บพข. หนุนวางระบบวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

บพข. หนุนวางระบบวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

บพข. เผย ปี 2563 - 2564 ร่วมมือภาคเอกชนวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เกือบ 400 โครงการ ครอบคลุมทุกมิติ มั่นใจช่วยวางระบบในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว และวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ

ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม แห่งชาติ (สอวช.) เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธาน สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

บพข. หนุนวางระบบวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

ได้รายงานผลการดำเนินงานของ บพข. ในรอบปี 2563 - 2564 ว่า บพข. ได้ทำความร่วมมือกับภาคเอกชน ในสัดส่วน 70 : 30 ผ่านการดำเนินโครงการในปี 2563 จำนวน 92 โครงการ และปี 2564 จำนวน 280 โครงการ โดยมีกรอบการวิจัยครอบคลุม เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานวัสดุชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดิจิทัล และระบบคมนาคม ซึ่งเป็นนิมิตหมายที่ดีที่เอกชนมีความตื่นตัวในความร่วมมือในครั้งนี้ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19
 
สิรี กล่าวว่า บพข. แบ่งสัดส่วนการสนับสนุนงบประมาณออกเป็น 3 หมวดหลัก ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร สัดส่วนการจัดสรรงบประมาณ ปี 2563 อยู่ที่จำนวน 347 ล้านบาท ใน 40 โครงการ และปี 2564 จำนวน 302 ล้านบาท ใน 70 โครงการ ครอบคลุมการวิจัยหาสารประกอบในอาหารที่ทำหน้าที่พิเศษ, สารให้กลิ่นรสอาหาร, อาหารฟังก์ชั่น, การลงทุนในเครื่องจักร โครงสร้างพื้นฐาน และระบบการขนส่งแบบการควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistic) ซึ่งเป็นระบบสำคัญที่จะช่วยคงความสดใหม่ และลดการสูญเสียของสินค้า ส่งเสริมเกษตรพรีเมี่ยม และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 

2. สุขภาพและการแพทย์ มีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณปี 2563 จำนวน 796 ล้านบาท ใน 29 โครงการ และปี 2564 จัดสรร 935 ล้านบาท ใน 59 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาชีวภาพ ,พัฒนาวัคซีนและยาใหม่, โภชนเภสัช, อาหารฟังก์ชั่น และการศึกษากฎ ระเบียบ การกล่าวอ้างทางสุขภาพ, การวินิจฉัยในหลอดทดลองและเครื่องมือแพทย์, ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ขั้นสูง, เทคโนโลยีเอไอสำหรับสุขภาพ, หน่วยงานบริหารจัดงานวิจัยที่ต้องอาศัยการทดสอบทางคลินิก (CRO : Clinical Research Organization), การสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และขีดความสามารถ โดยมีผลงาน เช่น การผลิตไหมเย็บแผลละลาย ชุดตรวจแลมป์เปลี่ยนสีสำหรับการตรวจโควิด-19 ยาชีววัตถุคล้ายคลึงสำหรับกระตุ้นเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
 
3.พลังงานเคมีและวัสดุชีวภาพ ได้จัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 95 ล้านบาท ใน 42 โครงการ ปี 2564 จำนวน 91 ล้านบาท ใน 20 โครงการ ครอบคลุมเรื่องชีวมวล, พลังงานชีวภาพและเชื้อเพลงชีวภาพ, พลาสติกชีวภาพ, สารเคมีชีวภาพ และการสนับสนุนพลังงานเชิงนโยบาย โดยมีตัวอย่างผลงาน เช่น การสังเคราะห์สารปกป้องผิวไม้ด้วยเทคโนโลยีสะอาดจากของเหลือทิ้งการเกษตร ระบบการเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการกลั่นไบโอดีเซลและเอทานอล การผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงเหลวสังเคราะห์จากเทคโนโลยีสีเขียวสำหรับยานยนต์ เป็นต้น 

บพข. หนุนวางระบบวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

บพข. หนุนวางระบบวิจัยและพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ

4.เศรษฐกิจหมุนเวียน มีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 81 ล้านบาท ใน 13 โครงการ และ ปี 2564 จำนวน 142 ล้านบาท ใน 35 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน, การพัฒนารูปแบบความร่วมมือในห่วงโซ่คุณค่าเพื่อสร้างระบบ CE (Circular Economy) ที่มีผลกระทบสูง การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใช้วัตถุดิบรอบสองเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และการพัฒนาปัจจัยเอื้อข้อมูลฐานและมาตรฐานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ตัวอย่างผลงาน เช่น พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลทรีไซเคิลเพื่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ ต้นแบบเครื่องผลิตชีวมวลจากมัดใบอ้อยเพื่อโรงไฟฟ้าชีวมวล และระบบก่อสร้างโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเสริมสร้าง เป็นต้น
 
5. ท่องเที่ยวสร้างสรรค์ โดยมีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 297 ล้านบาท ใน 53 โครงการ ปี 2564 จำนวน 256 ล้านบาท ใน 73 โครงการ ครอบคลุมการพัฒนาคลัสเตอร์ท่องเที่ยวสร้างสรรค์, ความปลอดภัย, การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ, โควิด-19, การบริหารจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ, การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร, การท่องเที่ยวไทยไร้คาร์บอน, การสังเคราะห์และผลักดัน ตัวอย่างผลงาน เช่น ต้นแบบการบริหารจัดการ WellHotel เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารใน 7 พื้นที่ กระจายไปตามภูมิภาคต่างๆ เป็นต้น

6.ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งมีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 234 ล้านบาท ใน 18 โครงการ และปี 2564 จำนวน 284 ล้านบาทใน 31 โครงการ ครอบคลุมเทคโนโลยีเอไอทางการแพทย์ เอไอด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสรรค์ เอไอในเศรษฐกิจหมุนเวียน เอไอด้านการเกษตรและอาหาร และเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีตัวอย่างผลงาน เช่น ระบบประมวลภาษาธรรมชาติเพื่อการวิจัยทางการตลาด ปัญญาประดิษฐ์เพื่อติดตามและแนะนำภาวะโภชนาการสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอาการอ้วนลงพุง รวมถึงระบบจัดการผลิตไผ่แปลงใหญ่ เป็นต้น

7. ระบบคมนาคมแห่งอนาคต มีสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณในปี 2563 จำนวน 328 ล้านบาท ใน 13 โครงการ ปี 2564 จำนวน 454 ล้านบาท ใน 39 โครงการ ครอบคลุมอุตสาหกรรมยานยนต์ ระบบราง หุ่นยนต์และระบบควบคุมอัตโนมัติ อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ส่วนประกอบยานยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง เช่น การพัฒนารถไฟโดยสารต้นแบบ (รถไฟไทยทำ) ระบบการจัดการการขนส่งและโลจิสติกส์สำหรับอากาศยานไร้คนขับอัจฉริยะเพื่อการขนส่งในเขตพื้นที่ชุมชน รวมถึงการจัดทำมาตรฐานและแพลตฟอร์มการให้บริการภาคอุตสาหกรรม ภายใต้สถาบันโดรน เป็นต้น
 
สำหรับแผนการดำเนินงานปี 2565 ดร.สิรี กล่าวว่า บพข. มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนใน 5 โปรแกรมหลัก คือ 1.โปรแกรมยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศในอุตสาหกรรมรวมถึงเป้าหมายอื่นที่ไม่ใช่ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (Non-BCG) เพื่อให้ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ 40 ต้นแบบ มีหน่วยงานที่มีแพลตฟอร์มในการบ่มเพาะเทคโนโลยีจากห้องปฏิบัติการสู่ตลาด 5 หน่วย ภาคเอกชนมีการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่พัฒนาขึ้น หน่วยบ่มเพาะเทคโนโลยีในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยมีความสามารถในการผลักดันผลงานวิจัยไปสู่ตลาดเพิ่มขึ้น  

2. โปรแกรมยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจเพื่อการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ ในเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) เพื่อให้ได้ต้นแบบผลิตภัณฑ์ 73 ต้นแบบ หน่วยวิจัยและทดสอบทางคลินิกเพื่อการขึ้นทะเบียนยาแผนปัจจุบัน 1 หน่วย และภาคเอกชนมีการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยที่พัฒนา
 
3.โปรแกรมวิจัยและสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ วิทยาการหุ่นยนต์ เอไอ ดิจิทัลเทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ได้ต้นแบบเทคโนโลยี นวัตกรรมดิจิทัลในด้านสุขภาพการแพทย์ เกษตรและอาหาร และการท่องเที่ยว อย่างน้อย 50 ต้นแบบ และ SMEs ไทยมีการปรับตัวของธุรกิจตามกระแสรการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัล 4.โปรแกรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพและบริการ (NQI) สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายและภาคบริการที่สำคัญของประเทศ เพื่อให้ได้โครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพและบริการของประเทศ ด้านอาหารฟังก์ชัน  1 แห่ง เกิดระบบโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพและบริการของประเทศ ด้านอาหารฟังก์ชัน
 
5. โปรแกรมปฏิรูประบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เพื่อให้เกิดระบบจัดสรรทุนและบริหารแผนงาน โครงการวิจัยและนวัตกรรมที่ทำงานร่วมกันกับเครือข่ายระดับโลก และตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์ อววน. 1 ระบบ และจะนำไปสู่ การผลักดันนโยบาย  แนวปฏิบัติ  แผนและกฎระเบียบ ระบบจัดสรรทุนและบริหารแผนงาน โครงการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายระดับโลก และตอบโจทย์ตามยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ต่อไป
 
นอกจากนี้ บพข. ยังได้ยกระดับโรงงานต้นแบบสำหรับอาหารและสารสกัด กระจายไปยังมหาวิทยาลัยในภูมิภาคต่าง ๆ โดยภาคเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยนเรศวร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ภาคกลาง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาคใต้ ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้สนับสนุนให้เกิด CLINIXIR ซึ่งเป็น Clinical Research Organization หรือ CRO ระดับประเทศขึ้นเป็นแห่งแรกในไทยอีกด้วยซึ่ง บพข. มั่นใจว่าการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมถึงแผนการดำเนินงานในปี 2565 นี้ จะช่วยวางระบบในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับประเทศในระยะยาว