"พินซูก" อีคอมเมิร์ซฮาลาล ตอบโจทย์เทรนด์ "เนื้อ" มาแรง

"พินซูก" อีคอมเมิร์ซฮาลาล ตอบโจทย์เทรนด์ "เนื้อ" มาแรง

"พินซูก" ตลาดกลางซื้อขายสินค้า “ฮาลาล” ที่ครบวงจร ไอเดียจากสตาร์ทอัพปักษ์ใต้ โมเดลธุรกิจที่เริ่มต้นจากการมองเห็นโอกาสในตลาด ก่อนจะขยายสู่ร้านค้าจำหน่ายสินค้าฮาลาลที่ครอบคลุมกว่า 7 แห่ง ทั้งผุดบริการเดลิเวอรี่เสริมทัพ ตอบโจทย์ "สายเนื้อ" ที่แท้ทรูได้อย่างลงตัว

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซและอีมาร์เก็ตเพลสเติบโตต่อเนื่องทุกปี ล่าสุดมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3 แสนล้านบาท แต่ท่ามกลางสินค้ามากมายที่จำหน่ายในช่องทางออนไลน์นั้น ยังไม่มีตลาดกลางสำหรับซื้อขายสินค้า “ฮาลาล” ที่ครบวงจร จึงเป็นช่องว่างให้ “ชารีฟ เด่นสุมิตร” กรรมการผู้จัดการบริษัท แฮส ออเดอร์ จํากัด นำประสบการณ์ความรู้ด้านซอฟต์แวร์ มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ 

เราคือตลาดสินค้าฮาลาล

“หากต้องการจะทำเหมือนลาซาด้า อาลีบาบา จะต้องสร้างความแตกต่าง จึงเริ่มจากการทําเว็บไซต์พินซูก (Pinsouq) ซึ่งเกิดจากการรวมรากศัพท์คำว่า PIN ที่สื่อถึงการปักหมุดและ SOUQ มาจากภาษาอารบิกแปลว่า “ตลาด” จากนั้นจึงเข้าไปติดต่อเจ้าของสินค้า โดยพยายามหาคู่ค้าจากคนรู้จักก่อน เมื่อยอดขายเริ่มมีจึงเกิดการบอกต่อ จนในที่สุดแพลตฟอร์มพินซูกมีสินค้ารวมกว่า 1 แสนรายการ ร้านค้าในระบบกว่า 2 หมื่นร้าน” ชารีฟ กล่าว

แต่เมื่อดำเนินการได้สักระยะ เขามองเห็นว่า เริ่มมีตลาดที่ดีกว่ามาร์เก็ตเพลส และเล็งเห็นโอกาสในการเปิดหน้าร้าน จึงได้ขยายสู่การสร้าง “พินซูกสโตร์” ศูนย์กระจายสินค้าฮาลาลภาคใต้ โดยเน้นสินค้าแช่แข็งและอาหารแปรรูปเป็นหลัก จึงนับได้ว่าเป็นการขยายฐานบริการใหม่ในรูปแบบโกดังสินค้า โดยนำสินค้าของพาร์ทเนอร์มาสต็อกไว้ที่สาขา จากนั้นพินซูกจะทําหน้าที่บริหารจัดการและกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการร้านอาหาร 

รูปแบบนี้จึงเสมือนเป็นร้านค้าปลีก-ค้าส่ง ที่นำสินค้าออนไลน์สู่ออฟไลน์ เน้นสินค้าคุณภาพระดับกลางถึงบน อีกทางหนึ่งเป็นการลดต้นทุนให้กับพาร์ทเนอร์ที่ไม่ต้องลงทุนสร้างพื้นที่สต็อกเอง

“พินซูกเริ่มจากการสร้างมาร์เก็ตเพลส ซึ่งมีรายได้จากค่าคอมมิชชั่นเพียง 5% จากการขายสินค้าออนไลน์ถือว่าต่ำมาก เพราะค่าใช้จ่ายทางการตลาดสูงกว่า 10 เท่า เราจึงมองหาช่องทางการเติบโตที่ยั่งยืนมั่นคง ผ่านการนำสินค้าขายดีในช่องทางออนไลน์มาขยายโอกาสการขายให้ครบวงจรมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่ขายดีก็คือ “หมวดอาหาร” จึงจับหมวดนี้ให้กลายเป็นจุดขายของพินซูกสโตร์ในฐานะผู้จำหน่ายอาหารฮาลาลที่มีความหลากหลายมากที่สุดในตลาด”

ร้านเนื้อที่เข้าใจคนทานเนื้อ

เป้าหมายการเติบโตแบ่งเป็น 3 ระยะ ระยะสั้นพยายามสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมายมากที่สุด เพราะสาขาที่อยู่ในตัวเมืองแต่ละจังหวัดจะไม่ค่อยสร้างความสะดวกสบายให้กับผู้บริโภคนอกตัวเมือง อีกทั้งต้นทุนในการจัดส่งเป็นปัจจัยสำคัญ 

ดังนั้น แผนระยะสั้นจะขยายจุดจำหน่ายพินซูกสโตร์ 60% ในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น นครศรีธรรมราช สงขลา สตูล และกระบี่ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้สินค้าเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการเจ้าของสินค้าในท้องถิ่นจะได้มีโอกาสเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มมากขึ้นเช่นกัน

ส่วนแผนระยะกลาง บริษัทจะขยายไปในลูกค้า B2B ที่เป็นกลุ่มร้านอาหารและ โรงแรมมากขึ้น เพราะมองว่าจากนี้ไปจะมีกลุ่มลูกค้าหลัก 60-70% โดยให้บริการจัดส่งวัตถุดิบแบบรายวัน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสต็อกสินค้า และป้องกัน Dead Stock ให้กับพาร์ทเนอร์เจ้าของสินค้า

นอกจากนี้ยังมีแผนเพิ่มสัดส่วนลูกค้าปลายทางที่ใช้บริการดิลิเวอรี่ (B2C) โดยใช้กลยุทธ์ระบบสมาชิกที่มาซื้อหน้าร้าน เก็บข้อมูลเพื่อเชื่อมมายังอีคอมเมิร์ซ สะสมแต้ม เป็นส่วนลดในการซื้อสินค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ คาดว่าจะผลักดันสัดส่วนรายได้จากช่องทางออนไลน์เพิ่มเป็น 30-40% ภายใน 2 ปี

ส่วนแผนระยะยาว 5 ปี จะขยายสาขาให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และเมื่อยอดขายมีสเกลที่ใหญ่ขึ้นในระดับแนวหน้าของตลาดสินค้าฮาลาลก็จะขยายการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยพินซูกจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อและส่งออก และใช้การเป็นศูนย์กลางตลาดอาหารฮาลาล ที่มีสินค้าหลากหลายเป็นข้อได้เปรียบในการให้บริการแก่ผู้สั่งซื้อปลายทางแบบ One Stop Service

“แม้พินซูกจะถือกําเนิดขึ้นมาเพื่อให้พี่น้องชาวมุสลิมได้ใช้สินค้าฮาลาล แต่ความต้องการสินค้าฮาลาลไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะพี่น้องชาวมุสลิมเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงผู้บริโภคทั่วไปที่สนใจสินค้าที่มีความสะอาดปลอดภัยด้วยเช่นกัน”

ต้องรู้ใจก่อนลูกค้ารู้ตัว

ขณะที่จุดเด่นของพินซูกคือ 1.พนักงานทุกคนจะรู้ความต้องการของลูกค้า โดยให้ความสำคัญกับความต้องการรายบุคคล ผ่านการนำข้อมูลจากการบริโภคมาทำเป็น personalized marketing หรือ การตลาดแบบเฉพาะบุคคลเพื่อดูความต้องการของลูกค้า 

2.มาตรฐานฮาลาล ที่ทำให้พินซูกแตกต่างจากแพลตฟอร์มทั่วไปที่มีในตลาด ทั้งนี้ในตลาดไม่มีผู้เล่นในเซกเตอร์เดียวกัน แต่จะมีเพียงการจัดส่งวัตถุดิบในครัวเรือนและร้านอาหารที่เน้นให้บริการในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น

เมื่อถามถึงการดำเนินธุรกิจที่ทำให้พินซูกสเกลได้และเติบโตแบบยั่งยืนได้ ชารีฟ กล่าวว่า “เราเป็นสตาร์ทอัพที่ใช้กลยุทธ์ในการทำธุรกิจแบบเอสเอ็มอี โดยใช้หลักการโตไวเหมือนสตาร์ทอัพ และใช้หลักการนำบิซิเนสโมเดลที่สำเร็จในแต่ละที่มาทำซ้ำเพื่อขยายยอดขายให้โตไว้ที่สุด แต่ผลประกอบการจะต้องเป็น “กำไร” เหมือนเอสเอ็มอี”