“สมเกียรติ” อัด กสทช. ไม่ทำหน้าที่ ปล่อยดีล “ทรู-ดีแทค” ฉุดโทรคมไทยถอยหลัง

“สมเกียรติ” อัด กสทช. ไม่ทำหน้าที่ ปล่อยดีล “ทรู-ดีแทค” ฉุดโทรคมไทยถอยหลัง

ประธานทีดีอาร์ไอ อัด กสทช. ไม่ทำหน้าที่ ปล่อย “ทรู-ดีแทค” ควบกิจการ พาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยถึงทางตัน ผู้ประกอบการน้อยราย ไม่มีการแข่งขัน ฉุดพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล แนะเร่งออกประกาศขายกิจการให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ห้ามขายบริษัทโทรคมนาคมด้วยกันเอง

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ (TDRI)  กล่าวว่า ดีลระหว่าง TRUE และ  DTAC ครั้งนี้ ไม่ว่าบริษัทที่เกี่ยวข้องจะเรียกว่าอะไรแต่นี่ คือ "การควบรวม" ตลาดโทรศัพท์มือถือไทยที่มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้ว จะยิ่งมีการผูกขาดมากขึ้นถึงระดับอันตราย หากมีการควบรวม ขณะที่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจากการควบรวม คือ ผู้ถือหุ้นของบริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย 

"ไม่ว่าจะเรียกว่าเป็น Equal Partnership หรืออะไรก็ตาม แต่ภาษาง่ายๆ คือ การควบรวม ผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านบวกจะเกิดขึ้นกับทั้ง 3 ราย เน้นว่าทั้ง 3 รายไม่ใช่เฉพาะกับบริษัทที่จะควบรวม เอไอเอสจะได้อานิสงส์ด้านบวกไปด้วย ขณะเดียวกัน ผู้ที่จะได้ผลกระทบด้านลบจากการควบรวม มีผู้บริโภค ประชาชน ทุกธุรกิจ การทำมาหากินวันนี้ต้องใช้โมบาย ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งสิ้น ผู้ที่จะเป็นคู่ค้าอยู่แล้วกับบริษัทโทรคมนาคม เช่น ช็อปต่างๆ ที่จะติดต่อกับบริษัทโทรศัพท์มือถือ อำนาจต่อรองก็จะลดลง สตาร์ทอัพที่หวังจะได้เงินจากเวนเจอร์แคปฯ ถ้าเกิดควบรวม คนสนับสนุนสตาร์ทอัพก็จะหายไปอีกหนึ่งราย" 

รายได้เข้ารัฐน้อยลง- ศก.ดิจิทัลเกิดยาก

ขณะที่ รัฐบาลก็จะได้ผลกระทบในแง่ลบด้วย ที่เป็นรูปธรรม คือ การประมูลคลื่นครั้งใหม่ เช่น คลื่น 6จี ในอนาคต คนจะเข้ามาแข่งขันจะลดลง รัฐรายได้ลดลง เมื่อรัฐรายได้ลด ก็มีโอกาสที่จะผู้เสียภาษีต้องโดนเก็บภาษีเพิ่ม เพื่อไปโปะการขาดดุลภาครัฐ เพื่อชะลอหนี้สาธารณะที่กำลังสูงอยู่ขณะนี้

"สุดท้ายระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ที่ต้องการให้เป็นระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ถ้าเกิดมีการควบรวมในกลุ่มโทรคมนาคม ตัวโครงสร้างพื้นฐานที่มีการผูกขาดเพิ่มขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจไทยเวลาจะทรานส์ฟอร์มไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล จะมีต้นทุนสูงขึ้นด้วย และอาจทำให้ไทยตกขบวนในการก้าวกระโดดไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล"

กสทช - กขค ต้องกำกับดูแล

ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า กสทช มีหน้าที่เพิ่มการแข่งขันในตลาด และ ลดการผูกขาด ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ เป็นการลดการแข่งขันลงมาก กสทช จะปฏิเสธหน้าที่ไม่ได้ ขณะเดียวกัน คณะกรรมการ กขค ก็มีหน้าที่ตามกฏหมายกลั่นกรองการควบรวมอย่างเข้มงวด 

เหตุผลที่ทั้ง 2 บริษัทบอกในการควบรวม คือ เป็น Equal Partnership การร่วมมือกันอย่างเท่าเทียม จะเรียกว่าอะไรก็ตาม ผลในทางเศรษฐศาสตร์ คือ การลดจำนวนผู้ประกอบการ แม้ทั้ง 2 รายจะบอกว่า การควบรวมกันจะพัฒนาเทคโนโลยี พาไทยแข่งเวทีโลก และเตรียมพร้อมความท้าทายใน 20 ปีข้างหน้า โดยจะสร้างรายได้ 2.17 แสนล้านบาท กำไรก่อนหักค่าใช้จ่าย 8.3 หมื่นล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาดต่ำกว่า 40% 

"การบอกว่ารวมกัน ส่วนแบ่งตลาดจะน้อยกว่า 40% ก็อาจจะจริง ถ้าเป็นตลาดโดยภาพรวมของโทรคม แต่ถ้าเอาตัวที่สำคัญที่สุดในตอนนี้ คือ ตลาดโทรศัพท์มือถือส่วนแบ่งการตลาดของสองรายนั้นจะรวมกันเป็น 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ของตลาด"

อย่างไรก็ตาม ประธานทีดีอาร์ไอ ระบุด้วยว่า ในต่างประเทศมีเครื่องมือวัดการผูกขาดเชิงโครงสร้าง คือ ดัชนีการกระจุกตัว หรือ Herfindahl-Hirschman Index : HHI ซึ่งค่าสูงสุด 10,000 คือ การผูกขาดรายเดียว

ขณะที่ การควบรวมที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ส่งผลให้ดัชนี HHI ของธุรกิจโทรคมไทย เพิ่มขึ้นมาที่ 5,012 จาก 3,659 หรือเพิ่มขึ้น 1,353 เรียกว่า เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดมหาศาล จนเกิดการกระจุกตัวในระดับอันตราย เป็นปัญหาใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่ต้องพูด

เขาย้ำต่อว่า ดีลการควบรวม ส่งผลให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายได้ประโยชน์อย่างชัดเจน ดูได้จากราคาหุ้นของดีแทค ก้าวกระโดดขึ้น ตลอด 5 วัน เพิ่มขึ้น 17% ขณะที่ ทรู หุ้นเพิ่มขึ้น 15%

ไม่เว้นคู่แข่ง เอไอเอส ราคาหุ้นก็เพิ่มขึ้น 7.7% ด้วย แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรง กับการควบรวมกิจการ แปลว่า เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 ราย จะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม

เมื่อตลาดเหลือผู้เล่น 2 รายแปลว่าตลาดโทรคมไทยจะย้อนกลับไปเมื่อ 15 ปีก่อนที่มีผู้เล่นเพียงแค่ เอไอเอส และดีแทค 

เหลือ 2 รายโทรคมไทยถอยหลัง

15 ปีที่แล้ว มีโอเปอเรเตอร์ 2 ราย คือเอไอเอส และดีแทค การแข่งขันน้อย ใครได้ประโยชน์ ตอนนั้นมี  2 ราย มีบริการไม่เป็นมิตรกับผู้ใช้ มีการล็อกอีมี่ เช่น ถ้าอยากใช้เอไอเอสต้องซื้อโทรศัพท์จากเอไอเอส เพราะมีการล็อกอีมี่เอาไว้

ซึ่งการควบรวมครั้งนี้ จะทำให้คุณภาพลดลง มีการบังคับขายพ่วงบริการ แพ็กเก็จที่ไม่เป็นประโยชน์  เพราะมีผู้ให้บริการให้เลือก 2 ราย จากเดิมมีทางเลือก 3 ราย  เช่นเดียวกับ สตาร์ทอัพ ที่หวังได้เงินจากค่ายมือถือ หากมีการรวมกิจการ แหล่งสนับสนุนก็จะลดลง  

รัฐนั้นเสียผลประโยชน์จากการควบรวมกิจการครั้งนี้แน่ ซึ่งเคยเกิดขึ้นจากการประมูล 3จี มาแล้ว ที่มีผู้ประมูล  3  ราย  เคาะประมูลเสร็จในวันเดียว ผู้ประกอบการได้ไลเซ่นส์ 3จี ไปในราคาถูก จน กสทช.ออกมามีคำสั่งให้ลดราคาลงมา 15%  ท้ายสุดโอเปอเรเตอร์ที่มีข้อมูลผู้บริโภคเมินออกแพ็กเกจ ราคาถูกลง 15% 

ขณะที่ อนาคตรัฐบาล เปิดประมูลคลื่นความถี่ 6จี  ผู้ให้บริการลดลง ไม่มีการแข่งขัน รายได้เข้ารัฐก็ลดลง นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบกับอนาคตเศรษฐกิจดิจิทัล หากปล่อยให้โครงสร้างอยู่ในตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน  ผู้ใช้ องค์กรธุรกิจ ได้รับผลกระทบหมด 

กสทช.ไม่ควรปล่อยให้มีการควบรวมกิจการไปแล้ว แล้วค่อยไปแก้ปัญหา ทางออกคือ กสทช. ควรรีบออกประกาศ เป็นกฎหมายลูก ให้กิจการโทรคมนาคม สามารถขายกิจการได้  แต่ขายให้ผู้ประกอบการรายใหม่ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีอยู่ในตลาด 

"กสทช ที่บอกว่า ไม่มีอำนาจในการพิจารณาการควบรวม แต่ถ้าการควบรวมเกิดขึ้น แล้วเกิดความเสียหายภายหลัง ก็จะเข้าไปกำกับดูแล เช่น กำกับดูแลด้านราคา ตัวอย่างนี้อธิบายได้ชัดเจนมากว่า หากผู้ประกอบการจำนวนลดลง ถ้าโครงสร้างตลาดมีปัญหาผูกขาดแล้ว หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช จะไปกำกับดูแลพฤติกรรม การกำหนดราคา เช่น สั่งให้ลดราคากี่ % ในทางปฏิบัติจะเกิดขึ้นยากมาก เพราะกสทช จะไม่มีข้อมูลที่ตามทันผู้ประกอบการ ต่อให้อยากกำกับดูแลจริงๆ นี่เป็นปัญหา ไม่ใช่ปล่อยให้ควบรวมไปก่อน แล้วไปแก้ปัญหาเอาดาบหน้า" 

ทั้งนี้ กสทช.ควรกลับไปพิจารณาข้อกฎหมายที่มีอยู่  ข่าวการควบรวมกิจการมีมานานแล้ว   แต่ควรศึกษาเตรียมข้อมูลให้พร้อมสำหรับกสทช.ชุดใหม่   ไม่ใช่รีบออกมาปฎิเสธว่ากำลังจะหมดวาระแล้ว  แล้วปล่อยให้ควบรวมกิจการไป แล้วค่อยมาแก้ปัญหาที่หลัง

"อย่าทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ทางตัน ถ้าต้องเหลือตลาดที่ไม่แข่งขัน การกำกับดูแลมันจะยากมาก วิธีที่ดีที่สุด ถ้าไม่มีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดการแข่งขันอยู่ได้ ก็ต้องรักษาการแข่งขันปัจจุบันให้คงอยู่ไว้ โดยไม่ยอมให้มีการควบรวม" ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าว