพลังงานหมุนเวียน พร้อมๆ ไปกับพัฒนาการให้บริการ การวิจัยและพัฒนาที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้งบริษัทเองและธุรกิจของลูกค้าในทุกระดับ

อย่างไรก็ดี ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นภาวะที่ยากลำบากของทุกธุรกิจ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชไนเดอร์เข้มแข็งมากขึ้น การทำงานในแต่ละประเทศต้องมีการปรับตัว กระจายการทำงานเพื่อให้สามารถสื่อสาร และเข้าถึงความต้องการของลูกค้าในแต่ละท้องถิ่นมากที่สุด

ขยายอาณาจักรกว้านซื้อบ.เทคฯ

ทั้งนี้ ชไนเดอร์ ได้ขยายขอบข่ายธุรกิจโดยการซื้อกิจการบริษัทด้านเทคโนโลยีเม็ดเงินหลายพันล้านยูโร เพื่อเสริมความความแข็งแรงการให้บริการ ทำให้สามารถช่วยลูกค้าได้ตั้งกระบวนการการออกแบบไปจนถึงการบริหารจัดการ ตลอดทั้งซัพพลายเชน

เขากล่าวว่า แผนธุรกิจปีหน้า ชไนเดอร์ยังคงมุ่งเป็นที่ปรึกษาให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะนี้มั่นใจว่ามีความพร้อมทั้งสินค้า บริการ ซอฟต์แวร์ โซลูชั่น การบริการระบบไอที ออโตเมชั่น การบริหารจัดการพลังงาน โทรคมนาคม ฯลฯ

“ไทยเป็นตลาดที่มีความสำคัญของชไนเดอร์ ในการทำธุรกิจเราวางตำแหน่งเป็นพันธมิตร ที่จะให้คำปรึกษา ทำให้แน่ใจว่าธุรกิจทุกขนาดตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่สามารถดำเนินงานได้เต็มประสิทธิภาพ และท้ายที่สุดมุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน มีการหมุนเวียนสินทรัพย์อย่างเหมาะสม”

จากการประเมินของผู้เชี่ยวชาญและนักเศรษฐศาสตร์ที่ว่า ไทยควรมีการปรับเปลี่ยน กระจายความเสี่ยงไม่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว ประเด็นนี้ชไนเดอร์มองว่าดิจิไทเซชั่นจะทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปได้อย่างสวยงาม ประเมินขณะนี้ประเทศไทยนับว่ามีตำแหน่งที่ดีอยู่แล้วในระดับอาเซียน

ดังนั้น ควรใช้โอกาสนี้ในการแข่งขัน ชไนเดอร์เองหวังเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมผลักดันขีดความสามารถการแข่งขัน และการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลของประเทศไทย