"ทราโก้" จองตั๋วออนไลน์ มิติใหม่มัดใจนักเดินทาง

"ทราโก้" จองตั๋วออนไลน์ มิติใหม่มัดใจนักเดินทาง

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไทยเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักท่องเที่ยว ที่ต้องการเดินทางมาพักผ่อนและหาประสบการณ์ใหม่ๆดังนั้น "The Trago" จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการจองตั๋วออนไลน์ที่ครอบคลุมทุกเซกเตอร์

อย่างไรก็ตามประเทศไทยก็ยังมีกิจกรรมการท่องเที่ยวอีกมากมายที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก ขณะที่ผู้ประกอบการอาจจะขาดการทำตลาดและการบริหารจัดการที่ดี ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าถึงกิจกรรมหรือบริการต่าง ซึ่งรวมถึง “ระบบบริการการจอง” ที่เป็นของบริษัทต่างชาติ ดังนั้นการจอง การชำระเงิน ทำได้ค่อนข้างยาก จึงเป็นที่มาของ "ทราโก้" (The Trago)

ให้เรื่องเที่ยวเป็นเรื่องง่าย

สมเจตน์ ก่อแก้ว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทรเดนท์ มาสเตอร์ จำกัด จากเดิมประกอบกิจการด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ได้เล็งเห็นปัญหาและโอกาสที่ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประเทศและผู้ประกอบการไทย โดยพัฒนา “ระบบจองเรือ” ซึ่งใช้เวลาพัฒนาถึง 6 เดือน และใช้งานจริงได้ประมาณ 2 ปี โดยปี 2561 มีผู้ใช้บริการกว่า 2 หมื่นราย และบริษัทมีรายได้จากการขายตั๋วเรือในประเทศ 60-70 ล้านบาท

บริษัทจึงนำโมเดลของประเทศไทยขยายการเปิดให้บริการในประเทศสิงคโปร์ผ่านทางระบบออนไลน์ สร้างยอดขายได้ 10 ล้านบาทในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2562 ต่อมาได้ขยายขอบเขตการให้บริการสู่ประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนามและกัมพูชา ในการจองตั๋วเรือข้ามฟากที่มีเส้นทางสัมปทาน อย่างเช่น ปีนัง-ลังกาวี โดยทั้งหมดจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงกัน 

 

“ผมใช้ระยะเวลาทำตรงจุดนี้ประมาณ 4 ปี กระทั่งโควิดมาปะทะ กิจการจึงหยุดชะงัก เพราะทุกการเดินทางจะต้องล็อกดาวน์ ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น บริษัทจึงมีนโยบายเพิ่มการให้บริการที่ครบครัน โดยอาศัยประสบการณ์กว่า 10 ปีในธุรกิจท่องเที่ยว พัฒนาแพลตฟอร์มการจองบริการต่างๆ ในชื่อ “ทราโก้ (The Trago)” ที่จะอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้นักท่องเที่ยว” 

โมเดลธุรกิจของเดอะทราโก้จะเป็น B2B และ B2C รายได้มาจากการให้บริการกับนักท่องเที่ยว และจากส่วนต่างของราคาต้นทุนที่ได้จากพาร์ทเนอร์

ดึงเทคโนฯหนุนการตัดสินใจ

แพลตฟอร์มทราโก้จะมีเทคโนโลยีช่วยตัดสินใจวิธีการเดินทางของนักท่องเที่ยวแต่บุคคล ให้มีความเหมาะสมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการขนส่ง ทั้งยังสามารถช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางของผู้ใช้บริการแต่ละบุคคล เพื่อใช้เป็นข้อมูลวางแผนการดำเนินกิจการของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความน่าสนใจและความประทับใจให้กลุ่มผู้ใช้บริการ

ขณะเดียวกันแผนการพัฒนาระบบเพิ่มเติม อาทิ ระบบตัดเงินที่รองรับสกุลเงินได้หลากหลายขึ้น และด้านการตลาดที่ต้องการเป็นพาร์ทเนอร์กับเว็บไซต์ต่างประเทศ

สมเจตน์ กล่าวเสริมว่า สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทางบริษัทได้เตรียมรับมือโดยจัดแบ่งการทำงานของพนักงานเป็นกะ เพื่อรักษาสถานะการเงินของบริษัท อีกทั้งลดในส่วนของระบบการแสดงผลจาก 100% เหลือเพียง 20% ตามจำนวนของนักท่องเที่ยวที่ลดลง เพื่อช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายด้านโฆษณา

ท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวปี 66

ภาพรวมการแข่งขัน เขามองว่า ปัจจุบันมีผู้เล่นในตลาดน้อยลง เพราะผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ยกเลิกกิจการ เพราะตั้งรับไม่ทันต่อสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ทั้งยังมองว่าการท่องเที่ยวในประเทศจะฟื้นตัวในปี 2566

ในอนาคตจะมีการพัฒนาในรูปแบบแอพพลิเคชั่น และวางแผนที่จะขยายไปยังประเทศฝั่งยุโรป ด้านความท้าทาย เขามองว่า มีเพียงแค่สถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้ล่วงหน้า อย่างเช่น การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ขณะที่การทำธุรกิจนั้นจะยากเพียงแค่ช่วงเริ่มต้นเท่านั้น จึงถือได้ว่า “ทราโก้” เป็นบริษัทที่พัฒนาโดยคนไทย และให้บริการในประเทศไทย ด้วยการจองที่ง่าย ราคาเข้าถึงได้ และการให้บริการที่ครอบคลุมทุกเซกเตอร์

ทั้งนี้ เมื่อปี 2563 โครงการ “The Trago Queue : ระบบสำรองจองตั๋วรถโดยสาร” เป็น 1 ใน 3 ผู้ประกอบการที่ได้รับการสนับสนุนเงินทุนภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) จำนวน 6 ล้านกว่าบาทจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อส่งเสริมและขยายผลผลิตภัณฑ์/บริการนวัตกรรมในวงกว้างสำหรับประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้ใช้งานแพลตฟอร์มตอบสนองการใช้งานในชีวิตประจำวัน และภายใต้ชีวิต “ปกติวิถีใหม่ (New normal)”